เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ตัฟซีร ซูเราะฮฺ อัลฟะลัก (ตอนที่๑)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ตัฟซีร ซูเราะฮฺ อัลฟะลัก (ตอนที่๑)


ซูเราะฮฺนี้ถูกประทานลงมาที่มักกะฮฺมีทั้งสิ้น 5 โองการ

ความประเสริฐของซูเราะฮฺ

อัล-กุรอานบทนี้อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประสงค์ที่จะสอนท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดามุสลิมทั่วไป ในการขอการพึ่งพิงไปยังอาตมันสากล (ซาต) ของพระองค์ เพื่อให้พ้นจากความชั่วร้ายทั้งหลาย และมอบหมายตัวเองกับพระองค์ ซึ่งการพึ่งพิงไปยังพระองค์จะทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากความชั่วร้ายและเจ้าของความชั่วร้ายเหล่านั้น

ความประเสริฐในการอ่านอัล-กุรอานบทนี้ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า มีอัลกุรอานประทานลงมายังฉัน ซึ่งไม่เคยมีโองการลักษณะนี้ถูกประทานลงมาก่อนหน้านี้เลย ได้แก่ซูเราะฮฺอัลฟะลัก และอันนาซ

ท่านอิมามมุอัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า บุคคลใดอ่านซูเราะฮฺอัลฟะลัก อันนาซ และซูเราะฮฺอัตเตาฮีดในนมาซวิตรฺ จะมีเสียงกล่าวกับเขาว่า โอ้บ่าวของอัลลอฮฺ จงรู้ไว้เถิดว่าอัลลอฮฺทรงรับนมาซวิตรฺของเจ้าแล้ว

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวกับเศาะฮาบะฮฺคนหนึ่งของท่านว่า เจ้าต้องการให้ฉันสอนอัล-กุุรอาน ๒ ซูเราะฮฺที่ดีที่สุดแก่เจ้าไหม

ตอบว่า แน่นอนโอ้ศาสดาแห่งอัลลอฮฺ

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้สอนซูเราะฮฺอัลฟะลัก และซูเราะฮฺอันนาซแก่เขา และเขาได้อ่านซูเราะฮฺทั้งสองในนมาซศุบฮฺ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวกับเขาว่า ทุกครั้งที่ต้องการลุกขึ้นหรือนอนให้อ่านสองซูเราะฮฺนี้เสมอ

แน่นอนสิ่งที่กล่าวมาย่อมแสดงให้เห็นว่า การกระทำเช่นนี้เป็นของบ่าวที่จิตวิญญาณ ความเชื่อ และการกระทำของเขามีความสอดคล้องกันกับความประเสริฐของซูเราะฮฺ

 

คำอรรถธิบาย

بِِسْمِ اللَّهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปราณียิ่งเสมอ

قُلْ أَعُوذُ بِرَبِّ الْفَلَقِ

จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด ฉันขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ

โองการแรกได้นำเสนอท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เพื่อให้เป็นแบบอย่างสำหรับคนอื่น โดยกล่าวว่า โอ้มุฮัมมัดกล่าวกับพวกเขาซิว่า ฉันขอความคุ้มครองต่อพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณ ซึ่งพระองค์คือผู้ทำลายความมืดมิดแห่งราตรีกาล

مِن شَرِّ مَا خَلَقَ

ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น

จากความชั่วร้ายทั้งหลายที่ปรากฏทั้งจากมนุษย์ ญิน และสัตว์ และตลอดจนเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด และจากจิตใจที่ใฝ่ต่ำของตนเอง

คำว่า ฟะลัก รากเดิมของคำ หมายถึง การทำให้สิ่งของแตกหรือแยกออกจากกัน ดังนั้น เมื่อแสงรุ่งอรุณได้ปรากฏขึ้นเหนือขอบฟ้าจึงทำให้ความมืดมิดของราตรีกาลต้องสลายไป ซึ่งคำนี้ได้ให้ความหมายว่า หมายถึงแสงรุ่งอรุณได้ทอแสงจับขอบฟ้า

บางท่านกล่าวว่า ฟะลัก หมายถึงการเกิดใหม่ของสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ และพืชต่าง ๆ เนื่องจากว่าการเกิดใหม่ของพืชพันธุ์ได้ทำให้เมล็ดพันธุ์ปลิงอกเป็นต้นใหม่ขึ้นมา ไข่ได้ถูกฟักเป็นตัวอ่อนจนแตกออกมาจากไข่นั้น ตลอดจนขั้นตอนการฟักตัวและเกิดเป็นทารกน้อยของมนุษย์ ซึ่งแต่ละขั้นตอนได้บ่งบอกถึงความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

บางท่านให้ทัศนะว่า คำว่า ฟะลัก นั้นมีความหมายครอบคลุมกว้างกว่านี้ ซึ่งความหมายเหล่านั้นได้ครอบคลุมเหนือการสร้างสรรค์ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการเกิดใหม่ของทุกสรรพสิ่งได้ทำลายความไม่มีอยู่ดั้งเดิมของสรรพสิ่งนั้นให้หมดไป รัศมี และการมีอยู่ของสิ่งนั้นได้ปรากฏชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความหมายทั้งสามที่ได้กล่าวมา (การทอแสงรุ่งอรุณ การเกิดขึ้นใหม่ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่) เป็นเหตุผลที่ยืนยันให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ การสร้าง และการบริบาลของพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร ซึ่งการอธิบายพระผู้เป็นเจ้าด้วยพระลักษณะทำนองนี้ทำให้มองเห็นพระลักษณะทีครอบคลุม และลุ่มลึกของพระองค์

การที่อัลกุรอาน กล่าวว่า ชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น ไม่ได้หมายความว่า การสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยอาตมันสากลแล้วชั่วร้าย เนื่องจากการสร้างสรรค์ก็คือการอุบัติให้สิ่งที่ไม่มีอยู่ก่อนเกิดขึ้นมา ซึ่งพระองค์จะสร้างเฉพาะสิ่งที่ดีเท่านั้น อัล-กุราอานกล่าวว่า ผู้ทรงทำให้ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างมันให้ดีงาม

ทว่าความชั่วร้ายจะพบได้ก็ต่อเมื่อ สรรพสิ่งถูกสร้างนั้นได้เฉไฉออกไปจากกฏเกณฑ์การสร้าง หรือแยกออกไปจากกฏเกณฑ์ที่พระองค์ทรงกำหนดขึ้น เช่น เขี้ยวของสัตว์ดุร้ายได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันตนเองให้รอดพ้นจากการทำร้ายของศัตรู หรืออาวุธที่ถูกเตรียมไว้เพื่อป้องกันภัยจากศัตรู ดังนั้น เมื่อนำเอาอาวุธไปใช้ตามหน้าที่ของมันจึงถือว่าดีและถูกต้อง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่นำไปใช้ผิดที่ หรือใช้ประหัตถ์ประหารคนดีถือว่าไม่ถูกต้องและกลายเป็นความชั่วร้าย แน่นอนหากพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่ามีสิ่งของ หรือการกระทำอีกมากมายที่มองภายนอกจะเห็นว่าเป็นสิ่งเลวร้ายแต่ภายในเป็นสิ่งดีงาม เช่น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้นหรือการทดสอบล้วนเป็นการเตือนสติและเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับมนุษย์ สิ่งเหล่านี้คอยย้ำเตือนไม่ให้เผอเรอหรือหลงลืมให้มนุษย์รำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นความเลวร้ายเด็ดขาด แต่การที่มนุษย์คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความเลวร้าย เพราะว่ามันได้สัมพันธ์มายังมนุษย์นั่นเอง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม