โองการที่ 24 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
โองการที่ 24 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
ภาคที่ 5
การแต่งงานชั่วคราวในอิสลาม
وَ الْمـُحـْصنَت مِنَ النِّساءِ إِلا مَا مَلَكَت أَيْمَنُكمْ كِتَب اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَ أُحِلَّ لَكُم مَّا وَرَاءَ ذَلِكمْ أَن تَبْتَغُوا بِأَمْوَلِكُم محْصِنِينَ غَيرَ مُسفِحِينَ فَمَا استَمْتَعْتُم بِهِ مِنهُنَّ فَئَاتُوهُنَّ أُجُورَهُنَّ فـَرِيـضـةً وَ لا جـُنـَاحَ عَلَيْكُمْ فِيمَا تَرَضيْتُم بِهِ مِن بَعْدِ الْفَرِيضةِ إِنَّ اللَّهَ كانَ عَلِيماً حَكِيماً(24)
ความหมาย
๒๔. และบรรดาหญิงที่มีสามี (ถูกห้ามสำหรับสูเจ้า) นอกจาก (ทาสี) ที่สูเจ้าครอบครอง นี่คือพระบัญญัติที่อัลลอฮฺทรงกำหนดแก่สูเจ้า และนอกจาก (หญิงที่เอ่ยนามมาแล้ว) เป็นที่อนุมัติแก่สูเจ้า ในการที่จะแสวงหานางด้วยสมบัติของสูเจ้า ขณะที่ต้องบริสุทธิ์และห่างไกลการล่วงประเวณี ดังนั้น หญิงใดที่สูเจ้าเสพสุขกับนาง (แต่งงานชั่วคราว) เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ต้องมอบมะฮัรตามกำหนดแก่นาง และไม่มีบาปแก่สูเจ้า หลังจากกำหนดมะฮัรแล้ว สูเจ้าทั้งสองต่างพอใจกันในสิ่งนั้น (เพิ่มหรือลดจำนวน) แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ
คำอธิบาย
หลังจากกล่าวถึงสตรี 14 ประเภท ที่ไม่อนุมัติให้ชายแต่งงานด้วยแล้ว โองการยังได้กล่าวถึงสตรีอีกบางประเภทที่ถูกห้ามไว้ เช่น หญิงที่มีสามี หลังจากอธิบายแล้วโองการกล่าวยกเว้นสตรีบางประเภทได้แก่ ทาสี หรือเชลยที่อยู่ในครอบครองของเจ้า หมายถึง สตรีที่ถูกจับเป็นเชลยในสงครามระหว่างอิสลามกับผู้ปฏิเสธในฐานะของทาส ดังนั้น สตรีเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะมีสามีแต่อนุญาตให้แต่งงานได้
ฐานะภาพของเชลย เป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาหมดไป การที่มุสลิมแต่งงานกับนางเป็นการช่วยเหลือนางให้รอดพ้นจากการระหกระเหินไร้หลักแหล่ง ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวนาง
โองการข้างต้นถูกประทานลงมาช่วงที่มุสลิมจับเชลยมาจากสงครามหนึ่ง ซึ่งในหมู่พวกเขามีสตรีที่มีสามีอยู่ด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) สั่งให้พวกมุสลิมคอยจนกว่านางจะสะอาด และมีรอบเดือนใหม่อีกครั้ง หรือถ้าตั้งครรภ์ต้องรอจนกว่านางจะคลอดบุตร หลังจากนั้นจึงแต่งงานกับนาง
ตามหลักกฎหมายอิสลามทาสที่อยู่ในครอบครองมีกฎแยกต่างหาก แม้ว่าพวกนางจะแต่งงานแล้ว แต่เมื่อขายนางไปการแต่งงานของพวกเขาถือว่าเป็นโมฆะ และผู้ที่ซื้อนางไปต้องรอจนกว่านางจะสะอาด หลังจากนั้นให้นางแต่งงานใหม่ หรือแต่งงานกับตน หลังจากนั้นโองการเน้นว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นของพระเจ้า ซึ่งสตรีอื่นที่นอกเหนือจากที่เอ่ยนามมาแล้ว ถือว่าอนุญาตให้สูเจ้าแต่งงานได้
ยังมีสตรีอีกบางประเภทที่ไม่อนุญาตให้แต่งงาน ซึ่งการไม่อนุญาตนี้มีผลมาจากองค์ประกอบอื่น เช่น สตรีที่หย่าขาดสามครั้ง ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับสามีเดิมอีก นอกเสียจากว่านางต้องแต่งานกับชายอื่นก่อน และเมื่อเลิกกับสามีใหม่แล้วจึงจะสามารถแต่งงานกับสามีคนเดิมได้
ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับสตรีที่รอเวลา (อิดดะฮฺ) หรือแต่งงานกับภรรยาคนที่ห้า หรือแต่งงานใหม่กับภรรยาที่มีการสาปแช่งกันเวลาหย่า หรือแต่งงานกับหญิงที่ตนได้แสดงรักร่วมเพศกับพี่หรือน้องชายของนาง ทั้งหมดที่ไม่อนุญาตให้แต่งงานเนื่องจากมีสาเหตุที่เฉพาะดังที่กล่าวมา
ประโยคต่อมาโองการกล่าวถึงการแต่งงานชั่วคราว (มุตอะฮฺ) โดยกล่าวว่า หญิงใดที่สูเจ้าเสพสุขกับนาง (แต่งงานชั่วคราว) เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ต้องมอบมะฮัรตามกำหนดแก่นาง ดังที่กล่าวไปแล้วว่าโองการบ่งบอกถึงการแต่งงานชั่วคราว เนื่องจากคำว่า อิซตัมตะอ์ตุม อิซติมตาอ์ และมุตอะฮ์ เป็นศัพท์เทคนิคเฉพาะ ซึ่งในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หมายถึง การแต่งงานชั่วคราว และบรรดามุสลิมก็เข้าใจเช่นนั้นมาโดยตลอด มีรายงานที่เชื่อถือได้ จำนวนมากมายทั้งจากฝ่ายชีอะฮฺ และซุนีย์ ที่บ่งบอกถึงการแต่งงานชั่วคราว ซึ่ง มุสลิมในสมัยท่านศาสดาก็ได้ปฏิบัติกัน โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ แต่ในทัศนะของมุสลิมนิกายซุนีย์กล่าวว่า กฎเกณฑ์ข้อนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนในทัศนะของมุสลิมนิกายชีอะฮฺ ถือว่ากฎเกณฑ์ข้อนี้ยังมีอยู่
การอ่านของสาวกบางท่าน เช่น อิบนุอับบาซ อุบัย บุตรของกะอับ หลังจากประโยค ฟะมัซตัมตะอืตุม (เมื่อสูเจ้าได้เสพสุข) จะตามด้วยประโยคที่ว่า อิลาอัจลิมุซัมมา หมายถึง จนถึงเวลาที่กำหนด ถ้าสมมุติว่าการอ่านนี้ถูกต้อง ประเด็นที่กำลังกล่าวถึงยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงประโยคที่กล่าวตอนหลัง เป็นประโยคอธิบาย ที่มาจากบรรดาสาวกเหล่านั้น มิใช่อัล-กุรอาน ซึ่งตามความเป็นจริงจะมีประโยคดังกล่าวหรือไม่ ถือว่าไม่จำเป็น เนื่องจากทั้งซุนีย์และชีอะฮ์ต่างยอมรับว่า โองการนี้เกี่ยวข้องกับการแต่งงานชั่วคราว (มุตอะฮฺ) จะขัดแย้งกันตรงประเด็นที่ว่ากฎข้อนี้ถูกยกเลิกแล้วหรือไม่
สุดท้ายโองการกล่าวว่า ไม่มีบาปแก่สูเจ้า หลังจากกำหนดมะฮัรแล้ว สูเจ้าทั้งสองต่างพอใจกันในสิ่งนั้น (เพิ่มหรือลดจำนวน) ประโยคดังกล่าวอาจบ่งชี้ถึง กฎเกณฑ์ของการอ่านอักด์มุตอะฮฺ เนื่องจากเมื่อกำหนดเวลาหมดลง เขาทั้งสองสามารถตกลงกันใหม่ โดยที่จะเพิ่มมะฮัรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของทั้งสอง และการที่โองการกล่าว่า อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณเสมอ หมายความว่าพระองค์ ทรงรอบรู้การกระทำของสูเจ้า ส่วนกฎเกณฑ์พระองค์ทรงกำหนดขึ้นมาบนพื้นฐานของวิทยปัญญา
คำวิพากษ์เกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว
การแต่งงานชั่วคราว หรือมุตอะฮฺ หมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงแต่งงานกันตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดเวลาการอยู่ร่วมกันก็จะจบสิ้นโดยปริยาย โดยไม่ต้องมีการหย่าขาด จะแตกต่างกับการแต่งงานถาวรตรงที่ว่า การแต่งงานถาวรไม่มีกำหนดเวลาความตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือการหย่าขาดจากกันเท่านั้น ที่สามารถแยกเขาทั้งสองออกจากันได้
มีคำถามว่าการแต่งงานลักษณะนี้ ตามหลักการของอิสลามถือว่าอนุญาตหรือไม่ นักปราชญ์ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นขัดแย้งกัน ฝ่ายชีอะฮฺ และบรรดาครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เชื่อว่าการแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาต ส่วนซุนีย์เชื่อว่าการแต่งงานชั่วคราวไม่อนุญาต ก่อนที่จะอธิบายควรศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดี
การแต่งงานชั่วคราวในอิสลาม
รายงานจำนวนมากที่ฝ่ายซุนนีย์ได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งไม่เป็นที่สงสัยแต่อย่างใดว่าในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) บรรดามุสลิมทำการแต่งงานชั่วคราว แน่นอน พวกเขาต้องได้รับอนุญาตจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งมิสามารถกระทำโดยพละการได้ จะขอยกตัวอย่างรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้
๑.บุตรของอบีฮาตัม รายงานจาก อิบนุอับบาซว่า ในยุคแรกอิสลามอนุญาตให้ทำการแต่งงานชั่วคราว ตอนนั้นมีคนเดินทางมายังเมืองตามลำพัง ไม่ผู้ช่วยเหลือที่จะคอยดูแลทรัพย์สิน ดังนั้น เขาจึงแต่งงานชั่วคราวกับหญิงคนหนึ่ง เท่ากำหนดเวลาที่เขาต้องการ (ซุยูฏีย์ อัดดุรุลมันซูร เล่ม 2 หน้า 259)
๒.มีรายงานว่าเมื่อท่านศาสดาเดินทางไปมักกะฮฺเพื่อทำอุมเราะฮฺ เหล่าบรรดาสตรีจะเสริมเติมแต่งตนให้สวยงาม บรรดาสาวกของท่านศาสดาที่เดินทางไปโดยปราศจากภรรยา ได้ร้องเรียนท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านจึงสั่งให้เขาแต่งงานชั่วคราวกับนาง (ตัฟซีร ฟัครุรรอซีย์ มะฟาตีฮุลฆัยบ์ เล่ม 10 หน้า 49)
๓.ญาบิร กล่าวว่า ในสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอบูบักร์ พวกเราได้แต่งงานชั่วคราวกับหญิง โดยใช้อินทผลัม หรือแป้งสาลีเป็นมะฮัร (มุซนัดอะฮฺมัด ฮันบัล เล่ม 3 หน้า 325)
ฝ่ายซุนนีย์ กล่าวว่าหลังจากอนุญาตโองการถูกยกเลิก ซึ่งอย่างไรก็ตามริวายะฮฺกล่าวว่าในสมัยท่านศาสดามีการปฏิบัติการแต่งงานชั่วคราวกันดูเป็นเรื่องปกติของสังคม
การแต่งงานชั่วคราวในริวายะฮฺชีอะฮฺ
๑.อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า อัล-กุรอานประทานลงมาเกี่ยวกับเรื่องการแต่งงานชั่วคราว และแบบฉบับของท่านศาสดาได้ปฏิบัติตามนั้น (อุซูล อัลกาฟีย์ เล่ม 5 หน้า 449)
๒.อับดุร เราะฮฺมาน บุตรของอบี อับดิลลาฮฺกล่าวว่า อบูฮะนีฟะฮฺ ได้ถามอิมามซอดิกเกี่ยวกับการมุตอะฮฺผู้หญิงว่า เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ อิมามกล่าวว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่อัลลอฮฺ เจ้าไม่เคยอ่านอัล-กุรอานหรืออย่างไร โองการที่กล่าวว่า ดังนั้น หญิงใดที่สูเจ้าเสพสุขกับนาง (แต่งงานชั่วคราว) เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ต้องมอบมะฮัรตามกำหนดแก่นาง อบูฮะนีฟะฮฺ กล่าวว่า ฉันขอสาบานต่อพระเจ้าว่า เหมือนกับว่าฉันเพิ่งจะเคยอ่านโองการนี้ (เล่มเดิม)
กฎการแต่งงานชั่วคราวถูกยกเลิกแล้วหรือ
เป็นที่ประจักษ์ว่าทั้งโองการและรายงานต่างอนุญาตเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว ซึ่งประเด็นนี้มิใช่สิ่งที่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับที่เคาะลิฟะฮฺอุมัร สั่งยกเลิกการแต่งงานชั่วคราวก็มิใช่ประเด็นที่ต้องคลางแคลงใจอีกต่อไป อุมัรกล่าวว่า ในสมัยท่านศาสดามีมุตอะฮฺอยู่สองประเภท แต่ฉันสั่งยกเลิกทั้งสอง และผู้ใดฝ่ฝืน ฉันจะลงโทษอย่างหนักได้แก่ หัจญ์ตะมัตตุอฺ และการมุตอะฮฺนิซาอฺ (กันซุลอุมาล เล่ม 16 หน้า 519)
สิ่งสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ ในสมัยของท่านศาสดาโองการนี้ถูก อัล-กุรอานโองการอื่น หรือรายงานที่เชื่อได้ของท่านศาสดายกเลิกหรือไม่ ซุนนีย์ เชื่อว่ากฎเกณฑ์เรื่องการแต่งงานชั่วคราวถูกยกเลิกตั้งแต่สมัยท่านศาสดา บางครั้งกล่าวว่าโองการนี้ถูกยกเลิกด้วยโองการเกี่ยวกับมรดกของสตรี เนื่องจากสตรีที่แต่งงานชั่วคราวไม่มีสิทธิรับมรดกของสามี บางครั้งกล่าวว่าโองการถูกยกเลิกด้วยโองการที่ 6 บทมุอฺมินูนที่ว่า เว้นแต่แก่บรรดาภรรยาของพวกเขา หรือที่อยู่ในการครอบครองของเขา (ทาสี) เนื่องจากสตรีที่แต่งงานชั่วคราว อัล-กุรอานจะไม่ใช้คำว่า เซาญะฮฺ บางครั้งกล่าวว่า โองการถูกยกเลิกด้วยรายงานที่เชื่อถือได้ของท่านศาสดา ซึ่งท่านเป็นผู้สั่งยกเลิก เช่น
๑.อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) สั่งยกเลิกการแต่งงานชั่วคราว และการกินเนื้อลา ในสงครามค็อยบัร (กันซุลอุมาล เล่ม 16 หน้า 523)
๒.ซุบเราะฮฺ รายงานว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สั่งยกเลิกการแต่งงานชั่วคราวในวันยึดมักกะฮฺได้ (เล่มเดิม หน้า 225)
นักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ กล่าวว่าโองการดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิก เนื่องจากโองการต่าง ๆ เกี่ยวกับมรดกของสตรีเพียงแค่อธิบายถึงกฎเกณฑ์ของการแต่งงาน มิได้อยู่ในฐานะที่มาอธิบายเงื่อนไขของภรรยา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถยกเลิกโองการแต่งงานชั่วคราวได้
นอกจากนั้นโองการในบทมุอ์มินูน ถูกประทานลงที่มักกะฮฺ ส่วนโองการเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราวถูกประทานลงที่มะดีนะฮฺ ดังนั้น โองการมักกะฮฺ ไม่สามารถยกเลิกโองการมะดีนะฮฺได้ ขณะเดียวกันการใช้คำว่า เซาญะฮฺ กับหญิงที่แต่งงานชั่วคราว ไม่มีปัญหาอันใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ รายงานบางบทของซุนนีย์ จึงกล่าวว่ามุตอะฮฺ เป็นการแต่งงานประเภทหนึ่ง แต่สำหรับที่บอกว่าหญิงที่แต่งงานชั่วคราวไม่สามารถใช้คำว่า เซาญะฮฺ เรียกได้ เนื่องจากนางไม่มีสิทธิ์รับมรดกของสามี เป็นการยกหลักฐานที่ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากกล่าวไปแล้วว่าโองการอยู่ในฐานะของการอธิบายกฎเกณฑ์ มิใช่เงื่อนไขของภรรยา
ส่วนรายงานที่กล่าวถึง ไม่มีสิทธิและไม่มีความเหมาะสมในการยกเลิกโองการแต่งงานชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่ว่า
๑.ไม่อนุญาตให้ยกเลิกโองการด้วยรายงานที่เป็นเคาะบัรวาฮิด (หมายถึงรายงานที่เชื่อได้ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลสำหรับการพิสูจน์ความเชื่อได้)
๒.รายงานดังกล่าวขัดแย้งกัน บางรายงานปฏิเสธอีกบางรายงาน เช่น บางรายงานกล่าวว่าท่านศาสดาประกาศยกเลิกการแต่งงานชั่วคราว ในสงครามค็อยบัร หลังยึดมักกะฮฺได้ และในการทำหัจญ์ครั้งสุดท้าย การขัดแย้งกันของรายงานทำให้เกิดความสงสัย อันเป็นสาเหตุให้บางคนกล่าวว่า การแต่งงานชั่วคราวได้รับอนุญาตและถูกยกเลิกหลายครั้ง (กิชาฟ เล่ม 1 หน้า 498) ซึ่งในความเป็นจริงคำพูดเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเราไม่เคยเห็นว่ากฎเกณฑ์ใดจะได้รับการอนุญาตและถูกยกเลิกหลายครั้งติดต่อกัน
๓.รายงานดังกล่าวขัดแย้งกับรายงานที่บ่งบอกว่าการแต่งงานชั่วคราวมิได้ถูกยกเลิก
มีผู้ถาม ฮะกัม บุตรของอะยีนะฮฺว่า โองการที่กล่าวว่า ดังนั้น หญิงใดที่สูเจ้าเสพสุขกับนาง (แต่งงานชั่วคราว) ถูกยกเลิกหรือไม่ กล่าวว่า ไม่ อะลี (อ.) กล่าวว่า ถ้าอุมัรไม่ห้ามการแต่งงานชั่วคราว คงไม่มีใครผิดประเวณีอย่างดาษดื่น (ญามิอุลบะบาย เล่ม 4 หน้า 13)
๔.อิมรอน บุตรของฮะซีน กล่าวว่า โองการแต่งงานชั่วคราวถูกประทานลงมาในอัล-กุรอาน ท่านศาสดาแนะนำพวกเราให้ปฏิบัติ และไม่มีโองการใดประทานลงมายกเลิกโองการดังกล่าว จนกระทั่งท่านศาสดาจากพวกเราไปท่านก็มิได้สั่งห้ามหรือประกาศยกเลิกแต่อย่างใด (เซาะฮีย์บุคอรีย์ เล่ม 6 หน้า 33)
แม้ว่าเคาะลิฟะฮฺที่สอง อุมัร บุตรของค็อฏฏอบ เป็นผู้สั่งยกเลิกเรื่องการแต่งงานชั่วคราว แต่คำสั่งของอุมัรไม่สามารถยกเลิกโองการอัล-กุรอานได้ ซึ่งถ้าพิจารณาคำพูดของอุมัรที่ว่า มีมุตอะฮฺ 2 ประเภท ในสมัยของท่านศาสดา ซึ่งฉันได้ห้ามมันทั้งสอง เป็นเหตุผลยืนยันได้อย่างดีว่าสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อนุญาตให้มีการแต่งงานชั่วคราว กฎเกณฑ์ดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิก ผู้ที่สั่งยกเลิกโองการดังกล่าวคือ อุมัร ด้วยเหตุผล และการวินิจฉัยของท่าน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีบุคคลใดสามารถยกเลิกสิ่งที่พระเจ้า และศาสดาของพระองค์อนุมัติได้เด็ดขาด หรือสั่งห้ามสิ่งที่ศาสดาอนุมัติ หรือแม้แต่จะสั่งห้ามในฐานะของผู้ปกครอง ด้วยเหตุผล และดุลยพินิจของท่าน แต่นั่นเป็นการสั่งห้ามชั่วคราว มิใช่ตลอดไป ที่สำคัญไม่สามารถถือว่าคำสั่งนั้นเป็นคำตัดสินของอิสลาม และไม่ถือได้ว่าเป็นบัญญัติของอิสลาม
มีผู้ถามบุตรชายของอุมัรเกี่ยวกับการแต่งงานชั่วคราว กล่าวว่า สิ่งนี้อนุมัติ ผู้รายงานกล่าวว่า บิดาของท่านเป็นผู้ยกเลิกและประกาศห้ามกระทำ ตอบว่า ถ้าบิดาฉันสั่งห้ามบางสิ่งบางอย่าง ทั้งที่ท่านศาสดา (ซ็อล) ถือว่าสิ่งนั้นเป็นแบบฉบับของท่าน เราต้องละทิ้งแบบฉบับของท่านศาสดา แล้วปฏิบัติตามคำสั่งบิดาฉันหรือ (มุซนัดอะฮฺมัด บิน ฮันบัล เล่ม 2 หน้า ๙๕)
ตอบข้อสงสัยบางประการ
๑.บางครั้งมีคำกล่าวว่า ระหว่างการแต่งงานชั่วคราวกับการทำลามกอานาจาร แตกต่างกันอย่างไร ทั้งสองคือการขายบริการทางเพศเพื่อแลกเงิน ซึ่งต่างกันเพียงเล็กน้อยตรงที่มุตอะฮฺมีการอ่านข้อผูกมัดก่อนร่วมหลับนอนเท่านั้น
ตอบ คำพูดของคนจำพวกนี้ประหนึ่งว่าไม่เข้าใจความหมายของการแต่งงานชั่วคราว เนื่องจาการแต่งงานชั่วคราว มิได้จบลงตรงมีการอ่านข้อผูกมัดในการแต่งงานเพียงแค่สองประโยค ทว่ามีเงื่อนไขที่ไม่ได้แตกต่างไปจากการแต่งงาน เช่น ในช่วงกำหนดเวลาแต่งงานนางไม่มีสิทธิไปยุ่งเกี่ยวกับชายอื่น เมื่อสิ้นสุดเวลานางต้องรอเวลาอย่างน้อย 45 วัน ซึ่งในช่วงนี้นางไม่สามารถแต่งงานกับชายอื่นได้ เนื่องจากถ้านางตั้งครรภ์กับชายคนแรกจะได้รู้ว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของใคร หรือแม้ว่าจะใช้ถุงยางอนามัย ทานยาคุมกำเนิด หรือใช้วิธีอื่นเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดเวลาเป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) นางต้องคอยเวลาเพื่อพิสูจน์ว่านางตังครรภ์หรือไม่ และสมมุติว่านางตั้งครรภ์ ถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของชายคนดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายต้องรับผิดชอบ และเขามีสิทธิ์เหมือนกับลูกที่เกิดจากการแต่งงานถาวรทุกประการ บทบัญญัติต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เกี่ยวกับเขา เช่น มีสิทธิรับมรดก และสามารถเป็นอิมามนำนมาซได้ ขณะที่ลูกที่เกิดจากการผิดประเวณีจะไม่มีสิทธิใด ๆ ทางสังคมแม้แต่ประการเดียว ดังนั้น ทั้งสองกรณีจะเหมือนกันได้อย่างไร
๒.การแต่งงานชั่วคราวเป็นสาเหตุให้คนนำหลักการไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งเขาสามารถกระทำลามกอานาจารได้มากมายโดยอ้างหลักการแต่งงานชั่วคราว
คำตอบ ไม่มีหลักการใดบนโลกนี้ที่มิได้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรืออาศัยหลักการกอบโกยผลประโยชน์ให้ตน ฉะนั้น หน้าที่คือห้ามปรามและยุติหลักการที่ถูกต้อง หรือห้ามปรามผู้ที่นำไปใช้ไม่ถูกต้อง
๓.กล่าวว่าการแต่งงานชั่วคราวเป็นสาเหตุทำให้เด็กที่เกิดมาปราศจากบิดาและผู้รับผิดชอบ เป็นเด็กที่เกิดมาไม่ถูกต้องตามหลักการ และเป็นปัญหาของสังคม
ตอบ จากสิ่งที่กล่าวมาย่อมเป็นคำตอบที่สมบูรณ์สำหรับความสงสัย เนื่องจากเด็กที่เกิดมาไม่ถูกหลักการนั้นไม่เกี่ยวข้องกับบิดาและมารดา ขณะที่เด็กที่เกิดจากการแต่งงานชั่วคราวไม่มีความแตกต่างไปจากเด็กที่เกิดจากการแต่งงานถาวรแม้แต่นิดเดียว เป็นเด็กที่ถูกต้องตามหลักการของอิสลามและมีสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการ