เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการที่ 268 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการที่ 268 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์


الشيْطنُ يَعِدُكُمُ الْفَقْرَ وَ يَأْمُرُكم بِالْفَحْشاءِ وَ اللَّهُ يَعِدُكُم مَّغْفِرَةً مِّنْهُ وَ فَضلاً وَ اللَّهُ وَسِعٌ عَلِيمٌ (268)

ความหมาย

268. ซาตานมารร้ายขู่สูเจ้า (ขณะบริจาค) ด้วยความยากจน และเสี้ยมสอนสูเจ้าให้กระทำความชั่ว แต่อัลลอฮฺ ทรงสัญญาการอภัยโทษ และความโปรดปรานจากพระองค์แก่สูเจ้า และอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงไพบูลย์ ผู้ทรงรอบรู้

คำอธิบาย การต่อสู้กับอุปสรรคของการบริจาค

บางครั้งการบริจาค หรือการกระทำความดี ก็เป็นสาเหตุทำให้ถูกหยุแหย่ได้เช่นกัน เช่น ถ้าบริจาคสิ่งดีแก่คนอื่นเสียหมด วันข้างหน้าเราอาจต้องใช้สิ่งนั้นก็ได้ ซึ่งความคิดเช่นนี้คือ เสียงกระซิบกระซาบของซาตานมารร้ายที่มีมายังตน ทำให้ตนหวาดกลัวต่ออนาคต ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่แน่ว่าอาจพลิกผันกลายเป็นคนจนก็ได้ เสียงกระซิบกระซาบเหล่านี้จะกลั่นแกล้งมนุษย์ไม่ให้เป็นสุข ซึ่งนอกจากจะไม่บริจาคแล้ว ยังกลายเป็นผู้มีความลุ่มหลงต่อโลก และทรัพย์สิน และกลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว และยิ่งไปกว่านั้นยังนำพามนุษย์ให้ขวนขวายหาทรัพย์ ด้วยวิธีการฮะรอม หรือบาปอีกต่างหาก

โองการข้างต้นจึงเตือนมนุษย์ว่าซาตานมารร้ายพยายามชักจูงสูเจ้าให้กระทำบาป เสี้ยมสอนสูเจ้าให้กลัวความยากจน จุดประสงค์ของคำว่า ฟะฮฺชา หมายถึง การกระทำชั่ว การกระทำที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง แต่ในที่นี้หมายถึง ความตระหนี่ถี่เหนียว การละเว้นการบริจาค แต่ดีกว่าถ้าให้ความหมายครอบคลุมเหนือคำว่า ตระหนี่ถี่เหนียว เนื่องจากผลของการกระซิบกระซาบของซาตาน และเพื่ออนาคตของตนอาจทำให้ตนกระทำความผิด หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติก็ได้

อัลกุรอาน กล่าวถึง การเสี้ยมสอนของซาตานมารร้าย บ่งบอกถึงการกระซิบกระซาบ ซึ่งโดยหลักการแล้วหมายถึง ความคิดทั้งหลายในทางลบ ในแง่ไม่ดี และการไม่มองการไกล ซึ่งจุดที่มาขึ้นอยู่กับการยอมจำนนต่อซาตาน โดยปกติแล้วจะอยู่ตรงกันข้ามกับความคิดในแง่ดี สร้างสรรค์ การมองการไกล ซึ่งแหล่งที่มาของความคิดเหล่านี้คือ พระเจ้า และธรรมชาติบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงมอบให้มา

ขณะเดียวกันตรงกันข้ามกับการขู่ให้ยากเข็ญของซาตานคือ คำมั่นสัญญา 2ประการของพระเจ้าได้แก่ การอภัยในบาปกรรม และการเพิ่มพูนความโปรดปรานในทรัพย์สิน ดังนั้น บุคคลที่บริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความผิดของเขาจะถูกลบล้าง อีกด้านหนึ่ง ความดีงามและความสิริมงคลจะเพิ่มพูนในทรัพย์สินของเขา

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ขณะที่บริจาคจะมี 2 สิ่งมาจากพระเจ้า และมี 2สิ่งมาจากซาตานมารร้าย สองสิ่งที่มาจากพระเจ้าได้แก่ การอภัยในบาปกรรม และการเพิ่มพูนทรัพย์สินให้มากมาย ส่วนสองสิ่งที่มาจากซาตานมารร้ายได้แก่ การขู่ให้ยากเข็ญ กับการเสี้ยมสอนให้ทำความชั่ว

ดังนั้น จุดประสงค์ของการอภัยบาปกรรม และการเพิ่มพูนในทรัพย์สิน ดังที่อิบนิอับบาซ กล่าวไว้ว่า หมายถึงการเพิ่มพูนทรัพย์สินท่ามกลางการบริจาค

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม