ความประเสริฐและคุณลักษณะพิเศษของอับบาส บินอะลี
ความประเสริฐและคุณลักษณะพิเศษของอับบาส บินอะลี
บางคนถือว่า หนึ่งในความประเสริฐและคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญที่สุดของอับบาส (อ.) คือ การได้อยู่ร่วมและการใช้ชีวิตกับอิมามอะลี (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) [๑๐๐]
อับดุรร็อซซาก มุก็อรร็อม ในหนังสือ อัลอับบาส ได้อ้างอิงประโยคหนึ่งจากหนังสือ อัสรารุชชะฮาดะฮ์ ซึ่งเป็นฮะดีษจากบรรดามะอ์ศูมีน กล่าวว่าอั บบาส (อ.) ได้รับประโยชน์จากความรู้ [๑๐๑]
ญะอ์ฟัร นักดี กล่าวเกี่ยวกับเขาว่า อับาสเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำคัญของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในด้านความรู้ ความยำเกรง การวิงวอน และการอิบาดะฮ์ [๑๐๒]
บางคนเชื่อว่า แม้อับบาส (อ.) จะไม่ได้อยู่ในระดับของมะอ์ศูมีน แต่เขาเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดที่สุดกับพวกเหล่านี้ [๑๐๓]
อับบาส (อ.) ได้เห็นอิมามมะอ์ศูมีน 5 ท่าน ได้แก่ อิมามอะลี (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) อิมามฮุเซน (อ.), อิมามซัจญาด (อ.) และอิมามบากิร (อ.) ซึ่งอิมามบากิร (อ.) ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์กัรบะลาอ์ด้วย [๑๐๔] ซัยยิด มุฮัมมัดอะลี รียาฎีย์ นักกวีทางศาสนาในศตวรรษที่ ๑๔ แห่งสุริยคติอิหร่าน ได้กล่าวถึงความประเสริฐนี้ในบทกวีที่มีชื่อเสียงของเขา
ลุงของอิมาม พี่ชายของอิมาม และลูกของอิมาม เขาคือ อับบาส (อ.) อิมามสี่ท่านที่ได้เห็นเขา ต่างจูบมือแห่งความรู้ของเขา [๑๐๕]
บรรดานักเขียนยุคหลังได้เขียนไว้ว่า อับบาส (อ.) ไม่เคยถือว่า ตนเองเทียบเท่ากับพี่ชายทั้งสองของเขา คือ อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) เขาถือว่าทั้งสองเป็นอิมามของเขาและจะต้องเชื่อฟังพวกเขาอย่างเคร่งครัด [๑๐๖] และเขามักเรียกบรรดาอิมาม ด้วยคำว่า يا بن رسول الله (โอ้บุตรของศาสนทูตของอัลลอฮ์) หรือ يا سيدي (โอ้นายของฉัน) และคำเรียกในทำนองนี้ [๑๐๗]
กัลบาซี เขียนในหนังสือ เคาะศออิศ อัลอับบาซียะฮ์ ว่า อับบาส (อ.) มีใบหน้าที่งดงามและน่าประทับใจ นี่คือสาเหตุที่เขาถูกเรียกว่า เกาะมัร บะนีฮาชิม (จันทราแห่งวงศ์วานฮาชิม) [๑๐๘] จากคำบอกเล่าของผู้สังหารอับบาส (อ.) บอกว่า ในกัรบะลาอ์ เขาได้สังหารชายรูปงามผู้หนึ่งที่มีรอยซัจญ์ดะฮ์ ระหว่างสองดวงตาของเขา [๑๐๙]
ตามรายงานบางส่วน ระบุว่า เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีลักษณะพิเศษของบะนีฮาชิม โดยมีร่างกายที่แข็งแกร่งและรูปร่างที่สูงใหญ่ เมื่อเขานั่งบนหลังม้า เท้าของเขาจะลากไปบนพื้นดิน [๑๑๐]
หนึ่งในความประเสริฐของอับบาส (อ.) ที่กัลบาซีอ้างว่า ทั้งมิตรและศัตรูต่างสรรเสริญ และไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ คือ ความกล้าหาญของอับบาส [๑๑๑] บางคนยังยกย่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความกรุณาของเขา ถือเป็นความประเสริฐอีกประการหนึ่ง จนกลายเป็นคำพังเพยในหมู่ผู้คน [๑๑๒]สถานภาพของอับบาส (อ.) ในสวรรค์และความอิจฉาของบรรดาชะฮีดที่มีต่อเขา
อับบาส (อ.) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในสหายที่โดดเด่นและสำคัญที่สุดของอิมามฮุเซน (อ.) ในวันอาชูรอ [๑๑๓] เขาเป็นผู้ถือธงชัยของกองทัพอิมามฮุเซน (อ.) ในเหตุการณ์กัรบะลาอ์ [๑๑๔] อิมามฮุเซน (อ.) ใช้คำว่า ชีวิตของฉันขออุทิศเพื่อเจ้า น้องชายของฉัน เมื่อพูดถึงอับบาส (อ.) [๑๑๕] และยังได้ร้องไห้ต่อศพของอับบาส [๑๑๖] บางคนมองว่า คำพูดและการกระทำเหล่านี้แสดงถึงสถานภาพของอับบาส (อ.) ที่มีต่ออิมามคนที่สามของชีอะฮ์ [๑๑๗]
ในฮะดีษยังได้เน้นย้ำถึงสถานภาพอันพิเศษของอับบาส (อ.) ในสวรรค์ ตามรายงานหนึ่ง อิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาต่อลุงของฉัน อับบาส ผู้ที่ได้สละชีวิตเพื่อพี่ชายของเขา อิมามฮุเซน (อ.) และในหนทางนี้ มือทั้งสองข้างของเขาถูกตัดออก อัลลอฮ์จะทรงประทานปีกทั้งสองข้างให้เขาในปรโลก เพื่อที่เขาจะได้โบยบินไปกับมะลาอิกะฮ์ในสวรรค์ ดังเช่นที่ ญะอ์ฟัร บิน อบีฏอลิบได้รับปีกทั้งสองข้าง [๑๑๘]
อิมามยังกล่าวต่อไปว่า ลุงของฉัน อับบาส มีสถานภาพและตำแหน่งที่สูงส่ง ณ พระผู้เป็นเจ้า แม้กระทั้งบรรดาชะฮีดทั้งหมดในวันกิยามะฮ์ จะอิจฉาเขา [๑๑๙]
นอกจากนี้ อบูนัศร์ อัลบุคอรีย์ ได้รายงานฮะดีษจากอิมามศอดิก (อ.) ที่กล่าวถึงอับบาส (อ.) ด้วยคำว่า นาฟิซุลบะศีเราะฮ์ (ผู้มีสายตาที่ลึกซึ้ง) และอธิบายว่า เขามีศรัทธาที่แข็งแกร่งและได้ทำการญิฮาดเคียงข้างอิมามฮุเซน (อ.) จนกระทั่งเป็นชะฮีด [๑๒๐] ฮะดีษนี้ยังปรากฏในแหล่งข้อมูลอื่นๆ อีกด้วย [๑๒๑]
ซัยยิด อับดุรร็อซซาก มุก็อรร็อม เขียนในหนังสือ มักตะลุลฮุเซน ว่า หลังจากเหตุการณ์อาชูรอ อิมามซัจญาด (อ.) ได้ขอความช่วยเหลือจากชนเผ่าบะนีอะซัด เพื่อฝังศพของชะฮีดทั้งหมดในกัรบะลา แต่สำหรับการฝังศพของอิมามฮุเซน (อ.) และอับบาส (อ.) อิมามซัจญาดไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากพวกเขา และกล่าวว่า มีผู้ที่จะช่วยฉันฝังศพของชะฮีดสองท่านนี้ และฉันไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพวกท่าน [๑๒๒]
อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี อามุลี นักวิชาการและนักค้นคว้าวิจัยชีอะฮ์ เชื่อว่า ความประเสริฐของการได้อยู่ร่วมกับมะลาอิกะฮ์ ซึ่งไม่มีความสุขใดยิ่งไปกว่านี้ ถูกกล่าวถึงในฮะดีษสำหรับบ่าวผู้ทรงคุณธรรมของอัลลอฮ์ คือ อะบุลฟํฏล์ อัลอับบาส (อ.) และรางวัลลี้ลับเช่นนี้ คือการแสดงออกถึงความลี้ลับของการอิบาดะฮ์และการเชื่อฟัง และการเผยให้เห็นถึงจิตวิญญาณของการเป็นบ่าวของพระเจ้า [๑๒๓] บทซิยาเราะฮ์ ตามรายงานจากหนังสือ การวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติและภาพลักษณ์ของอับบาส บิน อะลี มีบทซิยาเราะฮ์ 11 บทที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือต่างๆ สำหรับอับบาส (อ.) [๑๒๔] ซึ่งบางส่วนถูกสรุปมาจากบทซิยาเราะฮ์อื่นๆ [๑๒๕] จากบทซิยาเราะฮ์ทั้ง 11 บทนี้ มี 3 บทที่รายงานมาจากอิมามศอดิก (อ.) [๑๒๖] และมีการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการอ้างอิงบางบทไปยังบรรดามะอ์ศูมีน (อ.) [๑๒๗]
