เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ตอนที่ 1)

2 ทัศนะต่างๆ 04.5 / 5

วิลายะตุลฟะกีฮ์ (ตอนที่ 1)

 

โดย ซัยยิดฮะซัน นัศรุลลอฮ์

 

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง คือ ผู้ทรงอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ (วะลียุลมุฏลัก) เหนือจักรวาลและสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งมวล
วะลียุลฟะกีฮ์ (ผู้ปกครอง ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศาสนาอิสลาม) นั้น  นอกจากจะมีคุณลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ทางด้านนิติศาสตร์ (ฟิกส์) และการอนุมานคำวินิจฉัยทางข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องเป็นผู้มีความยุติธรรม (อาดิล) เป็นผู้บรรลุศาสนภาวะ (บาลิฆ) เป็นผู้มีความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า (ตักวา)  และมีความสามารถ (กอดิร) อีกด้วย  และจะกล่าวอีกสำนวนหนึ่งที่ชัดเจนกว่า ก็คือว่าจะต้องมีความสามารถในการเป็นผู้นำ ผู้บังคับบัญชาที่มีความรอบคอบ และภูมิปัญญาในการบริหารจัดการสังคมได้  เมื่อมีการพูดถึงเกี่ยวกับ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” (อำนาจปกครองของผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศาสนาอิสลาม)   และ  “วะลียุลฟะกีฮ์” (ผู้ปกครอง ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศาสนา  อิสลาม) นั้น  จุดประสงค์ของมันก็คือว่า วะลียุลฟะกีฮ์นั้นจะต้องมีคุณลักษณะต่าง ๆ ตามที่กล่าวไปแล้ว  ผลสรุป ก็คือว่า ไม่ใช่ว่าฟะกีฮ์ (ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศาสนาอิสลาม) ทุกคนจะดำรงอยู่ในฐานะของวิลายะตุลฟะกีฮ์ได้  ยกเว้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการอนุมาน และการออกคำวินิจฉัยข้อบัญญัติต่าง ๆ ของศาสนาได้เท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ฟะกีฮ์ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์เพียงเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ในวิลายะฮ์ (อำนาจปกครอง)

“วิลายะฮ์” นั้น มีความหมายว่าอย่างไร?  ในช่วงเริ่มต้นนี้จำเป็นต้องอธิบายความหมาย ในทางภาษาของคำว่า วิยายะฮ์ เสียก่อน  เพื่อที่จะทำให้สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

คำว่า “วะลีย์” นั้น คือพระนามหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน   เช่นกัน  ตัวอย่างเช่น : บทอัชชูรอ โองการที่ 28  ความว่า “พระองค์ คือผู้ทรงคุ้มครอง อีกทั้งทรงได้รับการสรรเสริญ”

( คำว่าวะลีย์ในที่นี้ ) หมายถึง ผู้ให้การช่วยเหลือ และรับผิดชอบคุ้มครองเหนือกิจการงานทั้งมวลในจักรวาล และจุดประสงค์ของการนำคำนี้มากล่าวถึง ก็เพื่อเป้นการชี้ให้เห็นว่า ทั้งหมดเหล่านี้มีความหมายร่วมกัน และจุดประสงค์จากคำว่าจักวาลในที่นี้ คือโลกและชั้นฟ้าทั้งหลาย และพระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองดูแลเหนือสิ่งมีชีวิตและสิ่งถูกสร้างทั้งมวล

“วาลี” นั้น หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของสรรพสิ่งที่มีอยู่ทั้งมวล และมีสิทธิในการครอบครองเหนือสิ่งเหล่านั้น   ทั้งหมด  และในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งก็เช่นกัน ได้กล่าวเช่นนี้ว่า ผู้ใดก็ตามที่จะเป็นผู้มีอำนาจปกครอง    (วิลายะฮ์) ได้นั้น  เขาจะต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจ มีความสามารถ มีความรอบคอบในการบริหารจัดการ และมีวิทยปัญญา  และเช่นเดียวกันนี้เขาจะต้องมีอำนาจในการเลือกและตัดสินใจ  และผู้ใดก็ตามที่ไม่มีคุณลักษณะทั้งหมดนี้อย่างครบถ้วนในตัวเอง  เขาจะไม่ถูกเรียกว่า วาลี (ผู้ปกครอง)

“วิลายะฮ์” หมายถึง การมีอำนาจครอบครองเหนือทุกสรรพสิ่ง  และ “วะลีย์” นั้น คือบุคคลที่รับผิดชอบภารกิจหน้าที่หนึ่ง ๆ และอุตสาห์พยายามในการที่จะปฏิบัติมันให้ดีที่สุด  กล่าวคือ จะต้องสนองตอบความต้องการต่าง ๆ ของเขา (ผู้มอบหมายหน้าที่) ด้วยรูปแบบที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาถึงความหมายทางด้านภาษาของคำว่า “วิลายะฮ์” แล้ว สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ความหมายของคำว่า “วิลายะฮ์” นั้น มีความหมายบ่งชี้ถึงความใกล้ชิด การอยู่ร่วมเคียงและปฏิบัติตาม

ในอีกด้านหนึ่ง คำว่า “วะลีย์”  และ  “วิลายะฮ์” ในภาษาอาหรับนั้น หมายถึงการมีอำนาจครอบครองเหนือสิ่งหนึ่ง ๆ  อำนาจอธิปไตยและอำนาจการปกครองเหนือสิ่งนั้น สิทธิในการใช้สอยสิ่งนั้น การแบกรับความรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น และการให้ความช่วยเหลือต่อสิ่งนั้น  ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ คือความหมายของคำว่า “วะลีย์”  และ  “วิลายะฮ์”  โดยรวมแล้วหากเราต้องการให้คำจำกัดความคำว่า “วะลีย์” ย่อมหมายถึง บุคคลที่มีอำนาจการครอบครอง มีอำนาจในการใช้สอยสิ่งหนึ่ง ๆ มีความสามารถในการแบกรับภาระหน้าที่  และในทำนองเดียวกันนี้จะต้องเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ (นาซิร)

ศาสนาอิสลามเมื่อต้องการที่จะกล่าวถึงเกี่ยวกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ไม่เคยเรียกท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ) ด้วยชื่อ สุลต่านมุฮัมมัด (ศ็อลฯ)  หรือไม่เคยใช้คำว่ากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์นำหน้าชื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แม้แต่ครั้งเดียว  อิสลามจะไม่ใช้รูปค่ำที่บ่งบอกถึงสถานะและตำแหน่ง  เพราะว่ามันจะก่อให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบแก่ผู้ที่ได้ยิน จากรูปคำที่บ่งชี้ถึงสถานะและตำแหน่งนั้น  ดังนั้น คำว่า “วะลีย์” ที่ใช้ในคัมภีร์อัลกุรอาน  อย่างเช่นในโองการที่กล่าวว่า “อันที่จริงผู้ปกครองของพวกเจ้า คือ อัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์”  (อัลมาอิดะฮ์ : 55)

 

หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นวะลีย์ (ผู้ปกครอง) ของพวกเจ้า และท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) คือ “วะลียุลอัมริลมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม)  แต่คำว่า “วะลีย์”  และ  “เมาลา” นั้น คือสำนวนที่มีนัยบ่งชี้ในความรู้สึกนึกคิดของผู้ฟัง ถึงลักษณะหนึ่งของความใกล้ชิด ความเป็นผู้คุ้มครองดูแล และความเป็นมิตรภาพ  กล่าวคือ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) เป็นผู้มีอำนาจควบคุมเหนือพวกเขา และจะให้การชี้นำพวกเขา คุ้มครองดูแลพวกเขา และมีความรับผิดชอบต่อพวกเขา  แต่กษัตริย์หรือสุลต่านนั้น คือบุคคลซึ่งออกคำสั่งต่อพวกเขา คาดหวังจากพวกเขา และกระทั่งเป็นไปได้ว่า บางครั้งอาจจะกระทำในสิ่งที่เป็นการอธรรมต่อพวกเขา ฯลฯ เป็นต้น  และอีกส่วนหนึ่งจากกรณีต่าง ๆ ที่เรารับรู้ได้จากความลึกซึ้งของความหมายทางด้านภาษา ของคำว่า “วิลายะฮ์”  และ  “วะลีย์” นั่นคือว่า วะลียุลอัมริลมุสลิมีน (ผู้ปกครองกิจการของปวงมุสลิม) นั้น ประดุจดั่งผู้เป็นบิดาที่จะอุตส่าห์พยายามเพื่อสนองตอบสวัสดิการ และความสุขสบายของลูก ๆ ของตน คอยคุ้มครองดูแลพวกเขา ชี้นำสิ่งที่ดีงามแก่พวกเขา รับผิดชอบภาระหน้าที่ของพวกเขา และให้ความสนใจต่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ของพวกเขา

ก่อนที่เราจะพูดคุยถึงรายละเอียดของคำว่า “วิลายะฮ์” (อำนาจการปกครอง) มากไปกว่านี้ จำเป็นที่จะต้องของกล่าวก่อนว่า “วะลียุลมุฏลัก” (ผู้มีอำนาจปกครองอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์) เหนือจักรวาลและสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งมวลนั้น คือ อัลลอฮ์ ผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง  ทั้งนี้ เนื่องจากพระองค์ คือผู้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน  พระองค์คือผู้ทรงให้ชีวิตและความตาย  พระองค์ทรงเป็นต้นกำเนิดและแหล่งที่มาของสรรพสิ่งที่มีอยู่ทั้งมวล  พระองค์คือผู้ทรงประทานชีวิตและทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวง  พระองค์สามารถที่จะกระทำทุกสิ่งที่พระองค์ประสงค์  พระองค์เท่านั้นที่ทรงให้ชัยชนะและทรงช่วยเหลือสรรพสิ่งทั้งมวล  และพระองค์ทรงเดชานุภาพและทรงมีอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง  ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า พระผู้เป็นเจ้า คือ “วะลียุลมุฏลัก” (ผู้ทรงอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์)  กล่าวคือ มนุษย์นั้นภายหลังจากถูกสร้างขึ้นมา  เขาไม่มีอำนาจครอบครอง (วิลายะฮ์) แม้แต่ร่างกาย มือ ตา หู และชีวิตของตนเอง  แต่ผู้ที่มีอำนาจครอบครองอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ (วะลียุลมุฏลัก) ในสิ่งเหล่านี้นั้น คือ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงจำเริญ ผู้ทรงสูงส่ง เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประท่านอำนาจการครอบครอง (วิลายะฮ์) ของพระองค์ ให้แก่บรรดาผู้ที่พระองค์ประสงค์ ในขอบเขตที่พระองค์ทรงประสงค์
มนุษย์ทั้งหลายนั้นไม่มีอำนาจครอบครองในทรัพย์สินและลูกหลานของตนเอง หรือแม้แต่ตัวของเขาเอง  แต่ผู้ที่จะให้อำนาจการครองครอง (วิลายะฮ์) นั้น คือ พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงกรุณาปรานี โดยที่พระองค์จะทรงประทานอำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) ของพระองค์ให้แก่บรรดาผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ในขอบเขตที่พระองค์ทรงประสงค์  เมื่อพูดถึง “วิลายะตุลมุฏลัก” (อำนาจการปกครองแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์) ของพระผู้เป็นเจ้า  จุดประสงค์ก็คืออำนาจวิลายะฮ์ (การปกครอง หรือการครอบครอง) ที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จในทุกด้าน  การสร้าง และความตายของทุกสรรพสิ่งจะเกิดขึ้นได้ ด้วยกับการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ ถ้าหากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ที่จะให้มนุษย์ทั้งมวลตายลง พระองค์ก็สามารถกระทำได้

 พระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจปกครอง (วิลายะฮ์) เหนือมนุษย์เช่นเดียวกัน  อย่างการที่พระองค์จะทรงตรัสว่า  สิ่งนี้เป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล)  สิ่งนั้นเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม)  หรือพวกเจ้าจงทำสิ่งนี้และจงอย่าทำสิ่งนั้น  หรือหากพวกเจ้ารำลึกถึงข้า ข้าก็จะรำลึกถึงพวกเจ้า  และพระผู้เป็นเจ้านั้นทรงเดชานุภาพยิ่ง ที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง และพระองค์ทรงสามารถแม้แต่การที่จะทรงกระทำทุก ๆ สิ่งที่จินตนาการของเราคาดไม่ถึงได้อย่างง่ายดาย  ดังนั้น พระองค์ คือ วะลียุลมุฏลัก (ผู้ทรงอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์)

เมื่อบรรดานักวิชาการ (อุละมาอ์) พูดถึงวิลายะฮ์   พวกเขาจะแบ่งวิลายะฮ์ออกเป็น สอง ประเภท คือ วิลายะฮ์ตักวีนี (อำนาจการปกครอง การครอบครอง และการบริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ หรือโลกแห่งการสร้า)  และวิลายะตัชรีอี (อำนาจปกครองในด้านบทบัญญัติของศาสนา)

“วิลายะฮ์ตักวีนี” จะพูดถึงเกี่ยวกับสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งหลาย เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ต้นไม้ แผ่นดิน และอื่นๆ  พระผู้เป็นเจ้าทรงมี “วิลายะฮ์ตักวีนี” (อำนาจการปกครองและครอบครองเกี่ยวกับธรรมชาติ) แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์  กล่าวคือ พระองค์อาจจะทรงประทาน “วิลายะฮ์ตักวีนี” นี้ให้แก่บางคนเป็นการเฉพาะ  โดยที่พระองค์จะทรงประทานอำนาจให้แก่เขาผู้นั้นในการครอบครอง ควบคุม และบริหารจัดการเกี่ยวกับสิ่งดำรงอยู่ อันเป็นเรื่องธรรมชาติบางอย่าง  ตัวอย่างเช่น การที่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงประทาน “วิลายะฮ์ตักวีนี” ให้แกท่านศาสดาอีซา (อ.) บุตรของท่านหญิงมัรยัม จนกระทั่งสามารถชุบชีวิตให้แก่คนตายทั้งหลายได้  พลังอำนาจทางธรรมชาติ (วิลายะฮ์ตักวีนี) ขั้นต่ำที่สุดที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่มวลมนุษยชาติ ทั้งที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) และที่เป็นมุสลิมนั้น คือ พลังอำนาจในการที่จะสั่งอวัยวะร่างกายต่าง ๆ ของตนเอง  ตัวอย่างเช่น การที่คนเราต้องการที่จะลืมตา และมองดูสิ่งต่าง ๆ  ฯลฯ  ในทำนองเดียวกันนี้ พระองค์ได้ทรงประทานอำนาจในการควบคุมตนเองให้แก่มนุษย์  คือการที่เขาสามารถจะเป็นผู้ที่มีจริยธรรมที่งดงาม หรือจะเป็นผู้ที่มีมารยาทที่เลวทราม หรือจะเป็นคนที่มีความกล้าหาญ  และสิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึง “วิลายะฮ์ตักวีนี” ที่มนุษย์ทั้งหลายมีอยู่ในตัวเอง

มนุษย์เป็นตัวแทน (คอลีฟะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้าบนโลกนี้ ซึ่งจำเป็นที่เขาจะต้องพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่โลก  และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้ จำเป็นที่มนุษย์จะต้องมีอำนาจควบคุมการจัดการ และอำนาจการปกครองที่ถูกประทานให้จากพระผู้เป็นเจ้า  ตัวอย่างเช่น เมื่อเราต้องการที่จะทำการเพาะปลูก  เรามีอำนาจที่จะไถพรวนดินได้ หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างถนนหนทาง ก็สามารถที่จะพังทลายภูเขาทั้งหลายได้

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงทำให้มนุษย์มีอำนาจครอบครองและควบคุมร่างกายและจิตใจของตนเอง  เพราะพระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่จะเป็นคุณประโยชน์สำหรับมนุษย์  และพระองค์ได้ทรงประทานอำนาจบางอย่างให้แก่เขา เพื่อว่าโดยสื่อความสามารถและศักยภาพดังกล่าว จะทำให้เขาพัฒนาย่างก้าวไปสู่ระดับของความสมบูรณ์  และพระองค์ทรงประทานเนี๊ยะมัต (ความโปรดปราน) และปัจจัยอำนวยสุขที่หลากหลายให้อยู่ในอำนาจใช้สอยของเขา  เพื่อที่เขาจะได้ใช้สอยประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์สูงสุด เพื่อให้เขาสามารถไปถึงเป้าหมายของตน คือการเข้าใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) และความสมบูรณืได้อย่างสำเร็จ  และทั้งหมดเหล่านี้คือ ระดับหนึ่งของ “วิลายะฮ์” (อำนาจการปกครอง หรือการครอบครอง) ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์

บรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือ เคารพภักดี (แลยอมมอบตนเป็นบ่าวอย่างแท้จริง) ต่อพระองค์ และหลีกเลี่ยงจากความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนพระองค์  แน่นอนยิ่งว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานอำนาจการครอบครอง และอำนาจการปกครองในลักษณะหนึ่งให้แก่พวกเขา  ตัวอย่างเช่น บรรดาผู้ที่สามารถวางนิ้วมือลงบนหินและทำให้น้ำไหลออกมาจากมัน  หรือเหมือนดั่งท่านศาสดาอีซา (อ.) ที่ทำให้คนตายฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้  แน่นอนยิ่งว่าท่านศาสดาอีซา (อ.) น้้น ไม่สามารถที่จะทำให้คนตายฟื้นคืนชีพได้ เว้นแต่ภายหลังจากที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาแก่ท่าน  และทรงประทานพลังความสามารถนี้ให้แก่ท่านแล้ว

ในความเป็นจริงแล้ว พลังอำนาจนี้เป็นของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงทำให้คนตายฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่  หากแต่ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกรุณาต่อท่านศาสดาอีซา (อ.)  และทรงประทาน “วิลายะฮ์” (อำนาจครอบครอง) ให้แก่ท่าน จนสามารถกระทำสิ่งนี้ได้  และเมื่อมีการกล่าวถึงเกี่ยวกับ “วิลายะตุลฟะกีฮ์” นั้น จุดประสงค์ของมันไม่เกี่ยวกับ “วิลายะฮ์ตักวีนี”

“วิลายะฮ์ตักวีนี” (อำนาจการครอบครองธรรมชาติ) นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ทั้งหลาย

ท่านอิมามโคมัยนี้ (ร.ฮ.)  ได้อธิบายทัศนะของท่านไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ “อัลฮุกูมะตุลอิสลามียะฮ์”  (รัฐอิสลาม)  โดยท่านได้กล่าวว่า “วิลายะฮ์ตักวีนี” (อำนาจการครอบครอง) นั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ทั้งหลาย  กล่าวคือ เป็นไปได้ว่าบางคนอาจจะไม่ใช่ “วะลียุลฟะกีฮ์”  แต่ก็มีฐานะตำแหน่งทางด้านจิตวิญญาณอันสูงส่ง  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้จากพระผู้เป็นเจ้า โดยพระองค์จะทรงมอบ “วิลายะฮ์ตักวีนี” (อำนาจการครอบครองและควบคุมธรรมชาติ) ในระดับหนึ่งให้แก่เขา  แต่เมื่อเราพูดถึง “วิลายะตุลฟะกีฮ์” (อำนาจการปกครองของปราชญ์ทางด้านศาสนา) นั้น จุดประสงค์ของคำว่า “วะลียุลฟะกีฮ์” (ผู้ปกครองผู้เป็นปราชญ์ทางด้านศาสนา) นั้น มิใช่ว่ามีสภานภาพทางด้านจิตวิญญาณเหมือนกับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) หรืออยู่ในระดับของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.)  ส่วนที่สอง คือ “วิลายะฮ์ตัชรีอี”  พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานสองตำแหน่งให้แก่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)  ตำแหน่งแรก คือ การประกาศบทบัญญัติและคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า  และท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะอธิบายสิ่งเหล่านั้นให้เราได้รับรู้  ตัวอย่างเช่น สวรรค์และนรกเป็นอย่างไร?  เราจะปฏิบัตินมาซอย่างไร?  เราจะทำการปฏิสัมพันธ์และค้าขายแลกเปลี่ยนกันอย่างไร?  เราจะแต่งงานอย่างไร?  ทั้งหมดนี้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะนำเสนอและอธบายแก่เราไว้  และในคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ในเรื่องนี้ว่า :

“และเราได้ประทานข้อตักเตือน (คัมภีร์อัลกุรอาน) ลงมายังเจ้า  เพื่อที่เจ้าจะได้สาธยายแก่มนุษย์ในสิ่งที่ถูกประทานลงมายังพวกเขา  และหวังว่าพวกเขาจะได้ใคร่ครวญ”  (บทอันนะห์ลุ : 44)

ภายหลังจาการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตำแหน่งหน้าที่นี้อยู่ในความรับผิดชอบของบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.)

ส่วนตำแหน่งที่สอง  คือ การดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติทางศาสนา  กล่าวคือ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มิได้มาเพื่อประกาศบทบัญญัติและคำสอนต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น  แต่ท่านได้ถูกส่งมาเพื่อรับผิดชอบดำเนินการสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริง  หน้าที่และตำแหน่งที่สองนี้ หมายถึงการดำเนินการตามบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นรูปธรรมนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้  นอกจากภายใต้ร่มเงาของอำนาจและการมีรัฐปกครองเพียงเท่านั้น  กล่าวคือ ในกรณีท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) จะปรากฏตนในบทบาทของผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้ดำเนินบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า  คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า  “แท้จริงเราได้ประทานคัมภีร์ลงมาด้วยสัจธรรม เพื่อเจ้าจะได้ตัดสินในระหว่างมนุษย์ไปตามสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงแสดงให้เจ้าเห็น  และเจ้าอย่าเป็นผู้โต้แย้ง (แก้ข้กล่าวหา) แทนบรรดาผู้บิดพลิ้ว”  (บทอันนิสาอ์ : 105)

กล่าวคือ พระผู้เป็นเจ้ามิได้ประทานคัมภีร์อัลกุรอานลงมาเพื่อประกาศให้มนุษย์รับรู้เพียงแค่นั้น  แต่ทว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) จะต้องทำหน้าที่ตัดสินต่อประชาชนโดยอาศัยคัมภีร์นั้น  เพื่อให้สอดคล้องต่อบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า  และผู้ใดก็ตามที่ไม่ทำการตัดสินชี้ขาดไปตามบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว  เขาเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร)  พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสต่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า : เจ้าคือผู้ปกครองและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ  ดังนั้น จงดำเนินการตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า,  ในทำนองเดียวกันกับที่ได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวกับเรื่อง “วิลายะฮ์ตักวีนี” ที่ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานส่วนหนึ่งของ “วิลายะฮ์ตักวีนี” (อำนาจการครอบครองและการควบคุมธรรมชาติ) ให้แก่มนุษย์บางคน  และ “วิลายะฮ์ตัชรีอี” (อำนาจในการปฏิบัติ หรือการออกคำสั่งให้เป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนา) ก็เช่นเดียวกัน  พระองค์จะทรงประทานมันให้แก่มนุษย์บางคน  ส่วนหนึ่งจาก “วิลายะฮ์ตัชรีอี” ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานให้แก่มนุษย์ คือ วิลายะฮ์ตัชรีอีของบรรดาบิดาที่มีเหนือลูก ๆ ของตนเอง  ตัวอย่างเช่น จำเป็นที่จะต้องส่งพวกเขาไปโรงเรียน อบรมสั่งสอนจริยธรรมที่ดีงามให้แก่พวกเขา  และเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ที่จะต้องให้ความสำคัญ และเอาใจใส่อย่างยิ่งยวด ในการให้การศึกษาและการอบรมขัดเกลาแก่พวกเขา  หรือวิลายะฮ์ (อำนาจปกครอง) ของปู่ที่มีเหนือหลาน ๆ ของตน ในกรณีที่บิดาของพวกเขาได้ตายไป  หรือวิลายะฮ์ (อำนาจปกครอ) ของบิดาที่มีเหนือบุตรีก่อนการสมรส  ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็เพื่อประโยชน์ของมนุษย์ทั้งสิ้น  หรืออำนาจในการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งก็เป็นประเภทหนึ่งของ “วิลายะฮ์ตัชรีอี”

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงประทาน “วิลายะฮ์ตัชรีอี” ให้แก่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)  และไม่มีข้อถกเถียงใด ๆ ทั้งสิ้นในหมู่ชาวมุสลิม ที่ว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คือผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม (วะลียุอัมริลมุสลิมีน)  เป็นผู้นำ (อิมาม)  และเป็นนายเหนือหัวของประชาชน ฯลฯ  คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า  “ศาสดานั้นย่อมเป็นผู้มีอำนาจปกครองต่อมวลผู้ศรัทธา ยิ่งกว่าตัวของพวกเขาเองเสียอีก”  (บทอัลอะห์ซาบ : 6)

และยังมีโอการและหลักฐานอื่น ๆ อีกเช่นกันที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวมุสลิมจำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม (ฏออัต) ต่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) อย่างสมบูรณ์ในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยใด ๆ ในกรณีนี้

แต่ภายหลังจากการตาย (วะฟาต) ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ความขัดแย้งต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นในหมู่ชาวมุสลิม  แต่กระนั้นก็ตามทั้งหมดของพวกเขาต่างยอมรับว่า จำเป็นจะต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามและสนับสนุน “วะลียุอัมริลมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) ภายหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) อย่างสมบูรณ์  ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า  “พวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังศาสนทูตและผู้ปกครองกิจการงานจากพวกเจ้า”  (บทอันนิสาอ์ : 59)

นับเป็นสิ่งชัดเจนยิ่งว่า จำเป็นที่วะลียุลอัมร์ (ผู้ปกครองกิจการงาน) นั้น จะต้องได้รับการเชื่อฟังและการปฏิบัติตาม  บรรดามุสลิมมมีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับกรณีที่ว่า “วะลียุอัมริมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) นั้นเป็นใคร?  วะลียุลอัมร์ (ผู้ปกครองกิจการงาน) นั้นควรจะต้องอยู่ในสถานะที่ได้รับการเชื่อฟังคำสั่งจากประชาชน ไม่ใช่ว่าเขาออกคำสั่งใด ๆ ไปแล้ว แต่กลับไม่มีผู้ใดนำคำสั่งของเขาไปดำเนินการให้เป็นจริง

ชาวมุสลิมที่เป็นชีอะฮ์นั้น โดยการอนุมัติและโดยพระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซ.บ.)  พวกเขาได้ประกาศว่า “วะลียุอัมริมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) มิใช่ใครอื่น นอกจากท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ.) และลูกหลานผู้บริสุทธิ์ของท่าน กล่าวคือ อิมามสิบสองท่าน เป็น “วะลียุอัมริมุสลิมีน” (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม) ภายหลังจากการตาย (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ)  และด้วยกับความเชื่อในสองตำแหน่งและภารกิจหน้าที่ของท่านศาสนทูต (ศ็อลฯ)  อันได้แก่การประกาศบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า และการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น  พวกเขาเชื่อว่าท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ (อ.) คือ วะลียุอัมริลมุสลิมีน (ผู้ปกครองกิจการงานของปวงมุสลิม)  และในทัศนะของชีอะฮ์ วะลียุอัมริลมุสลิมีน นั้น มีหน้าที่ดำเนินการตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นรูปธรรม  และภายหลังจากท่านอิมามอะลี (อ.) ก็เป็นท่านอิมามฮะซัน (อ.) และต่อจากนั้นก็เป็นท่านอิมามฮุเซน (อ.) และท่านต่อ ๆ มาจนกระทั่งถึงท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)

ดังนั้น จวบจนถึงยุคสมัยของอิมามฮะซันอัสกะรีย์ (อ.) นั้น ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ทว่าภายหลังจากการเป็นชะฮีดของอิมามฮะซันอัสการีย์ (อ.) แล้วนััน  ยุคแห่งการเร้นกายระยะสั้น (ฆ็อยบะฮ์ ซุฆรอ) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ได้มาถึง  และท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) มีตัวแทนสี่ท่าน (เนาวาบุลอัรบะอะฮ์)  คนแรก มีนามว่า “อุษมาน บิน ซะอีด อัมรี”  ซึ่งถ้าหากชาวมุสลิมมีปัญหาใด ๆ ก็จะไปหาตัวแทน (นาอิบ) เหล่านี้ของท่านอิมาม (อ.) เพื่อให้ช่วยเยียวยาแก้ไขปัญหาของพวกเขา  ทั้งนี้ เนื่องจากท่านอุษมาน บิน ซะอีด อัมรี (และนาอิบ อีกสามท่าน) นั้นมีการติดต่อสัมพันธ์อยู่กับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.)  และจะขอความช่วยเหลือจากท่านอีกต่อหนึ่ง  แต่ด้วยกับการเริ่มต้นของยุคแห่งการเร้นกายระยะยาวนาน (ฆ็อยบะฮ์ กุบรอ)  ปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยเช่นกัน  วะลียุลฟะกีฮ์ คือ ตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอิมาม (อ.)

ท่านซัยยิดฮะซัน นัศรุลลอฮ์   ได้กล่าวว่า : วะลียุลฟะกีฮ์ คือตัวแทนของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอิมาม (อ.)  ถ้าหกาการเข้าถึงอิมาม (อ.) ไม่อาจจะกระทำได้แล้ว จำเป้นต้องไปหาวะลียุลฟะกีฮ์  และกรณีดังกล่าวนี้ คือหลักการที่เป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งในช่วงเวลาแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) และในช่วงเวลาที่ท่านอิมาม (อ.) ปรากฏตัว (ฮุฎูร) อยู่ในสังคม

(โปรดติดตาม ตอนที่ 2)

ที่มา : เอกสารประกอบงานประชุมสัมมนา “การปกครองในมุมมองของอิสลาม”  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2554

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม