โองการที่ 29,30 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
โองการที่ 29,30 ซูเราะฮ์อันนิซาอ์
พื้นฐานสำคัญทางสังคม
يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُوا لا تَأْكلُوا أَمْوَلَكُم بَيْنَكم بِالْبَطِلِ إِلا أَن تَكُونَ تجَرَةً عَن تَرَاضٍ مِّنكُمْ وَ لا تَقْتُلُوا أَنفُسكُمْ إِنَّ اللَّهَ كانَ بِكُمْ رَحِيماً(29) وَ مَن يَفْعَلْ ذَلِك عُدْوَناً وَ ظلْماً فَسوْف نُصلِيهِ نَاراً وَ كانَ ذَلِك عَلى اللَّهِ يَسِيراً(30)
ความหมาย
๒๙. โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงอย่ากินทรัพย์สมบัติของสูเจ้า ในระหว่างสูเจ้าโดยมิชอบ นอกจากเป็นการค้าที่เกิดจากการยินยอมของสูเจ้า และจงอย่าฆ่าตัวของสูเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ
๓๐. และผู้ใดที่กระทำเช่นนั้นโดยการละเมิดและข่มเหง ดังนั้น ในไม่ช้าเราจะโยนเขาเข้าไฟนรก และนั่น เป็นสิ่งที่ง่ายดายสำหรับอัลลอฮฺ
คำอธิบาย ความสมบูรณ์ของสังคมขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเศรษฐกิจ
โองการกล่าวถึงรากฐานของกฎหมายอิสลามว่าจะมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอันมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ บรรดานักกฎหมายอิสลามต่างวินิจฉัยปัญหาเรื่องการค้าขายจากกฎหมายอิสลาม โองการกล่าวกับผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า อย่ากินทรัพย์สมบัติของสูเจ้า ในระหว่างสูเจ้าโดยมิชอบ
อิสลามเน้นว่า จงอย่ากินทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยมิชอบ หรือมิได้รับอนุญาต ซึ่งทั้งหมดจัดอยู่ในประเด็นที่เรียกว่า บาฎิล (โมฆะ มิชอบ) ซึ่งคำ ๆ นี้มีความหมายกว้าง ดังนั้น การละเมิดทุกประเภท การหลอกลวงในการค้าขาย การค้าที่มีดอกเบี้ยแอบแฝง การซื้อขายสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ การซื้อขายอุปกรณ์ที่นำไปสู่การก่อความเสียหายหรือบาป ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้ขอบเขตของความมิชอบ และโมฆะทั้งสิ้น
ประโยชน์ถัดมากล่าวถึงการยกเว้นว่า เว้นเสียแต่ว่าการใช้สมบัติของผู้อื่นมีหลักฐานยืนยันถึงการยินยอม อัล-กุรอาน กล่าวว่านอกจากเป็นการค้าที่เกิดจากการยินยอมของสูเจ้า
ตอนท้ายโองการกำชับถึงเรื่องการฆ่าตัวตายว่า สูเจ้าจงอย่าฆ่าตัวเอง แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตาต่อพวกเจ้าเสมอ หมายถึงพระเจ้าผู้ทรงเมตตา นอกจากจะไม่พอพระทัยที่บุคคลอื่นสังหารเจ้า พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยที่เจ้าจะสังหารตนเอง
ตามความเป็นจริงการที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงกฎสำคัญ 2 ประการติดต่อกัน ต้องการบ่งชี้ให้เห็นว่าประเด็นที่มีความสำคัญของสังคมกล่าวคือ ถ้าพื้นฐานเศรษฐกิจของประชาชนมิได้วางอยู่บนความมั่นคงถูกต้องแล้ว สังคมจะไม่มีวันเติบโตได้อย่างมั่นคง และจะไม่มีความก้าวหน้า การที่สังคมได้กินทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เท่ากับสังคมได้ฆ่าตัวเองและปลูกฝังความเห็นแก่ตัว เมื่อประชาชนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นสังคมย่อมเลวร้ายไปตามลำดับ
โองการถัดมากล่าวถึงการลงโทษบุคคลที่ละเลยและไม่สนใจต่อกฎเกณฑ์ของพระเจ้า กล่าวว่า ผู้ใดเพิกเฉยกฎหมายของพระองค์ หรือละเมิดและข่มเหง และกินทรัพย์สมบัติของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม หรือฆ่าตัวตาย นอกจากจะถูกโยนเขาเข้าไฟนรกแล้ว ยังถูกเผาไหม้ด้วยความโกรธกริ้วอัลลอฮฺอีกต่างหาก