เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการที่ 267 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการที่ 267 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ أَنفِقُواْ مِن طَيِّبَاتِ مَا كَسَبْتُمْ وَمِمَّا أَخْرَجْنَا لَكُم مِّنَ الأَرْضِ وَلاَ تَيَمَّمُواْ الْخَبِيثَ مِنْهُ تُنفِقُونَ وَلَسْتُم بِآخِذِيهِ إِلاَّ أَن تُغْمِضُواْ فِيهِ وَاعْلَمُواْ أَنَّ اللّهَ غَنِيٌّ حَمِيدٌ (267)

ความหมาย

267. โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงบริจาคสิ่งที่ดีทั้งหลายที่สูเจ้าได้ขวนขวายได้ (จากการทำการค้า) และจากที่เราได้งอกจากพื้นดินสำหรับสูเจ้า (แร่ธาตุ ต้นไม้ พืชพันธุ์ต่าง ๆ) และจงอย่ามุ่งเอาสิ่งไม่ดีมาบริจาค ทั้ง ๆ ที่สูเจ้า (เมื่อจะรับสิ่งนั้น) ไม่พร้อมที่จะรับมัน เว้นเสียแต่สูเจ้าจะอะลุ่มอล่วย และจงรู้ไว้เถิดว่า อัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ

สาเหตุของการประทานโองการ

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า โองการข้างต้นประทานให้กับชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รายส่วนใหญ่ได้มาจากการกินดอกเบี้ยตั้งแต่ในยุคโฉด และนำเอาทรัพย์ส่วนนั้นมาบริจาค พระเจ้าจึงลงวะฮฺยูลงมาเพื่อสั่งห้ามพวกเขามิให้ปฏิบัติเช่นนั้น พร้อมกับกำชับพวกเขาว่าจงบริจาคเฉพาะสิ่งที่ดี สะอาดบริสุทธิ์ในหนทางของพระเจ้า

คำอธิบาย ควรบริจาคทรัพย์สินประเภทใด

โองการข้างต้นเป็นโองการที่ 6 ที่กล่าวถึงเรื่องการบริจาค ซึ่งแนะนำว่าควรจะบริจาคทรัพย์สินอย่างไร และทรัพย์สินประเภทใดที่ควรนำมาบริจาค โองการกล่าวถึงประเด็นสำคัญว่ามนุษย์ต้องบริจาคทรัพย์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ตนยอมรับและรักสิ่งนั้น ซึ่งอัลกุรอานเรียกว่า ฏ็อยยิบ คำ ๆ นี้มีความหมายรวมถึงสิ่งที่สะอาด และสิ่งที่ดีภายนอกของทรัพย์สินทั้งหลาย และรวมไปถึงสิ่งอนุมัติด้วย การบริจาคควรบริจาคสิ่งดีที่เราขวนขวายมาได้

ตรงนี้จะเห็นว่ามีทรัพย์ 2 ประเภทที่มนุษย์ขวนขวายมาได้ และจำเป็นต้องบริจาคสิ่งเหล่านั้นออกไป ประเภทแรกคือ ทรัพย์ที่ได้รับจากการค้าขาย ประเภทที่สอง ทรัพย์ที่ได้รับจากพื้นดิน เช่น แร่ธาตุ พืชผลเกษตรกรรมที่พระเจ้าให้งอกจากพื้นดิน

อัลกุรอาน เน้นว่ามนุษย์ควรบริจาคเฉพาะสิ่งที่ดีเท่านั้น ฏ็อยยิบ ต้องไม่มีความคิดว่าตนจะบริจาคทรัพย์ที่ไม่มีค่า ทรัพย์ที่ตนไม่ต้องการ ไม่ชอบ หรือบริจาคทรัพย์ที่ได้รับมาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งอัลกุรอานเรียกว่า เคาะบีซ สิ่งไม่ดีอาจเป็นเพราะว่าไม่มีค่า หรือไม่เป็นที่ยอมรับ หรือได้รับมาอย่างไม่ถูกต้องด้วยวิธีฮะรอม (ไม่อนุมัติ) ฉะนั้น ทรัพย์สินประเภทนี้ต้องไม่นำมาบริจาคให้บุคคลอื่น

อัลกุรอาน ยังเน้นอีกว่า ถ้าบุคคลอื่นให้ทรัพย์สินประเภทนี้แก่สูเจ้า เจ้าก็จะไม่รับมันเว้นเสียแต่ว่าเสียไม่ได้ แสร้งทำเป็นไขสือรับเอามา ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าไม่พร้อมที่จะรับมัน อย่างไรก็ตามอิสลามเน้นว่าสิ่งใดก็ตามที่ตนไม่ชอบ บุคคลอื่นก็ไม่ชอบ และสิ่งใดที่ตนชอบคนอื่นก็ชอบเช่นกัน ฉะนั้น จงเอาใจเขามาใส่ใจเรา และจงรู้ไว้เถิดว่าพระเจ้าทรงมั่งมี พระองค์มิทรงปรารถนาสิ่งบริจาคของมนุษย์

อัลกุรอานเน้นว่าการบริจาคควรบริจาคเฉพาะทรัพย์สินที่ตนรัก เป็นทรัพย์สินที่มีค่า ซึ่งในความเป็นจริงต้องการให้มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะมีหรือจนทั้งหมดก็เป็นมนุษย์ เป็นมุสลิมจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาเกียรติยศความเป็นมนุษย์ด้วยกัน อัลกุรอานอีกโองการหนึ่งเตือนสำทับว่า สูเจ้าจะไม่บรรลุสู่คุณธรรมจนกว่าสูเจ้าจะบริจาคสิ่งที่ตนรัก (ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 92)

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม