ปรัชญาแห่งการแต่งตั้งนบี



บิอฺษะฮฺ บิอฺษะฮฺ (การแต่งตั้งท่านศาสดา) คือรัศมีในความมืด, เส้นทางที่อยู่ตรงข้ามกับทางเฉไฉ, ทางนำที่สวนทางกับความหลงผิด และความผาสุกที่ขัดแย้งกับความอัปโชคทั้งหลายที่กักขังวิญญาณและจิตใจมนุษย์ไว้ในที่คับแคบ และนำเส้นทางอันเจิดจรัสแห่งความเป็นมนุษย์ไปเชื่อมต่อกับทางตันอันมืดทึบแห่งชีวิตเดรัจฉาน

ผลพวงของบิอฺษะฮฺมีมากมายเหลือคณานับ เพราะผลพวงของเหตุการณ์อันสำคัญและยิ่งใหญ่นี้ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโลกและได้นำมนุษยชาติไปสู่จุดสูงสุดแห่งเกียรติยศและความสง่างาม อีกทั้งได้ปลดปล่อยมนุษยชาติให้เป็นอิสระจากความเป็นทาสทั้งที่เปิดเผยและซ่อนเร้นนั้น ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้และจะยังคงส่งผลของมันต่อไปในวันพรุ่งของประวัติศาสตร์ และเราจะไม่พบเลยว่าจะมียุคสมัยใดหรือช่วงเวลาใดหรือผู้คนรุ่นใดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอานิสงส์จากกระบวนการของพระผู้เป็นเจ้าดังกล่าวนี้

ด้วยกับการยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าขอบเขตุของวิสัยทัศน์ในการมองผลพวงอันยิ่งใหญ่ของบิอฺษะฮฺนั้นกว้างไกลยิ่งนัก เราจึงนำเอาผลพวงบางประการจากวิสัยทัศน์ของท่านอะมีรุลมุอฺมินีน อะลี (อ) มานำเสนอไว้ ณ ที่นี้

๑) การนำมนุษย์กลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของการแสวงหาพระเจ้า
มนุษยชาติทุกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และภาษาล้วนถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มพร้อมกับธรรมชาติดั้งเดิมแห่งการแสวงหาพระเจ้าทั้งสิ้น ดังที่กุรอานได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า:
فاقم وجهک للدّین حنیفا فطرت الله الّتی فطر النّاس علیها لا تبدیل لخلق الله
“จงเอาศาสนาอันบริสุทธิ์ของพระผู้อภิบาลเป็นทิศทางที่มุ่งไปสู่ นี่คือธรรมชาติที่อัลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาบน (ธรรมชาติ) นั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในการสร้างของอัลลอฮฺ ...” 1
ในทางจิตวิทยาได้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่ามิติด้านศาสนาเป็นมิติหนึ่งของจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ทำให้ทุกคนถวิลหาและศรัทธาต่อพระเจ้าอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ แต่เนื่องจากความลุ่มๆ ดอนๆ ของชีวิต, ปัจจัยทางความคิดที่ยับยั้งมนุษย์จากการให้ความสนใจต่อพระผู้สร้าง รวมทั้งอุปสรรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความหลับใหล อาทิเช่น แรงจูงใจของทรัพย์สิน ตัณหาราคะ อำนาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ และตำแหน่ง จึงมีผลทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ตกอยู่ในสภาพหลับใหลและหลงลม ในเงื่อนไขเช่นนี้นั่นเองที่การแต่งตั้งบรรดาศาสดาและประทานคัมภีร์แห่งฟากฟ้าลงมาโดยพระผู้อภิบาล และความพยายามทางความคิด ทางด้านการเผยแผ่ และทางการปฏิบัติของบรรดาศาสนทูตของพระผู้เป็นเจ้าได้ปลุกให้จิตวิญญาณทั้งหลายตื่นจากความหลับใหลและสนใจพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง

บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เองที่เราสามารถยอมรับได้ว่าขบวนการของบรรดาศาสดามีที่มาจาก “การหยั่งรู้เองเกี่ยวกับพระเจ้า” หรือ “การคุ้นเคยกับพระเจ้า” การหยั่งรู้เองนี้มีรากเหง้าอยู่ในส่วนลึกของธรรมชาติมนุษย์ เมื่อใดก็ตามที่การเตือนให้รำลึกเยี่ยงการเตือนของบรรดาศาสดาได้ปลุกให้จิตสำนึกตามธรรมชาติของมนุษย์ตระหนักถึงพระผู้สร้างของตน แหล่งกำเนิด สถานพำนักที่เขามาจากที่นั่นและความคุ้นเคยในจิตใต้สำนึกที่เขารู้สึกได้ถึงสถานที่แห่งนั้น การตื่นจากความหลับใหลดังกล่าวจะไปสิ้นสุดยังอาตมันอันไพจิตรและสมบูรณ์พร้อมโดยตัวอัตโนมัติ ความรู้สึกที่บรรดาศาสดาได้ปลุกให้ตื่นขึ้นในตัวมนุษย์อันได้แก่ความรู้สึกแสวงหาพระผู้เป็นเจ้าและเคารพภักดีพระองค์ซึ่งได้รับการสอดใส่ไว้ในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน และเป็นความรู้สึกที่ทำให้มนุษย์ปรารถนาความสูงส่งและรังเกียจความต่ำต้อยและความบกพร่องในทุกรูปแบบนั้น จะมอบอุดมการณ์ให้กับมนุษย์และทำให้เขายืนอยู่ข้างสัจธรรมความถูกต้องในฐานะที่มันเป็นสัจธรรมความถูกต้อง มิใช่ในฐานะที่มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตน และทำให้เขาเป็นศัตรูกับสิ่งโมฆะและความเท็จในฐานะที่มันเป็นสิ่งโมฆะและความเท็จ

ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านอะมีรุลมุอฺมินีน อะลี (อ) จึงได้กล่าวถึงปรัชญาและผลพวงหนึ่งของบิอฺษะฮฺไว้ว่า: “อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ทรงส่งบรรดาศาสดาของพระองค์มาเพื่อถามถึงข้อตกลงและพันธสัญญาของธรรมชาติและการสนองตอบต่อพันธสัญญานั้นในตัวมนุษย์” 2
เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ตื่นจากความหลับใหล คุณค่าแห่งเตาฮีดและการฝักใฝ่ความสมบูรณ์จะถูกชุบชีวิตขึ้นในตัวมนุษย์ และชีวิตมนุษย์ในทุกๆ มิติจะบรรลุถึงซึ่งความบริสุทธิ์ ความงดงามและความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณภายใต้ “การรู้จักพระเจ้า” และการเคารพบูชาพระผู้อภิบาล

๒) “ปัญญา” ความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของพระเจ้าที่ถูกมอบให้กับมนุษย์
สำหรับความโปรดปรานและของกำนัลอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้านี้เราไม่สามารถที่จะระบุคุณค่าและสถานภาพที่ตรงตามบทบาทอันจำเป็นยิ่งสำหรับชีวิตมนุษย์ของมันได้ และเราต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่าไม่มีถ้อยคำหรือสำนวนภาษาใดๆ จะสนองตอบต่อสิ่งนี้ได้
แต่อย่างไรก็ตาม เราพอที่จะทำความเข้าใจได้พอสังเขปเกี่ยวกับปัญญาและบทบาทหลักๆ ของมันในชีวิตมนุษย์จากมุมมองอันลึกซื้งของวัฒนธรรมอิสลาม บนพื้นฐานคำสอนของวัฒนธรรมอันสูงส่งนี้ “ไม่มีทรัพย์สินและต้นทุนใดสำหรับมนุษย์จะเทียบเท่ากับสติปัญญาได้” 3 “มนุษย์จะได้รับความดีงามทั้งหลายโดยสื่อของสติปัญญา” 4 “เมื่อปัญญาสมบูรณ์จะบำราบสัญชาตญาณที่เร้าร้อนและพยศได้” 5 ปัญญาคือผู้นำและผู้ชี้ทางมนุษย์ 6 และเป็นสื่อในการรักษาประสบการณ์ที่มีประโยชน์และมีคุณค่า7

ปรัชญาและผลพวงหนึ่งของบิอฺษะฮฺได้แก่การทำให้ปัญญาของมนุษย์สุกงอมและสำแดงบทบาทในทุกๆ เวทีชีวิตในโลกนี้ ปัญญาที่เป็นปัจจัยของการชี้นำ, การเติบโต, การก้าวเดินผ่านขั้นตอนของความสมบูรณ์ และการบรรลุสู่ระดับชั้นของความรุดหน้าและความสูงส่งในมิติต่างๆ ของชีวิตส่วนบุคคล ชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ศีลธรรม การขัดเกลา วิชาการ และอุตสาหกรรม

ท่านอะมีรุลมุอฺมินีน อะลี (อ) ได้กล่าวถึงปรัชญาข้อนี้ไว้ว่า: “อัลลอฮฺทรงแต่งตั้งบรรดาศาสดาเพื่อให้พวกเขากระตุ้นเร้าพลังความสามารถและศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ของสติปัญญามนุษย์ให้สำแดงผลออกมา” 8

บิอฺษะฮฺนำมนุษย์สู่เอกภาพ ๓) บิอฺษะฮฺนำมนุษย์ออกมาจากความแตกแยกไปสู่เอกภาพและความเป็นปึกแผ่น และปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระจาก “การตั้งภาคี” ในมิติทางความเชื่อ ทางสังคม และทางการเมืองด้วยการเป่าวิญญาณแห่ง “เตาฮีด” เข้าไปในจิตวิญญาณของพวกเขา
ไม่เป็นที่กังขาเลยว่าเอกภาพและความเป็นปึกแผ่นคือหนึ่งในความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิตทางสังคม และการมีวิสัยทัศน์ทางสังคมและทางการเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนั้น เป็นที่มาของความเติบโตและการทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดของเกียรติยศและความสง่างาม สังคมที่อยู่ในวังวนของความแตกแยกย่อมพบกับความอ่อนแอและความสั่นคลอน และทางแห่งความหายนะแบบค่อยเป็นค่อยไปของสังคมนั้นจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ลองมองย้อนหลังดูประวัติศาสตร์และพิจารณาดูประสบการณ์อันขมขื่นที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งและความแตกแยก เพื่อที่เราจะได้ถือเอาข้อสรุปที่ว่า “ทุกประชาชาติที่อยู่ในวังวนของความแตกแยกย่อมตกต่ำ และสังคมที่ฝ่าฝันคลื่นลมแห่งความแตกแยกไปได้ย่อมไปถึงฝั่งแห่งอำนาจ” มาเป็นเสบียงสำหรับวันนี้และวันพรุ่งของตน

แม้ว่าผลพวงของการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) จะมีอยู่มากมายและเราต้องพยายามทำให้ผลพวงเหล่านั้นสำแดงผลของมันออกมาก็ตาม แต่ “เอกภาพและความเป็นปึกแผ่น” และการรับมือกับ “ความแตกแยก” นั้นถือเป็นผลพวงที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุด ด้วยเหตุนี้ เราจำเป็นต้องทุ่มเทอย่างที่สุดในการญิฮาดทางความคิดและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยนี้และในทุกยุคสมัยเพื่อทำให้ผลพวงอันเป็นหัวใจสำคัญนี้มีผลในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง



บทความโดย Saleh

ขอขอบคุณ www.islamichomepage.com