ในบทซิยาเราะฮ์เหล่านี้ มีคำสรรเสริญที่ใช้สำหรับอับบาส (อ.) เช่น อับดุศศอลิห์ ผู้ที่ยอมจำนนต่อตัวแทนของศาสดา (ศ็อลฯ.) และยืนยันในตัวของเขา และมีความจงรักภักดีต่อเขา ผู้เชื่อฟังอัลลอฮ์ ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) และ ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนักรบในสมรภูมิบัดร์และผู้ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ [๑๒๘] นอกจากนี้ บางคนยังอ้างอิงส่วนหนึ่งจากบทซิยาเราะฮ์ นะฮียะฮ์ มุก็อดดะซะฮ์ [หมายเหตุ ๒] ที่กล่าวถึงอับบาส (อ.) ว่า เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสถานภาพอันสูงส่งของเขาจากคำพูดของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ [๑๒๙]
การแสดงความมหัศจรรย์ของอับบาส (อ.)
การแสดงความมหัศจรรย์ของอับบาส (อ.) เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชีอะฮ์ และมีเรื่องเล่าหลายเรื่องเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการขอความช่วยเหลือจากอับบาส (อ.) หนังสือ เคียงข้างความมหัศจรรย์ของท่านอับบาส ได้รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ๗๒ เรื่อง [๑๓๐]
ร็อบบานี คัลคาลีย์ ในหนังสือ ภาพลักษ์ที่โดดเด่นของจันทราแห่งวงศ์วานฮาชิม ได้รวบรวมการแสดงความมหัศจรรย์ของอับบาส (อ.) ไว้ประมาณ ๘๐๐ เรื่อง และในแต่ละเล่ม มีเรื่องราวมากกว่า ๒๕๐ เรื่อง ขณะเดียวกัน บางเรื่องก็ถูกเล่าซ้ำๆ ตามแหล่งข้อมูลเหล่านี้ การแสดงความมหัศจรรย์ของอับบาส (อ.) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหมู่ชีอะฮ์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ศรัทธาจากศาสนาและลัทธิอื่นๆ เช่น อะฮ์ลุสซุนนะฮ์ คริสเตียน ยิว และโซโรอัสเตอร์ อีกด้วย [๑๓๑]
อับบาส (อ.) ในวัฒนธรรมชีอะฮ์
เป็นที่รู้กันดีว่า บรรดาชีอะฮ์มีความผูกพันทางอารมณ์อย่างลึกซึ้งกับอับบาส (อ.) และหลังจากบรรดามะอ์ศูมีนทั้ง ๑๔ ท่านแล้ว พวกเขาถือว่า อับบาส (อ.) มีสถานภาพอันสูงส่งที่สุด [๑๓๒] มุฮัมมัด อัลบัฆดาดีย์ ได้เขียนบทหนึ่งในหนังสือของเขา เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างบรรดาชีอะฮ์กับอะบุลฟัฏล์ (อ.) และเห็นว่า ความรักและความผูกพันของชีอะฮ์ที่มีต่ออับบาส (อ.) นั้นชัดเจนและเด่นชัดอย่างมาก [๑๓๓] ความสัมพันธ์นี้ ทำให้อับบาส (อ.) มีบทบาทที่สำคัญในวัฒนธรรมชีอะฮ์ในด้านการขอความช่วยเหลือ การไว้อาลัย และการสร้างสัญลักษณ์
การตะวัซซุลต่ออับบาส (อ.)
