เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การวายชนม์(วะฟาต)ของศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

การวายชนม์(วะฟาต)ของศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)

"...วันนี้ข้าได้ให้สมบูรณ์แก่เจ้าแล้วซึ่งศาสนาของพวกเจ้า และข้าได้ให้ครบถ้วนแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งความกรุณาเมตตาของข้า และข้าได้เลือกอิสลามให้เป็นศาสนาแก่พวกเจ้าแล้ว..." (อัล-กุรอาน 5/3)

 

เมื่อปีฮ.ศ.10 ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พร้อมด้วยบรรดามุสลิมและสมาชิกครอบครัวของท่านได้เดินทางไปทำฮัจญ์ครั้งสุดท้ายที่มักกะฮ์ การเดินทางไปกะอฺบะฮ์ครั้งสุดท้ายของท่านนี้เรียกกันว่า "ฮัจญ์อำลา" เพราะหลังจากนั้นเพียงไม่นาน ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ก็ได้เสียชีวิตลง

 

ศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ไปถึงมักกะฮ์เมื่อวันที่ 4 ซุลฮิจญะฮ์ และฏอวาบ (เดินเวียน) รอบกะอฺบะฮ์บนหลังม้าเพื่อจะได้มองเห็นผู้มาแสวงบุญทั้งหมด อิมามอะลี (อ.) ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงจากเยเมนก็อยู่ในหมู่คนเหล่านั้นด้วย หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการฮัจญ์ทั้งหมดแล้ว กองคาราวานของผู้แสวงบุญก็ออกเดินทางกลับมะดีนะฮ์

 

ณ สถานที่ที่เรียกว่า ฆอดีร-คุม ได้มีโองการหนึ่งถูกประทานลงมายังท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ท่านจึงขึ้นยืนบนแท่นเทศนาซึ่งเป็นเพียงอานไม้ที่ใช้นั่งบนหลังอูฐมาเรียงต่อกันเท่านั้น ท่านได้แสดงธรรมเทศนาใจความว่า วาระสุดท้ายของท่านกำลังจะมาถึงแล้ว จากนั้นท่านได้จับเขนของ

อิมามอะลี(อ.) แล้วประกาศด้วยความจริงจังและเสียงดังว่า

 "ใครก็ตามที่ฉันเป็นนายของเขา อะลีก็คือนายของเขาด้วยเช่นกัน ใครก็ตามที่ช่วยเหลือฉันก็ได้ช่วยเหลือเขาด้วย และใครก็ตามที่เป็นศัตรูของฉันก็เป็นศัตรูของเขาด้วย"

 

เมื่อนั้นเองที่โองการข้างต้นได้ถูกประทานลงมายังท่านศาสดาแห่งอิสลาม(ศ.)

 

ผู้แสวงบุญบางคนไม่พอใจในการประกาศนี้และวางแผนการเพื่อพยายามสังหารท่านศาสดา(ศ.) แต่ความพยายามของพวกเขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเทวทูตญิบรีลได้เตือนให้ท่านรู้ถึงอันตราย

 

การเดินทางไปแสวงบุญที่มักกะฮ์อันเป็นหนทางยาวไกลและเหน็ดเหนื่อยได้ทำให้ท่านศาสดา(ศ.) ล้มป่วย แต่ท่านได้หายป่วยแม้จะเพียงระยะเวลาอันสั้น

 

ความกังวลใจของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) หลังจากฮัจญ์อำลาคือเรื่องทางเหนือของแคว้นอาหรับ ไม่มีอันตรายอันใดจากทางใต้ในช่วงนั้น เมื่อมุสลิมไม่สามารถประสบชัยชนะจากสงครามมุตตา ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จึงมีความกังวลเกี่ยวกับอาณาจักรโรมันทางภาคเหนือ

 

ท่านจึงสั่งการให้เตรียมพร้อมต่อสู้กับโรม และท่านได้แต่งตั้งอุซามะฮ์ บิน เซด ชายหนุ่มวัย 20 ปี เป็นผู้บัญชาการกองทัพของมุสลิม

 

เมื่อกลับจากดินแดนโรมัน กองทัพมุสลิมหยุดพักที่สถานที่แห่งหนึ่งใกล้มะดีนะฮ์เพื่อรวมกำลังเพื่อมุ่งหน้าไปยังปาเลสไตน์ ข่าวเรื่องอาการป่วยของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) มาถึงกองทัพนี้ บรรดาทหารมุสลิมที่มีความรักต่อท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จึงได้เลื่อนการเดินทางออกไป

 

มีรายงานว่า ในคืนก่อนที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) จะล้มป่วยหนัก ท่านได้ไปเยือนสุสาน

อัล-บาเกียะอ์ เพื่อขอความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซ.บ.) ให้ประสบแก่ดวงวิญญาณของบรรดาผู้ที่ถูกฝังอยู่ ณ ที่แห่งนั้น หลังจากนั้นท่านจึงนอนป่วยหนักอยู่บนที่นอนในบ้านของท่านหญิงอาอีชะฮ์

วันหนึ่ง เมื่อท่านศาสดา(ศ็อลฯ) มีไข้ขึ้นสูง ท่านได้สั่งให้รินน้ำจากผิวน้ำทั้งเจ็ด ซึ่งนำมาจากบ่อน้ำเจ็ดแห่งบนร่างกายของท่าน เมื่อไข้ลดลง ท่านได้ไปมัสญิดเพื่อนมาซและขอดุอาอฺ(วิงวอน) ขอการอภัยโทษต่ออัลลอฮ์ ให้แก่บาปต่างๆ ของสาวกของท่านและผู้ที่ได้ช่วยเหลือท่านและร่วมอพยพจากมักกะฮ์มามะดีนะฮ์กับท่าน ท่านได้บอกให้ร่วมกันทำความดีแก่มิตรสหายของพวกเขา และอย่าแก้แค้นต่อคู่อริ ท่านได้กล่าวว่า

 "อย่างไรก็ตาม หากฉันได้ทำผิดต่อผู้ใด ฉันก็พร้อมสำหรับการแก้แค้น"

 

ศาสดาแห่งอิสลาม(ศ็อลฯ) ได้จากไปในวันเดียวกันนั้น คือวันที่ 28 ซอฟัร ขณะมีอายุได้ 63 ปี ร่างอันบริสุทธิ์ของท่านได้รับการอาบน้ำศพ

(ฆุซุลญะนาซะฮ์) โดยอิมามอะลี (อ.) และท่านอิบนุ อับบาส (ลูกของลุงของท่านศาสดา) และญาติสนิทจำนวนหนึ่ง บรรดาภรรยาของท่านร้องไห้ด้วยความโศกเศร้าต่อการวายชนม์ของท่าน ผู้ที่ได้พบเห็นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เมื่อช่วงเช้าของวันนั้นแทบไม่เชื่อว่าท่านเสียชีวิตแล้ว

ภายหลังการวายชนม์ของท่าน ประชาชนได้มาร่วมคารวะครั้งสุดท้ายต่อศาสดาแห่งอิสลาม(ศ็อลฯ) มีความไม่เห็นพ้องกันในเรื่องสถานที่ที่จะทำการฝังท่าน บางคนกล่าวว่า ควรจะฝังท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ไว้ภายในมัสยิด ขณะที่บางคนกล่าวว่าควรฝังที่สุสานอัล-บาเกียะอ์

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามเพื่อการศึกษา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม