เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 26

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 26 


อัล-ฮุสนุ วัน กุบฮุ  [ الحُسنُ و القُبحُ]
ภาคที่สาม : เชื่อในความยุติธรรมของพระเจ้า -[ العدل الإلهي ]
บทที่สาม : ความยุติธรรมของอัลลอฮ์[บทที่ 3]- ตอบข้อสงสัย 1. 
ข้อสงสัยที่ 1. ความดีและชั่ว รู้ได้ด้วยภูมิปัญญาหรือศาสนากำหนดอย่างเดียว ?!!
 الحُسنُ والقُبحُ هلْ هُما ذاتِيَّانِ أو شَرعِيَّانِ ؟!!  อัดล์-ความยุติธรรม แม้ว่าจะเป็นคุณลักษณะ- ศิฟาต หนึ่งของอัลลอฮ์ แต่ในหลักการศรัทธาแล้ว เนื่องจากความสำคัญของอัดล์ จึงได้แยกอธิบายไว้ต่างหาก และสาเหตุที่ ศิฟาต อัดล์ มีความสำคัญเนื่องจาก อัดล์  เป็นสาเหตุหลัก ของการแยกระหว่างหลักเทววิทยาของฝ่าย อัดลียะฮ์ - العَدلِيَّةِ [ชีอะฮ์และซุนนี่ห์สายมุอ์ตะซิละฮ์ ) ออกจากฝ่ายซุนนี่ห์สาย อะชาอิเราะฮ์
ศิฟาตหนึ่งถ้าพิสูจน์ว่ามีหรือไม่มี จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันและตรงข้ามกัน แน่นอน จำเป็นต้องกล่าวว่าฝ่ายซุนนี่ห์สาย อะชาอิเราะฮ์ ปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องความยุติธรรมของพระเจ้า ในแง่ที่ว่า ความยุติธรรม หมายถึง ทุกการกระทำของพระองค์ คือความเที่ยงธรรม และยุติธรรม ถึงแม้ว่าในแง่ของสติปัญญา สิ่งนั้นจะเป็นความอธรรมก็ตาม 
กล่าวคือ อะชาอิเราะฮ์ ได้ปฏิเสธความยุติธรรมของพระเจ้า ในแง่มุมที่ว่า ความยุติธรรมในหลักการของพวกเขา หมายถึงสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงกระทำ สติปัญญาไม่สามารถจำแนกสิ่งนั้นได้
ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ช่วงท้ายของศตวรรษที่หนึ่งและช่วงแรกของศตวรรษที่สองแห่งปีฮิจเราะฮ์ศักราช ปราชญ์ของโลกมุสลิมเริ่มวิพากษ์ และถกเถียงกันในหลักความเชื่อ โดยเฉพาะประเด็น ความยุติธรรมของอัลลอฮ์ เช่น ทุกการกระทำของอัลลอฮ์[ถึงแม้นว่าสติปัญญามองว่าไม่ดี]ให้ถือว่า นั่นคือ ความยุตธรรม หรือ ความดี ความชั่ว สามารถแยกแยะได้ด้วยกับสติปัญญา หรือ สิ่งนี้จะต้องกำหนดมาจากพระเจ้าก่อน เราจึงจะเข้าใจได้ ?!! กล่าวคือ สังคมมุสลิมเริ่มมีการถกเถียงบางปัญหาทางด้านหลักความเชื่อ
สิ่งนี้ทำให้ปราชญ์ของโลกมุสลิมแบ่งเป็นสองขั่วใหญ่ ๆ นั้นคือ 
หนึ่ง[1]. กลุ่มอัดลียะฮ์ - العَدلِيَّةِ นั่นคือ กลุ่มชีอะห์อิมามียะฮ์ และซุนนี่ห์สายมุฮ์ตะซิละฮ์  คือกลุ่มคนที่ปกป้อง ความยุติธรรมของอัลลอฮ์ และยึดเอา ความยุติธรรมของอัลลอฮ์ มาเป็นรากฐานของศาสนา 
สอง[2] กลุ่มซุนนี สายอะชาอิเราะฮ์ - الأَشاعِرَةِ  ยืนเป็นเส้นขนานกับกลุ่ม อัดลียะฮ์ กลุ่ม อะชาอิเราะฮ์ คือกลุ่มคนที่ปฏิบัติตามแนวคิดของ อบุลฮะซัน อัชอะรีย์[ฮ.ศ. 260-324] เป็นชาวเมืองบัศเราะฮ์ และเป็นศิษย์เอกของอบูอะลี ญะบาอีย์(สายมุอ์ตะซิละฮ์) แต่ต่อมาเขาได้แยกตัวออกไปจากอาจารย์ของตน และสถาปนาสำนักคิดด้านเทววิทยาขึ้นใหม่ สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เขาต้องแยกตัวไปจาก สำนักคิดมุอฺตะซิละฮฺคือ การวิภาษเรื่องความยุติธรรมของอัลลอฮ์ และอัลกุรอานเป็นสิ่งถูกสร้าง[ฮาดิษ]
