โองการที่ 23 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
โองการที่ 23 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
ผู้หญิงที่อิสลามห้ามมิให้แต่งงาน
حـُرِّمـَت عـَلَيـْكـمْ أُمَّهَتُكُمْ وَ بَنَاتُكُمْ وَ أَخَوَتُكمْ وَ عَمَّتُكُمْ وَ خَلَتُكُمْ وَ بَنَات الاَخ وَ بَنَات الاُخـْتِ وَ أُمَّهـَتـُكـمُ الَّتـى أَرْضـعـْنـَكـُمْ وَ أَخَوَتُكم مِّنَ الرَّضعَةِ وَ أُمَّهَت نِسائكمْ وَ رَبَئبُكمُ الَّتـى فـى حـُجـُورِكـم مِّن نِّسائكُمُ الَّتى دَخَلْتُم بِهِنَّ فَإِن لَّمْ تَكُونُوا دَخَلْتُم بِهِنَّ فَلا جـُنـَاحَ عـَلَيـْكـمْ وَ حـَلَئلُ أَبـْنَائكمُ الَّذِينَ مِنْ أَصلَبِكمْ وَ أَن تَجْمَعُوا بَينَ الاُخْتَينِ إِلا مَا قَدْ سلَف إِنَّ اللَّهَ كانَ غَفُوراً رَّحِيماً(23)
ความหมาย
๒๓. ถูกห้ามสำหรับสูเจ้า (มิให้แต่งงาน) กับมารดาของสูเจ้า ลูกสาวของสูเจ้า พี่หรือน้องสาวของสูเจ้า อาหญิงของสูเจ้า น้าหญิงของสูเจ้า บุตรสาวของพี่หรือน้องชายของสูเจ้า บุตรสาวของพี่หรือน้องสาวของสูเจ้า แม่นมที่ให้นมสูเจ้า พี่น้องหญิงที่ร่วมนมกับสูเจ้า มารดาของเหล่าภรรยาของสูเจ้า ลูกเลี้ยงของสูเจ้าผู้อยู่ในอุปการะของสูเจ้า จากภรรยาที่สูเจ้าได้ร่วมหลับนอน แต่ถ้าสูเจ้ามิได้ร่วมหลับนอนกับนาง ดังนั้น ไม่เป็นบาปแก่พวกเจ้า (ที่จะแต่งงานกับบุตรสาวของนาง) (และถูกห้ามสำหรับสูเจ้า มิให้แต่งงานกับ) ภรรยาของบุตรชายของสูเจ้าที่มาจากสายเลือดของสูเจ้า (มิใช่บุตรบุญธรรม) และ (ถูกห้าม) ที่สูเจ้าจะ (แต่งงาน) ระหว่างพี่น้องสองคนรวมกัน นอกจากที่ผ่านมาแล้ว เนื่องด้วย อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้เมตตาเสมอ
คำอธิบาย การห้ามแต่งงานกับหญิงที่ไม่อนุมัติ
บทบัญญัติต่าง ๆ ย่อมมีความเป็นพิเศษที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบัญญัติข้อนี้คือ การห้ามชายแต่งงานกับหญิงที่เป็นมะฮ์รัมกัน (หญิงที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้) ซึ่งโองการนี้สาธยายถึงหญิงเหล่านั้น และห้ามชายแต่งงานกับนางเด็ดขาด การห้ามแต่งงานกับญาติพี่น้องในชนชาติอื่นก็กล่าวไว้เช่นกันแต่แตกต่างกัน เนื่องจากคำสอนของอิสลามเป็นพระบัญญัติที่กำหนดโดยพระเจ้า มิได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของธรรมชาติ แม้ว่าจะมีการกล่าวว่าสัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่สมสู่กับแม่และลูกของมันก็ตาม
อย่างไรก็ตามโองการนี้กล่าวถึงหญิง 14 ประเภท ที่ห้ามมิให้ชายแต่งงานด้วยถือว่าเป็นบาป 7 ประเภทจัดเป็นนิซบีย์ หมายถึงมาจากสายเลือดเดียวกัน หรือเป็นพี่น้องกัน ส่วนอีก 7 ประเภทเป็นนะซะบีย์ หมายถึงถูกห้ามเพราะมีสาเหตุอื่นเป็นองค์ประกอบ เช่น ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน หรือเนื่องจากแต่งงาน 7 ประเภทแรกได้แก่
๑.มารดา ซึ่งรวมไปถึงย่า ยาย ย่าทวด และยายทวด และชั้นที่สูงขึ้นไป
๒.ลูกสาว ซึ่งรวมไปถึงหลานสาว ทั้งที่เป็นลูกของลูกสาวและลูกชายของตน และลูกสาวของหลานสาว และหลานชั้นที่ไกลออกไป
๓.พี่หรือน้องสาว ซึ่งรวมไปถึงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาเท่านั้น
๔.ป้าหรืออา ซึ่งรวมไปถึงพี่หรือน้องสาวของบิดา ที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาเท่านั้น
๕.ป้าหรือน้า ซึ่งรวมไปถึงพี่หรือน้องสาวของมารดา ที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาเท่านั้น
๖.ลูกสาว ของพี่หรือน้องชาย (หลานสาว) ซึ่งรวมไปถึงพี่หรือน้องชาย ที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาเท่านั้น
๗.ลูกสาว ของพี่หรือน้องสาว (หลานสาว) ซึ่งรวมไปถึงพี่หรือน้องสาว ที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมเฉพาะบิดา หรือมารดาเท่านั้น
เจ็ดประเภทที่สองที่เป็นนะซะบีย์ หรือถูกห้ามเนื่องจากมีสาเหตุ
๑.บรรดาแม่นม หมายถึงหญิงที่ไม่ให้กำเนิดตน แต่ตนดื่มนมจากนาง
๒.พี่หรือน้องสาวร่วมนมเดียวกัน หมายถึงบรรดาหญิงที่มิใช่พี่หรือน้องสาวทางสายเลือด แต่เนื่องจากได้ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน จึงเป็นพี่น้องกัน
ซึ่งทั้งสองประเภทเรียกว่า มะฮ์ริมริฎออีย์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า แม้ว่าจะถูกห้ามเนื่องจากสาเหตุ เช่น ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกัน ริฎอ ของนางก็ถูกห้ามด้วยเช่นกัน หมายถึง กรณีที่แม่นมถูกห้ามมิให้แต่งงานด้วย พี่หรือน้องสาวของแม่นม (ป้าหรือน้าสาว) หรือบรรดาลูกสาวของแม่นมซึ่งถือว่าเป็นพี่หรือน้องสาวไปโดยปริยาย ก็ถูกห้ามไว้เช่นกัน อีกด้านหนึ่งหญิงสาวที่ดื่มนมจากแม่นม สามีของแม่นมถูกห้ามมิให้แต่งงานกับนาง พี่หรือน้องชายของสามีแม่นม (ลุงหรืออา) ก็ถือว่าถูกห้ามเช่นกัน สรุปว่า บุคคลที่ถูกห้ามมิให้แต่งงานในฐานะที่เป็นสายเลือดเดียวกัน ก็ถูกห้ามในริฎออีย์ด้วยเหมือนกัน
แน่นอน การห้ามในฐานะที่ดื่มนมจากแม่นมคนเดียวกันมีเงื่อนไข กล่าวคือ
- ช่วงที่ดื่มนมต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี แต่ถ้ามีอายุเกิน 2 ปี ถือว่าไม่ถูกห้าม (ฮะรอม)
- น้ำนมที่ดื่มต้องช่วยทำให้เนื้อหนังมังสา และกระดูกของเด็กเติบโต ดังนั้น เด็กต้องดื่มนมอย่างน้อย 24 ช.ม.หรือ 1 วันเต็ม หรือดื่มประมาณ ๑๕ ครั้ง ซึ่งระหว่างนั้นต้องไม่รับประทานสิ่งอื่นร่วมปนไปด้วย
- ต้องดื่มน้ำนมโดยตรงจากเต้าแม่นม ฉะนั้น ถ้าดื่มนมผ่านขวดนมหรือแก้ว ไม่ถือว่าถูกห้าม
๓.มารดาของภรรยา ซึ่งรวมไปถึงยาย ยายทวด และยายในชั้นที่ห่างออกไป
๔.ลูกสาวของภรรยาที่เกิดจากสามีอื่น (ลูกติดแม่ หรือลูกเลี้ยง) ซึ่งโองการกล่าวว่าลูกสาวของภรรยา หรือลูกเลี้ยงของสูเจ้าผู้อยู่ในอุปการะของสูเจ้า ไม่ได้หมายความว่าถ้านางไม่ได้อยู่ในการดูแลของเจ้า แล้วจะอนุญาตสำหรับเจ้า ซึ่งไม่ว่านางจะอยู่ ณ ที่ใดถือว่าไม่อนุญาตสำหรับเจ้า ดังนั้น การแต่งงานกับหญิงประเภทนี้ถือว่าไม่อนุญาต ยกเว้นกรณีที่สูเจ้ายังมิได้หลับนอนกับภรรยา (แม่ของนาง) เพียงแค่อ่านข้อผูกมัดในการแต่งงาน (อักด์) เพียงอย่างเดียว ไม่ถือว่าลูกสาวของนางเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเจ้า ฉะนั้น สูเจ้าสามารถแต่งงานกับนางได้ ถ้าสูเจ้าหย่าขาดจากภรรยา (ในนาม)
๕.ภรรยาของบรรดาบุตรชาย ซึ่งหมายถึงบุตรสะใภ้ของตน และบุตรสะใภ้ของบุตรชายของตน (หลานสะใภ้) แต่ไม่รวมถึงภรรยาของบุตรบุญธรรม ดังจะเห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่งงานกับซัยนับ ภรรยาเก่าของซัยด์ บุตรของฮาริซ บุตรบุญธรรมของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งนางได้หย่าขาดจากซัยด์ และแต่งงานกับท่านศาสดา
๖.พี่หรือน้องสาวของภรรยา ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับตนขณะที่ตนยังไม่ได้หย่าขาดจากภรรยา ซึ่งไม่สามารถแต่งงานทั้งพี่และน้องในเวลาเดียวกันได้ จะแต่งงานได้ต่อเมื่อภรรยาตาย หรือนางหย่าขาดจากตน
๗.แม่เลี้ยง แม้ว่าโองการนี้จะไม่ได้กล่าวถึง แต่โองการก่อนหน้านี้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า จงอย่าแต่งงานกับบรรดาหญิงที่บิดาของสูเจ้าได้แต่งงาน
สุดท้ายโองการได้กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนรำลึกถึงพระเจ้า โดยแนะนำถึงคุณลักษณะสำคัญของพระเจ้าว่า พระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้เมตตาเสมอ