โองการที่ 269 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 269 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
يُؤتِي الْحِكْمَةَ مَن يَشَاء وَمَن يُؤْتَ الْحِكْمَةَ فَقَدْ أُوتِيَ خَيْرًا كَثِيرًا وَمَا يَذَّكَّرُ إِلاَّ أُوْلُواْ الأَلْبَابِ (269)
ความหมาย
269. พระเจ้าทรงประทานวิทยปัญญาและความรู้แก่ผู้พระองค์ทรงประสงค์ (และมีความเหมาะสม) และผู้ใดที่ถูกประความรู้ แน่นอนเขาก็ถูกประทานความดีอันมากมาย และไม่มีผู้ใดรำลึก (ไม่เข้าใจความจริงนั้น) นอกจากปวงผู้มีสติ
คำอธิบาย ความโปรดปรานที่ดีที่สุด
โองการนี้กล่าวถึง ความรู้และวิทยปัญญา เนื่องจากความรู้เท่านั้นที่จะสามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างแนวทางของพระเจ้า กับซาตานมารร้าย แนวทางของพระเจ้าจะนำพามนุษย์ไปสู่การอภัยบาป และความโปรดปราน และนำเขาออกห่างจากการเสี้ยมสอนของซาตาน และความยากจน อัลกุรอาน กล่าวว่า พระเจ้าทรงประทานวิทยปัญญาและความรู้แก่ผู้พระองค์ทรงประสงค์ (และมีความเหมาะสม)
ฮิกมะฮฺ ในโองการหมายถึงอะไร นักปราชญ์ให้ความหมายคำนี้ไว้มากมาย เช่น ความเข้าใจ การรู้จักสิ่งเร้นลับในโลกของการมีอยู่ การล่วงรู้ในสัจธรรมความจริงของอัลกุรอาน และการบรรลุสัจธรรมทั้งด้านคำพูดและการกระทำ ตลอดจนการรู้จักรัศมีของพระเจ้าที่จำแนกออกจากเสียงกระซิบกระซาบของซาตานมารร้าย สรุปว่า ฮิกมะฮฺ หมายถึง สภาพหนึ่งของมนุษย์ที่เกิดจากความเข้าใจ เป็นการเข้าใจความจริงที่มีอยู่ ตามความเป็นจริง ไม่ผิดพลาด ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของความรู้ ดังนั้น เมื่อมนุษย์บรรลุถึงของการรู้จัก เขาจึงเข้าใจทุกสิ่ง เท่ากับว่าเขาได้รับความรู้และวิทยปัญญา
บางครั้งมนุษย์คิดว่าตนเข้าใจ และมีความมั่นใจในสิ่งนั้น ทั้งที่ความรู้ของเขามาจากความโง่ที่ไม่รู้ว่าตนเองโง่ ซึ่งในความเป็นจริงตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาเข้าใจ ความรู้ทำนองนี้แย่ยิ่งกว่าความโง่เขลา ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงขอพรเสมอว่า โอ้อัลลอฮฺ โปรดให้ข้าฯเห็นสรรพสิ่งตามสภาพความจริงของมัน ในความหมายก็คือ ท่านศาสดาวิงวอนขอความรู้และวิทยปัญญาจากพระเจ้า แน่นอนท่านศาสดามีสิ่งนั้นอยู่ในตัว แต่ท่านต้องการให้พระองค์รักษาวิทยปัญญาให้ดำรงสืบไป
ความเข้าใจผิดและความโง่ที่ไม่รู้ว่าตนเองโง่ เกิดจากการกระทำบาปกรรมซ้ำบ่อยครั้ง ซึ่งบาปเหล่านั้นกลายเป็นม่านที่ปิดบังดวงตาทั้งสอง ที่ไม่ยอมปล่อยให้เขามองเห็นความถูกต้อง ดุจดังเช่นเรายืนอยู่หลังกระจกที่เป็นคลื่น สายตาจะมองเห็นทุกอย่างคดงอ เนื่องจากมีกระจกขวางกั้นสายตา และระยะห่างระหว่างสายตาและสิ่งของ ทำให้เกิดการหักเหของแสง บาปเช่นกันจะเป็นตัวกีดขวางการมองเห็นด้วยจิตด้านในของมนุษย์
ส่วนบุคคลที่ได้รับวิทยปัญญาแล้ว เขาจะมีสายตาที่แหลมคม มองเห็นทุกสิ่งตามความจริงที่มีอยู่ แน่นอนสำหรับผู้ที่มีวิทยปัญญาเขาจะได้รับความดีงามมากมาย และได้รับความโปรดปรานสูงสุด อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า ฮิกมะฮฺ ก็คือ ฟุรกอน นั่นเอง ซึ่งอัลกุรอาน กล่าวถึงหลายครั้ง และเป็นชื่อหนึ่งของอัลกุรอาน หมายถึง พลังในการจำแนกความจริงออกจากความเท็จ ตามที่อัลกุรอาน กล่าวถึง พลังดังกล่าวจะนำมาซึ่งความยำเกรงและความสำรวมตนต่อบาปกรรม อัลกุรอานกล่าวว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธา ถ้าสูเจ้าสำรวมตนต่ออัลลอฮฺ พระองค์จะทรงประทานพลังในจำแนกความจริงและความเท็จ (ฟุรกอน) แก่สูเจ้า
จุดประสงค์ของประโยคที่กล่าวว่า แก่ผู้พระองค์ทรงประสงค์ มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงมอบวิทยปัญญาและความรู้แก่ผู้พระองค์ทรงประสงค์ โดยปราศจากเหตุผล แต่พระประสงค์ของพระองค์ผสมผสานกับความเหมาะสมของบุคคล หมายถึง บุคคลใดมีความเหมาะสมที่จะรับวิทยปัญญาเหล่านี้ พระองค์จะมอบแก่เขา และผู้ใดที่ถูกประความรู้ แน่นอนเขาก็ถูกประทานความดีอันมากมาย แต่มิได้หมายถึง ความดีที่เป็นนิรันดร เนื่องจากความดีดังกล่าวมีได้ขึ้นอยู่กับวิทยปัญญาอย่างเดียว ทว่าวิทยปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสุขนิรันดร
สุดท้ายโองการกล่าวว่า และไม่มีผู้ใดรำลึก (ไม่เข้าใจความจริงนั้น) นอกจากปวงผู้มีสติ ซิกร์ ในที่นี้หมายถึง การรำลึก การรักษาวิชาการความรู้ไว้ในจิตวิญญาณด้านใน
ส่วนคำว่า อัลบาบ เป็นพหูพจน์ของคำว่า ลุบ หมายถึงมันสมอบของทุกสิ่ง ซึ่งมันสมองถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นรากฐานที่ดีที่สุดของทุกสิ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกว่าปัญญา และสติว่าลุบ ฉะนั้น ประโยคจึงกล่าวว่า เฉพาะปวงผู้มีสติเท่านั้น ที่ปกป้องสัจธรรมและรำลึกถึง อีกทั้งได้รับประโยคจากสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ คำว่าอูลุลอัลบาบ จึงไม่อาจกล่าวเรียกทุกคนได้ แต่หมายถึง บุคคลที่นำสติปัญญาของตนไปใช้ประโยชน์ และแสวงหาความสุขนิรันดรให้กับตนเอง