 ความเชื่อที่ต่างกันระหว่างกลุ่ม อัดลียะฮ์ กับ อะชาอิเราะฮ์ ในประเด็น อัล-ฮุสนุ วัน กุบฮุ  [ الحُسنُ و القُبحُ] 
 กลุ่มอะชาอิเราะฮ์ เชื่อใน ฮุสนุ วัน กุบฮุ ชัรอีย์ ความดีความชั่วจะต้องถูกกำหนดโดยหนทาง ทางศาสนาเท่านั้น ที่กำหนดโดยพระองค์ กล่าวคือ มนุษย์ไม่สามารถรับรู้และแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี และยังเห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นความดีหรือความไม่ดี และอธิบายว่า  มนุษย์จะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าสอน และมีกรอบคิดเบื้องต้นว่า สิ่งที่พระองค์ใช้ให้ปฏิบัตินั้นคือสิ่งที่ดี และสิ่งที่พระองค์สั่งห้ามนั้นคือสิ่งที่ไม่ดี ถ้าปราศจากทัศนะของพระองค์กำกับเป็นบรรทัดฐานให้ก่อน  มนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีเลย 
فقالتِ الأَشاعِرةُ أّنَّ الحُسنَ والقُبحَ هُما أَمرانِ شَّرعِيَّانِ، فَالُحُسنُ هوَ مَا حَسَّنَهُ الشَّارِعُ والقَبِيحُ مَا قّبَّحَهُ الشَّارِعُ، فَلوْ أَدخلَ اللهُ(عَزَّ وَجَلَّ) نَبِيَّاً مِنَ الأَنبياءِ النَّارَ، وَهوَ لَمْ يَعْصِهِ طَرْفَةَ عينٍ أَبداً، فهَذا الفِعلُ مِنْهُ حَسَنٌ، أو اَدخَلَ جَباراً  قاتِلاً سَفَّاكاً لِلدماءِ الجَنَّةَ فهذا الفِعلُ لا قَبْحَ فِيهِ وهوَ حَسَنٌ، فلا يُوجَدُ إِدراكٌ ذاتيّ لِحُسْنِ الأَفعَالِ وقُبْحِهَا، بَلِ الحَسَنُ هوَ ما حَسَّنَةُ الشَّارِعُ والقبِيحُ مَا قبَحَهُ الشَّارِعُ. [أُنظُر المَواقِفَ، عَضُدِ الدِّينِ الأَيجيّ، ج3 ص 268]
ความว่า : ความดี และ ความชั่ว เป็นศาสนบัญญัติ ฉะนั้น ความดี คือ สิ่งที่พระเจ้ากำหนดมาเท่านั้น และเช่นกัน ความชั่ว ก็คือสิ่งที่พระองค์กำหนดมา และหากอัลลอฮ์ นำศาสดาท่านหนึ่งจากหมู่ศาสดาของพระองค์ โยนเข้าไฟนรก ซึ่งศาสดาผู้นี้ไม่เคยทำผิดต่อพระองค์เลยแม้เพียงชั่วขณะ การกระทำนี้ของพระองค์ก็ถือว่าเป็นสิ่งดีงาม [และนั่นคือความยุติธรรมของพระองค์-ถึงแม้สติปัญญาของมนุษย์จะมองว่านั้นคือการอธรรม ก็ตาม]หรือพระองค์ปล่อยให้จอมเผด็จการ ผู้หลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์เข้าสวรรค์ การกระทำนี้ของพระองค์ ไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจ แต่นั้นคือ ความดีงาม และความเที่ยงธรรมของพระองค์ เพราะ มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ความดีงามด้วยตัวเอง[สติปัญญา]ได้ แต่ทว่าความดีงาม หรือ ความชั่วร้าย คือสิ่งที่มาจากพระองค์เป็นผู้กำหนด
 กลุ่ม อัดลียะฮ์ -العَدْلِيةُ [الإِمامِيةُ والمُعتَزِلةُ] วิภาษแนวคิด อะชาอิเราะฮ์ ว่า ไม่อยู่กับร่องกับรอย  เพราะเชื่อว่า โดยามัญสำนึกของมนุษย์ บางครั้งเราสามารถแยกแยะ สิ่งดี ออกจากสิ่งไม่ดีได้ด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง ถึงแม้สิ่งนั้นพระเจ้าไม่ได้บอกเราก็ตาม  ตัวอย่างเช่น ชาวเมืองในประเทศปาเลสไตน์กำลังใช้ชีวิตกันอยู่อย่างสันติ  จู่ๆมีคนกลุ่มหนึ่งมาแย่งบ้านเรือนและแผ่นดินพวกเขาไป 
กรณีเช่นนี้ มนุษย์โดยทั่วไปสามารถ รู้ได้ไหมว่า การกระทำของคนกลุ่มนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่? แน่นอน มนุษย์สามารถรับรู้ได้ว่าการกระทำเช่นที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำไปนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี และเป็นการละเมิดผู้อื่นด้วย และกรณีเดียวกัน หากมีอีกบุคคลกลุ่มหนึ่งต้องการจะนำแผ่นดินกลับไปคืนให้ชาวปาเลสไตน์ มนุษย์ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นการกระทำที่ดี[นี้คือเหตุผลที่เราต่อต้านยิวไซออนิสต์ เพราะนี้คือสิ่งที่มโนธรรมของมนุษย์บอก]
อีกตัวอย่าง  หากบุคคลหนึ่งฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์การกระทำเช่นนี้ด้วยสามัญสำนึก มนุษย์ทุกคนรับรู้ได้ว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง และหากมีการจับฆาตกรมาลงโทษได้ มนุษย์ทุกคนก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีเหมาะสม ถูกต้องสมควร ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ สามัญสำนึกรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสอนของศาสนาใดมาสำทับอีก เพราะสามัญสำนึกและสติปัญญาของมนุษย์สามารถรับรู้และแยกแยะได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี 
อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่านถึงคำพูดของชาวนรกว่า ผลของการมาอยู่ในขุมนรกเป็นเพราะพวกเขาไม่ใช้สติปัญญาแยกแยะ พระองค์ตรัสว่า :
«وَ قَالُوا لَوْ کُنَّا نَسْمَعُ أَوْ نَعْقِلُ مَا کُنَّا فِی أَصْحَابِ السَّعِيرِ»
[ชาวนรก]พวกเขาพูดว่า หากพวกเราฟัง[ในสิ่งที่หัวใจกำลังตักเตือน]หรือใช้สติปัญญาพิจจารณา พวกเราก็คงไม่อยู่ในกลุ่มชาวนรกที่ลุกโชนหรอก[อัลมุลก์|10]
อายะฮ์นี้ได้ชี้ให้มนุษย์เห็นว่า ในบางครั้งแค่ใช้หัวใจและปัญญาก็จะรับรู้ได้ว่า “สิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งใดที่เป็นสิ่งชั่วร้าย” 
ฉะนั้น จากที่กล่าวมาทำให้เชื่อได้ว่า สิ่งที่ชาวอะชาอิเราะฮ์ กำลังนำเสนอ เป็นความเชื่อที่ทำให้ พวกเขาปฏิเสธ อัดล์ ความยุติธรรมของอัลลอฮ์ เพราะแน่นอนอัลลอฮ์จะไม่ทรงทำในสิ่งที่ น่ารังเกียจ อย่างแน่นอน เช่นตัวอย่างที่พวกเขานำเสนอว่า หากอัลลอฮ์จะนำ นบีที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ลงขุมนรก นั่นก็คือ ความดีงาม !!!! 
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ทำให้กลุ่ม อัดลียะฮ์ ต้องออกมาปกป้อง อะกีดะฮ์ที่ถูกต้องของอิสลาม และความเที่ยงธรรมของพระองค์ โดยพวกเขานำเสนอว่า :
ذَهَبَ العَدْلِيةُ (الإِمامِيةُ والمُعتَزِلةُ) أَنَّ لِلعقلِ قابِلِيَّةُ إدراكِ حُسْنِ وقُبْحِ الأَفعالِ، بِقَطعِ النَّظرِ عَنِ الشَّارِعِ، وبِلحَاظِ ذلكَ لا يُمكِنُ أنْ يُدخِلُ اللهُ (عَزَّ وَجَلَّ) نَبِيَّاً مِنْ أَنبيائِهِ النَّارَ أَو يُدخِلُ سَفَّاكاً قاتِلاً لَمْ يَتُبْ إلى الجَنّةِ؛ لأَنَّ هذا الفِعلَ قبيحٌ، والحكيمُ لا يَصْدِرُ القبيحُ مِنهُ.
ความว่า : สติปัญญาของมนุษย์สามารถรับรู้และแยกแยะ ความดี และ ความชั่ว ออกจากกันได้ ถึงแม้อัลลอฮ์ไม่บอกสิ่งนั้นไว้[ว่าดีหรือชั่ว]และย่อมเป็นไปไม่ได้เลยเด็ดขาดที่อัลลอฮ์จะนำนบีของพระองค์เข้าสู่ไฟนรกหรือนำคนชั่วช้า ฆ่าผู้บริสุทธิ์เข้าสู่สวรรค์ เพราะการกระทำดังกล่าวคือ ความน่ารังเกียจ และแน่นอนพระองค์ผู้ปรีชาญาณ ย่อมไม่กระทำในสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างแน่นอน
ทัศนะของชาวซุนนี่ห์อะชาอิเราะฮ์ จึงนำไปสู่ความเข้าใจผิดในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า จากคำอธิบายของพวกเขาที่ว่า เมื่อมนุษย์ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าอะไรคือความยุติธรรมและอะไรคือ ความไม่ยุติธรรม เพราะต้องรอให้พระเจ้าเป็นผู้บอกก่อนจึงจะตัดสินใจได้
 ตรรกะหลัก ก็คือ สิ่งใดก็ตามที่พระองค์สั่งปฏิบัตินั้นคือ สิ่งดี ยุติธรรม และตรงข้ามกัน สิ่งใดที่พระองค์ทรงห้าม ไม่เห็นด้วยสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และยังอธิบายเชื่อมโยงไปเรื่อง กอฎอ กอฎัร(การกำหนดสภาวะ) ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกำหนดของอัลลอฮ์ไว้แล้วที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 
กรอบคิดของพวกเขา คือ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นพระองค์ทรงอนุมัติให้บังเกิด หากแม้นพระองค์ไม่ทรงอนุมัติก็จะไม่มีสิ่งใดบังเกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าตรรกะเช่นนี้มันย้อนแย้งอยู่ในตัว  เพราะเท่ากับสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันย่อมผ่านการอนุมัติจากพระเจ้า อีกทั้งถูกนับรวมให้เป็นสิ่งที่ดีและยุติธรรมอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นกับมนุษย์ การมีอยู่ของ พวกฏอฆูต พวกทรราชผู้กดขี่ ฆาตกร เราจะอธิบายว่าเป็นการอนุมัติให้เกิดขึ้นโดยพระองค์กระนั้นหรือ? และทัศนะเช่นนี้ การอนุมัติให้บังเกิดถือว่า เป็นสิ่งที่ยุติธรรม เพราะถ้าไม่ยุติธรรมพระองค์ก็จะไม่อนุมัติให้มันบังเกิดขึ้น กระนั้นหรือ ?!! 
จะเห็นได้ว่า ทัศนะเช่นนี้ จะย้อนแย้งในตรรกะอย่างยากจะหาคำตอบ ที่สติปัญญาขั้นพื้นฐานจะรับได้ 
     ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์หนึ่ง เบื้องต้นที่เราได้อธิบายไปแล้วว่า ความดีความชั่วนั้นมันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติวิสัย  โดยมนุษย์สามารถที่จะรับรู้และจำแนกแยกแยะได้ด้วยสติปัญญา เพราะพระองค์จะส่งเสริมสนับสนุนให้กระทำแต่ความดีเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อเป็นความดีเท่านั้นที่พระองค์จึงจะสั่งใช้ให้ปฏิบัติ
 ดังนั้น ความอยุติธรรม การกดขี่ หรือ สิ่งที่ไม่ดี ที่เกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระเจ้า เพราะพระองค์จะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ แต่ที่มันมีอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง
 พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า : 
مَا أَصَابَكَ مِنْ حَسَنَةٍ فَمِنَ اللَّهِ ۖ وَمَا أَصَابَكَ مِنْ سَيِّئَةٍ فَمِنْ نَفْسِكَ ۚ 
สิ่งที่เป็นความดีงามทั้งหลายที่มาประสบกับเจ้า[มนุษย์]นั้น มาจากอัลลอฮ์ ส่วนความเลวร้ายที่ประสบกับเจ้านั้นเป็นผลมาจากการกระทำของตัวเจ้าเอง[อันนิซาอ์ อายะที่ 79]
 ข้อจำกัดบางประการของสติปัญญา
มนุษย์สามารถเข้าใจและแยกแยะผิดชอบชั่วดีในบางสิ่งได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคำสอนทางศาสนาจากพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด 
เราสามารถรับรู้ความดีของความยุติธรรม ,ความสัจจริง ,ความซื่อสัตย์ และสามารถรับรู้ความชั่วร้ายของการกดขี่และการล่วงละเมิดสิทธิผู้อื่นได้โดยปราศจากการชี้นำของ ศาสนบัญญัติ[ชาริอ์-شارع]
มนุษย์มิเพียงแต่จะทราบถึงความดีงามของความยุติธรรมหรือการขอบคุณผู้มีบุญคุณเท่านั้น หากแต่รู้สึกถึงแรงจูงใจให้ยึดปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน 
หรืออีกนัยหนื่ง สติปัญญามนุษย์ไม่เพียงแต่จะทราบถึงความดีงามของความยุติธรรมเท่านั้น หากแต่ทราบอีกเช่นกันว่ามนุษย์มีหน้าที่ต้องกระทำตามหลักความยุติธรรม
การเน้นย้ำถึงบทบาทอันสำคัญของสติปัญญาในการรู้จักผิดชอบชั่วดี ตลอดจนรับรู้หน้าที่ต่างๆ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงฐานะอันสูงส่งของสติปัญญาที่มีต่อชีวิตมนุษย์ บางริวายะฮ์ได้เปรียบสติปัญญาเป็น " ศาสดาภายในตัวมนุษย์"
إنَّ للَّهِ‏ِ عَلَى النّاسِ حُجَّتَينِ : حُجَّةً ظاهِرَةً ، وحُجَّةً باطِنَةً ، فأمّا الظّاهِرَةُ فَالرُّسُلُ والأنبِياءُ والأئمَّةُ عليهم السلام ، وأمّا الباطِنَةُ فَالعُقولُ
สำหรับมนุษย์อัลลอฮ์ได้มอบสองข้อพิสูจน์ ภายนอก และภายใน ข้อพิสูจน์ภายนอก คือ ศาสนทูตและบรรดานบี และบรรดาอิมาม ส่วนข้อพิสูจน์ภายใน[ศาสดาภายในตัวมนุษย์] คือ สติปัญญา
แต่กระนั้นก็ตาม การที่มนุษย์สามารถเข้าใจและแยกแยะผิดชอบชั่วดีในบางสิ่งได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งคำสอนทางศาสนาจากพระผู้เป็นเจ้า การยกย่องเหล่านี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าจะต้องไม่ทำให้เราหยุดคำนึงถึงขอบเขตและข้อจำกัดของสติปัญญา 
เพราะ การพิจารณาถึงขอบเขตของสติปัญญาเป็นรากฐานหลักของเหตุผลทางวิชากะลามเพื่อพิสูจน์ความจำเป็นต้องมีศาสนาคอยชี้นำและศาสดาที่ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า
 ข้อจำกัดบางประการของสติปัญญา 
หนึ่ง[1] : แม้สติปัญญาจะสามารถรับรู้ผิดชอบชั่วดีในเชิงหลักการโดยรวมก็ตาม ทว่าไม่สามารถชี้ชัดในทำนองเดียวกันนี้ในกรณีของการกระทำปลีกย่อยต่างๆได้เลย ( ซึ่งมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมาก) 
สติปัญญามักจะผิดพลาดในการวินิจฉัยสถานะของสิ่งปลีกย่อยเสมอ สติปัญญาของมนุษย์สามารถรับรู้ความดีของการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหน้าที่ของเขาที่จะต้องขอบคุณพระองค์ ทว่าไม่สามารถจะทราบได้เลยว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นการขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า สติปัญญาอาจจะทราบถึงความจำเป็นต้องให้เกียรติและเคารพสิทธิของผู้อื่น แต่ไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะถือเป็นการเคารพสิทธิผู้อื่น ซ้ำยังไม่ทราบอีกด้วยว่าอะไรคือสิทธิของผู้อื่นบ้างที่ตนจะต้องเคารพ ?
สอง[2] : แน่นอนว่าการรับรู้ผิดชอบชั่วดีโดยสติปัญญามีจุดประสงค์เพื่อให้มนุษย์ยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติสิ่งที่ดีและหลีกห่างสิ่งที่ไม่ดี ทั้งนี้ก็เพื่อประคองตนสู่ความผาสุกและความสมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การรับรู้ถึงความดีและการรู้จักหน้าที่ๆตนพึงปฏิบัติไม่สามารถผลักดันให้มนุษย์นำสู่การปฏิบัติได้โดยด้วยตัวของมันเอง และการรับรู้ถึงความชั่วและหน้าที่ๆพึงหลีกห่างก็ไม่สามารถเหนี่ยวรั้งมนุษย์ไม่ให้ปฏิบัติสิ่งดังกล่าวได้ด้วยตัวของมันเอง เหตุเพราะการกระทำที่มนุษย์สามารถเลือกปฏิบัติได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษย์โดยตรงนอกเหนือจากการรับรู้ชั่วดีและหน้าที่ต่างๆโดยสติปัญญา 
และระบบการตัดสินใจของมนุษย์ก็มักจะได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และความรู้สึกของเขาเสมอ ดังที่จะเห็นได้ทั่วไปเช่น บางคนทราบดีว่าการรับประทานอาหารของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาติเป็นสิ่งไม่ดี แต่ด้วยความหิวกระหาย เขากลับปล่อยให้ความต้องการของตนกุมบังเหียนการตัดสินใจแทนที่สติปัญญา.
บทบาทสำคัญของอารมณ์และความความรู้สึกที่อ่อนใหวของมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า "การควบคุมตนเองให้บรรลุถึงความสมบูรณ์แบบและชัยชนะสูงสุดมิได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาเพียงอย่างเดียว" ฉนั้นจึงต้องคิดหาวิธีการแปรสภาพความรู้สึกและอารมณ์มนุษย์ให้เป็นพาหนะของเขา โดยที่ไม่เป็นตัวสกัดกั้นการกระทำที่ดี ( อะมั้ลศอลิฮ์ ) ที่ถูกรับรองโดยสติปัญญาอีกต่อไป

บทความโดย เชคอันศอร เหล็มปาน