โองการที่ 263 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 263 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
قَوْلٌ مَّعْرُوفٌ وَمَغْفِرَةٌ خَيْرٌ مِّن صَدَقَةٍ يَتْبَعُهَآ أَذًى وَاللّهُ غَنِيٌّ حَلِيمٌ (263)
ความหมาย
263. วาจาที่ไพเราะ (ต่อหน้าผู้ขัดสน) และการให้อภัย (เพื่อความสุขของพวกเขา) ดีกว่าการบริจาคทานที่ตามด้วยการเราะราน และอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงขันติ
คำอธิบาย การประพฤติดีกับบุคคลอื่นดีกว่าการบริจาคด้วยการเราะราน
โองการเน้นย้ำว่า วาจาที่ไพเราะ การยอมรับ การอภัย ดีกว่าการบริจาคทานที่ตามด้วยการกลั่นแกล้งเราะราน และสร้างความเสียใจแก่บุคคลอื่น การบริจาคที่เคียงคู่กับการเราะรานเป็นการทำลายคุณค่าของการบริจาค ซึ่งวาจาที่ไพเราะสร้างความสุขใจแก่คนจน อันเป็นสาเหตุทำให้พวกเขามีความสุข การอภัย และการอะลุ่มอล่วย แก่คนยากจนดีกว่าการบริจาคที่เราะรานมากมาย
บางครั้งตนไม่มี แต่คนจนต้องการความช่วยเหลือด้านทรัพย์สินจากตน ซึ่งตนได้บอกปฏิเสธด้วยมารยาทที่ดีงาม ซึ่งมิได้ทำให้เขาเสียใจแต่อย่างใด แน่นอนมารยาทที่ดีเช่นดี ย่อมดีกว่าการบริจาคที่ตามด้วยการเราะราน โองการต้องการเน้นการสร้างคุณค่าทางสังคม การสร้างบุคลิกภาพที่ดีงาม และการให้เกียรติคนอื่นไม่บุคคลนั้นจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม ตลอดจนการห้ามปรามไม่ให้เป็นคนปากไว พูดจาหยาบคาย หรือพูดจาเสียดสี ดูถูก หรือเราะรานผู้อื่น ซึ่งตามความเป็นจริงการบริจาดด้วยความเราะราน เป็นการสร้างความเสียหายแก่ตนเองมากว่าการสร้างประโยชน์
สุดท้ายโองการกล่าวถึงคุณลักษณะสำคัญ 2 ประการของพระเจ้ากล่าวคือ อัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงขันติ หมายถึง ถ้าสูเจ้าบริจาคพระองค์จะเป็นผู้ตอบแทนรางวัลแก่สูเจ้า มิใช่ว่าพระองค์ทรงต้องการการบริจาคของสูเจ้า พระองค์ทรงปราศจากความต้องการทั้งปวง และบางครั้งสูเจ้าอาจบริจาคด้วยการเราะราน พระองค์จะไม่ลงโทษสูเจ้าอย่างเฉียบพลัน แต่จะอดทนรอจนกว่าสูเจ้าจะเปลี่ยนแปลง
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวถึงมารยาทของการบริจาคว่า เมื่อคนจนต้องการบางสิ่งจากสูเจ้า จงอย่าตัดคำพูดของเขา ปล่อยให้เขาบอกความต้องการของเขาจนจบ หลังจากนั้นสูเจ้าจงตอบเขาด้วยมารยาทที่ดีงาม หรือถ้าสามารถช่วยเขาได้ก็จงช่วยเขา หรือบอกผ่านด้วยมารยาทที่ดี เพราะ คนขอทานนั้น อาจเป็นมลาอิกะฮฺลงมาทดสอบสูเจ้าก็ได้ เพื่อทดลองว่าสูเจ้าจะปฏิบัติอย่างไร กับความโปรดปรานที่พระเจ้าทรงประทานให้มา