เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 18

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 18 

อัลกุดเราะฮ์- القدرة ฤทธานุภาพของพระเจ้า

เตาฮีด [توحید] ตอนที่ 7 : ศิฟาต ซาตียะฮ์[الصِّفاتُ الذَّاتِيَّةِ]
 หัวข้อใหญ่ : เตาฮีด
 หัวข้อย่อยหนึ่ง : เตาฮีดศิฟาตีย์
 หัวข้อย่อยสอง : ศีฟาตซาตียะฮ์
 หัวข้อบทนี้ : ฤทธานุภาพของพระเจ้า
[เตาฮีด  เตาฮีดศีฟาตีย์  ศีฟาตซาตียะฮ์  อัลกุดเราะฮ์]
พระเจ้าคือใคร...? พระเจ้า คือ ผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด หมายความว่าพระองค์ทรงกระทำได้ทุกสิ่ง พระองค์ทรงสร้างทุกสิ่งในโลกนี้ และพระองค์ทรงครอบครองเหนือจักรวาล พระองค์ทรงมีฤทธานุภาพทั้งสิ้นในชั้นฟ้าและในแผ่นดินโลก พระองค์ทรงเลือกอย่างอิสระในการสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์  พระองค์ คือผู้ทรงสามารถทำทุกสิ่งได้ตามความพอพระทัย แต่การกระทำของพระองค์ก็จะสอดคล้องกับพระลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์เสมอ เช่น การกระทำของพระองค์จะสอดคล้องกับพระลักษณะ ”อัลฮะกีม-ผู้ทรงปรีชาญาณ“ ของพระองค์เสมอ
 ความหมายของ ”อัลกุดเราะฮ์ - القدرة“
“อัลกุดเราะฮ์” คือ ศิฟาต ซุบูตียะฮ์ และซาตียะฮ์ ของอัลลอฮ์ นั้นคือ อัลลอฮ์ผู้ทรงมีฤทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น ในโลกนี้ เกิดได้โดยปราศจากการอนุมัติจากพระองค์ พระองค์ทรงครอบครองอยู่เหนือทุกสิ่งอย่างแท้จริง
 ความหมายฤทธานุภาพของพระเจ้าในมุมมองของนักเทววิทยา
นักเทววิทยาอิสลามได้ให้คำจำกัดความของ “กุดรัต-ฤทธานุภาพ” ไว้ว่า 
«هُوَ ألَّذي يَصِّحُ مِنهُ الفِعل وَ التَّركُ مَعاً»
ผู้ทรงฤทธานุภาพคือ ผู้ที่สามารถ[มีอำนาจอิสระ-ชอบธรรม ที่จะ] ทำ หรือ ไม่ทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ในเวลาเดียวกันได้[หนังสือกัชฟุลมุรอด ของอัลลามะฮ์ ฮิลลีย์ หน้า 248]
หรือมุลลาฮ์ ศอดรอฮ์ ชีรอซีย์ ได้ให้นิยามไว้ว่า
اَلقَادِرُ مَن إِن شاءَ فَعَلَ وَ إن شاءَ تَرَک
ผู้ทรงอำนาจ คือผู้ที่สามารถทำ หรือไม่ทำ ก็ได้ 
ความว่า : ผู้ทรงฤทธานุภาพ[กอดีร - قادر] คือบุคคลผู้ที่มีอำนาจอย่างอิสระที่จะกระทำสิ่งหนึ่ง หรือ เลือกที่จะไม่ทำสิ่งนั้น ในเวลาเดียวกันได้ นั่นคือ ไม่มีใคร อำนาจใด หรือสิ่งใดสามารถสั่งให้เขาทำหรือไม่ทำ ได้
ดังนั้น อัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพ จึงหมายถึง “อิรอดะฮ์-เจตนารมณ์” ของพระองค์ หากพระองค์ปรารถนาสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นในทันที และหากพระองค์ไม่ปรารถนาสิ่งใดให้บังเกิด สิ่งนั้นก็ย่อมไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นได้เด็ดขาด โดยไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถยับยั้ง “อิรอดะฮ์-เจตนารมณ์” ของพระองค์ได้ 
กล่าวคือ ไม่มีอำนาจใดที่สามารถกดดันพระองค์ได้ เพราะฉะนั้นในบางครั้งการที่พระองค์ไม่ได้ทำในสิ่งๆหนึ่ง(ตามคำอธิษฐานและดุอาฮ์ของมัคลูก)สิ่งนั้น คือการแสดงออกถึงอำนาจที่แท้จริง(กุดดะรัต)ของพระองค์
พระเจ้าทรงตรัสถึงอำนาจของพระองค์ไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า :
لِلّهِ مُلْكُ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ وَمَا فِيهِنَّ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ ﴿120﴾
อาณาจักรแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและผืนแผ่นดิน อีกทั้งสรรพสิ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสองนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ พระองค์คือผู้ทรงฤทธานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง[อัลมาอิดะฮ์ อายะที่ 120]
وَإِن یَمْسَسْکَ اللّهُ بِضُرٍّ فَلاَ کَاشِفَ لَهُ إِلاَّ هُوَ وَإِن یُرِدْکَ بِخَیْرٍ فَلاَ رَآدَّ لِفَضْلِهِ یُصَیبُ بِهِ مَن یَشَاء مِنْ عِبَادِهِ 
หากอัลลอฮ์ทรงให้ภยันตรายมาสัมผัสกับเจ้า ก็จะไม่มีผู้ขจัดปัดเป่ามันได้นอกจากพระองค์ และหากพระองค์มีเจตนารมณ์ที่ดีต่อเจ้า ก็จะไม่มีผู้สกัดกั้นความเกื้อกูลของพระองค์ได้ พระองค์ทรงให้มันประสบกับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ [ซูเราะห์ยูนุส อายะที่ 107]
ท่านอิมามซอดิก อ. กล่าวว่า “อำนาจของอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงครอบครองเหนือ บรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความรู้ อำนาจ การปกครอง และเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่าง เท่าเทียมกัน”
 รู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้าทรงมีฤทธานุภาพเหนือสิ่งอื่นใด ?
ข้อพิสูจน์ที่หนึ่ง[1] ความน่าทึ่งของสิ่งถูกสร้างนำเราให้รู้จักฤทธานุภาพของผู้สร้าง
         ความอัศจรรย์และความน่าทึ่งของสรรพสิ่งต่างๆในโลก คุณลักษณะและรายละเอียดของสรรพสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของพระผู้สร้าง ความเป็นระบบระเบียบอันน่าทึ่งของสรรพสิ่งตั้งแต่อะตอมไปจนถึงกาเล็กซี โครงสร้างที่ละเอียดอ่อนของสรรพสิ่งที่มีชีวิตเช่นพืชสัตว์และมนุษย์และเซลล์ต่างๆที่มีความละเอียดอ่อนของมัน สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าพระผู้สร้างผู้ทรงอำนาจซึ่งเป็นอำนาจที่ไม่มีขอบเขตใดๆมาจำกัด
ข้อพิสูจน์ที่สอง[2] ใช้กฏ قاعده مُعطِی الشَّیء لا یَکُونُ فاقِداََ لَهُ [ผู้ให้ย่อมมีสิ่งที่ตนหยิบยื่นให้เสมอ]
หนึ่งในกฏของนักปรัชญา ก็คือ ”ผู้ให้สิ่งหนึ่ง เขาย่อมมีสิ่งนั้นเสมอ“ เช่น การที่เราจะให้เงินใครได้เราต้องมีเงินนั้นอยู่ในมือก่อนแล้ว และเช่นกันก่อนที่เราจะสอนสิ่งใดแก่ผู้อื่นเราต้องมีความรู้ในสิ่งนั้นก่อนเสมอ ครูที่จะสอนคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียน จำเป็นที่เขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก่อน ถ้าหากเขาไม่มีความรู้เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไปสอนบุคคลอื่น 
และดังที่ทุกคนทราบ ศีฟาตของพระเจ้า คือซาตของพระองค์ และหนึ่งในศีฟาตซาตียะฮ์ ของพระองค์ก็คือ “กุดเราะฮ์-ฤทธานุภาพ” และอำนาจนี้ พระองค์ก็เป็นผู้มอบให้แก่สรรพสิ่งทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ให้อำนาจแก่ผู้อื่น ผู้นั้นย่อมมีอำนาจอยู่ก่อนเสมอ
ฉะนั้น อัลลอฮ์คือผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งทั้งหลาย และมอบอำนาจของพระองค์ให้กับสรรพสิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปตากลไกที่พะองค์ทรงกำหนด  สิ่งนี้ย่อมพิสูจน์ได้ว่า พระองคือผู้ทรงฤทธานุภาพเหนือสิ่งอื่นใด และอำนาจของพระองค์ ก็ไร้ขีดจำกัด
 اللَّهُ الَّذِی خَلَقَ سَبْعَ سَمَاوَاتٍ وَمِنَ الْأَرْضِ مِثْلَهُنَّ یَتَنَزَّلُ الْأَمْرُ بَیْنَهُنَّ لِتَعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ عَلَى کُلِّ شَیْءٍ قَدِیرٌ وَأَنَّ اللَّهَ قَدْ أَحَاطَ بِکُلِّ شَیْءٍ عِلْمًا
อัลลอฮ์คือผู้สร้างเจ็ดชั้นฟ้าและผืนแผ่นดินเยี่ยงนั้น พระบัญชาได้ลงมาในระหว่างสิ่งเหล่านั้น เพื่อพวกเจ้าจะได้รู้ว่า อัลลอฮ์นั้นคือผู้ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง และแท้จริงความรอบรู้ของพระองค์ทรงแผ่ครอบทุกสรรพสิ่ง[ซูเราะห์ อัฏฏอลาก อายะที่ 12]
 ความต่างระหว่างอำนาจของพระเจ้ากับอำนาจของมนุษย์
หากถามว่าความแตกต่างระหว่าง ”กุดรัต-อำนาจ“ ของพระเจ้า กับอำนาจที่มีอยู่ในมนุษย์ หรือในสรรพสิ่งต่างกันอย่างไร ขอตอบเลยว่า ต่างกันมาก เช่น
▪️ ”กุดรัต-อำนาจ“ ของพระเจ้าไร้ขีดจำกัด แต่อำนาจที่มีอยู่ในมนุษย์มีขอบเขตของขีดความสามารถ
▪️ ”กุดรัต-อำนาจ“ ของพระเจ้ามีอยู่ในซาตของพระองค์เองตั้งแต่แรกกเริ่มและตลอดไปไม่สิ้นสุด แต่  “กุดรัต-อำนาจ” ที่มีอยู่ในมนุษย์เป็น “ซาอีดะฮ์-เพิ่มเติม” เข้ามาในมนุษย์ ไม่มีมาแต่เเรก และมีไม่จิรังยั่งยืน
▪️ ”กุดรัต-อำนาจ“ ของพระเจ้า ไม่ใช่การ “อิกติสาบีย์-ฝีกฝน” แต่มีในพระองค์เองโดยไม่ผ่านขบวนการฝึกฝนและเรียนรู้ ต่างจากมนุษย์ เช่นกำลังวังชาได้มาจากการกินอาหารดีมีประโยชน์และการออกกำลังกาย เป็นต้น
 ตอบข้อสงสัยในเรื่อง “กุดรัต-ฤทธานุภาพ” ของพระเจ้า
คำถามที่หนึ่ง[1]. หาก ”กุดรัต-ฤทธานุภาพ“ ของพระเจ้าคือสิ่งที่ไร้ขีดจำกัดแล้ว พระองค์สามารถทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้(มุมตะนิอ์)ให้เกิดขึ้น ได้หรือไม่ ? เช่น 
 ทำให้โลกทั้งใบเข้าไปอยู่ในไข่ไก่ โดยไม่ย่อโลกให้เล็กลง หรือขยายไข่ไก่ให้ใหญ่ขึ้น ? !! 
 ทำให้อูฐลอดรูเข็ม ได้ไหม ?!! 
 หรือให้พระองค์สร้างพระเจ้าอีกองค์ให้เหมือนพระองค์ทุกอย่าง ได้ไม่ ?!!
 คำตอบ.
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะตอบว่า “ได้” หรือ “ไม่ได้” ทั้งสองคำตอบก็จะนำมาซึ่งความบกพร่องต่อหลักความเชื่อในเรื่อง “กุดรัต-อำนาจ” อันไร้ขอบเขตของอัลลอฮ์ทั้งสิ้น
แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้อยากให้นักเรียนมาดูบทเกริ่นนำสักเล็กน้อยในเรื่องที่นิยาม หรือข้อจำกัดความของคำว่า “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” หรือที่รู้จักกันในชื่อ มุมตะนิฮ์(ممتنع) 
 นิยามของ “มุมตะนิอ์-สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” และประเภทของมัน
“มุมตะนิอ์“ คือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การรวมกันของสิ่งสองสิ่งที่ตรงข้ามกันเข้าด้วยกัน[รวมการคืนให้อยู่กับกลางวัน]เป็นต้น  เราเรียกสิ่งนี้ว่า ”มุมตะนิฮ์ - สิ่งเป็นไปไม่ได้“ และนักปรัชญาได้แบ่ง ”มุมตะนิอ์“ หรือ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไว้สามประเภท คือ
1. เป็นไปไม่ได้ เพราะตัวของมันเอง (ممتنع الوجود بالذات) เช่น อิจติมะฮ์ นะกิซัยน์ การรวมกลางคืนและกลางวันเข้าด้วยกันโดยให้อยู่ในเวลาและสถานที่เดียวกัน
2. เป็นไปไม่ได้เพราะขาดปัจจัยนอก(ممتنع الوجود بالغیر) เช่น อะดัม มะลูล ดูนัล อิลละฮ์ คือ ทำให้เกิด ”ผล“ แต่ห้ามมี ”เหตุ“ ทำให้บุตรของพวกเธอถือกำเนิดมา โดยที่เธอยังไม่ได้แตะต้องชายใด คิดว่าเป็นไปได้ไหม ?
3. เป็นไปไม่ได้เพราะปัจจัยตรงข้าม (ممتنع بالقیاس) เช่น มุตะฏอ อิฟัยน์ คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีชั้นบน โดยปราศจากชั้นล่าง 
 ต่อไปกลับมาที่คำถามข้างต้น และให้นักเรียนลองวิเคราะห์ดูว่า คำถามข้างต้นที่อยู่ในประเภทสิ่ง “เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิด” อยู่ในประเภทใดของ มุมตะนิฮ์ แล้วนักเรียนจะรู้ว่า “ความบกพร่อง“ อยู่ที่ตัวผู้ทำ หรืออยู่ที่ตัวสิ่งที่ให้ทำ ?!!
ความว่า สิ่งนั้นหากมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น มันไม่ได้อยู่ในความสามารถของพระองค์อัลลอฮ์ แต่เกิดจากตัวของสิ่งที่ให้ทำต่างหากที่บกพร่อง มันจึงไม่อยู่ภายใต้กรอบอำนาจของพระองค์  ซึ่งไม่ได้หมายความว่า อำนาจนั้นไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะความบกพร่องของความเป็นไปไม่ได้ นั้นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น
ท่านอิมามอะลี อ. ได้ตอบคำถามของผู้ที่ถามถึง การสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ มิได้ถูกประดับด้วยการไร้ความสามารถ แต่สิ่งที่ท่านถามฉันมัน เป็นไปไม่ได้”
قِيلَ لِأَمِيرِ الْمُؤْمِنِينَ علیه السلام هَلْ يَقْدِرُ رَبُّكَ أَنْ يُدْخِلَ الدُّنْيَا فِي بَيْضَةٍ مِنْ غَيْرِ أَنْ يُصَغِّرَ الدُّنْيَا أَوْ يُكَبِّرَ الْبَيْضَةَ قَالَ إِنَّ اللَّهَ تَبَارَكَ وَ تَعَالَى لَا يُنْسَبُ إِلَى الْعَجْزِ وَ الَّذِي سَأَلْتَنِي لَا يَكُون
รายงานจากท่านอิมามอะลี อ. ถึงคำถามของผู้ที่ถามท่านว่า “องค์อภิบาลของท่านสามารถนำโลกลงมาบรรจุในไข่ไก่โดยที่มิทำให้โลกเล็กลง และไข่ใหญ่ขึ้นเลย ได้ไหม ?  ท่านอิมาม อ. ได้ตอบต่อเขาว่า แท้ที่จริงพระองค์มิได้เป็นผู้ไร้ความสามารถ แต่ทว่าสิ่งที่เจ้าถามมานั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้

บทความโดย เชคอันศอร เหล็มปาน