เนื่องจากสถานะอันพิเศษของอับบาส (อ.) ในหมู่ชีอะฮ์ ผู้คนมักขอความช่วยเหลือจากเขาเพื่อให้ความต้องการของตนบรรลุผล และทำการบนบานกับเขา [๑๓๔] บางคนยังเล่าถึงการแสดงความมหัศจรรย์ของอับบาส (อ.) ที่มีต่อชาวอะฮ์ลุสซุนนะฮ์ คริสเตียน ยิว และอาร์เมเนียน [๑๓๕]
การจัดงานไว้อาลัยในวันตาซูอา
ในพิธีกรรมทางศาสนาของเดือนมุฮัรรอม วันที่ ๙ มุฮัรรอม หรือวันตาซูอา เป็นวันที่อุทิศให้กับการไว้อาลัยเพื่ออับบาส (อ.) ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด รองจากวันอาชูรอ ในการจัดพิธีไว้อาลัยของบรรดาชีอะฮ์ในมัสญิด ฮุซัยนียะฮ์ และตะกียะฮ์ วันนี้เป็นวันหยุดทางราชการในประเทศอิหร่านและบางประเทศอิสลาม [๑๓๖]
หนึ่งในกิจกรรมที่มักจัดขึ้นในพิธีกรรมนี้ คือ การอ่านบท สองดามะฮ์ ที่มีชื่อเสียง ซึ่งผู้ไว้อาลัยจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม และร้องบทกลอนสลับกันไปมา
โอ้ชาวฮะรัม ผู้นำและผู้ถือธงชัยยังไม่มา ผู้ถือธงชัยยังไม่มา ผู้ให้น้ำของฮุเซน (อ.) นายและผู้นำ ยังไม่มา ผู้ถือธงชัยยังไม่มา [๑๓๗]
เยามุลอับบาส ในเมืองซันญอน : ทุกปีในช่วงเย็นของวันที่ ๘ มุฮัรรอม ประชาชนจำนวนมากจะรวมตัวกันระหว่างฮุซัยนียะฮ์อะอ์ซัม ในเมืองซันญอน จนถึงอิมามซาเดฮ์ ซัยยิด อิบรอฮีม ในเมืองนี้ เพื่อร้องบทไว้อาลัยและจัดพิธีไว้อาลัย ตามรายงานบางส่วนในปี 1396 ปฏิทินอิหร่าน มีแกะมากกว่า ๙,๗๐๐ ตัว และในปี 1395 มีแกะประมาณ ๑๒,๐๐๐ ตัวที่ถูกเชือดในพิธีกรรมนี้ จากการบนบานของประชาชน [๑๓๘] ในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คนในพิธีกรรมนี้ พิธีกรรมนี้ ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทางจิตวิญญาณของอิหร่าน อีกด้วย [๑๓๙]
การรำลึก ยา กาชิฟัลกัรบ์
การซิกร์ يا كاشفَ الكَرْبِ عنْ وَجهِ الْحُسَين اِكْشِفْ كَرْبي بِحَقِّ أَخيكَ الحُسَين
โอ้ผู้ขจัดความทุกข์จากใบหน้าของฮุเซน ขอให้ท่านขจัดความทุกข์ของฉันด้วยสิทธิของฮุเซน พี่ชายของท่าน ได้รับความนิยมในฐานะหนึ่งในซิกร์ ที่ใช้ขอความช่วยเหลือจากอับบาส (อ.) และบางครั้งมีการแนะนำให้กล่าวซิกร์นี้ ๑๓๓ ครั้ง [หมายเหตุ ๓] [๑๔๐] ซิกร์นี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือฮะดีษของชีอะฮ์แต่อย่างใด
พิธีกรรมและสัญลักษณ์อื่นๆ
การถือธง : ธง เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ใช้ในพิธีไว้อาลัยเพื่อรำลึกถึงอิมามฮุเซน (อ.) และเพื่อระลึกถึงอับบาส (อ.) ผู้ถือธงชัยในกัรบะลาอ์ [๑๔๑]
การให้น้ำ : เป็นหนึ่งในพิธีกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมุฮัรรอม โดยเฉพาะในวันตาซูอาและวันอาชูรอในประเทศอิหร่าน พิธีกรรมนี้บางครั้งจัดในรูปแบบของการร้องบทไว้อาลัยร่วมกัน และบางครั้งจัดในรูปแบบของการให้น้ำแก่ผู้กระหายในระหว่างการเดินขบวนไว้อาลัยหรือในฮุซัยนียะฮ์ ในกรณีแรกจะมีบทกลอนและบทไว้อาลัยโดยเฉพาะ และในกรณีที่สอง ผู้ให้น้ำจะสวมชุดพิเศษและใช้เหยือกหรือถุงน้ำ เพื่อให้น้ำแก่ผู้เข้าร่วมไว้อาลัย [๑๔๒] ผู้เข้าร่วมในฮุซัยนียะฮ์เหล่านี้ จะกลายเป็นผู้ให้น้ำและสวมสัญลักษณ์ของการให้น้ำ พวกเขาจะแบกถุงน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำบนไหล่ข้างหนึ่ง และถือถ้วยในมืออีกข้างหนึ่ง เดินไปมาระหว่างผู้ไว้อาลัยเพื่อให้น้ำแก่ผู้กระหาย และร้องบทกลอนที่กล่าวถึงความกระหายของอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาสหายของเขส เพื่อให้ผู้ดื่มน้ำระลึกถึงอิมาม (อ.) และสหายทั้งหลายของเขามากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ให้น้ำในเมืองซาเวสตาน จังหวัดฟาร์ส จะร้องบทกลอนนี้: จงดื่มน้ำและสาปแช่งยะซีด / จงอุทิศชีวิตให้กับหลุมฝังศพของนายแห่งชะฮีด [๑๔๓] วัฒนธรรมการให้น้ำนี้ เป็นที่นิยมในหลายเมืองของชีอะฮ์ในอิรักและอิหร่าน [๑๔๔] และอิทธิพลของวัฒนธรรมของการให้น้ำนี้ สามารถเห็นได้ในสถานที่ให้น้ำหลายแห่งที่สร้างขึ้นในชื่อของอับบาส (อ.) [๑๔๕]
การสาบานต่ออับบาส (อ.) : การสาบานต่ออับบาส (อ.) เป็นเรื่องปกติในหมู่ชีอะฮ์และแม้แต่ในหมู่ชาวอะฮ์ลุสซุนนะฮ์ บางคนเล่าว่า ชีอะฮ์หลายคนใช้การสาบานต่ออับบาส (อ.) เพื่อยุติความขัดแย้ง และบางคนถือว่า การสาบานต่ออับบาส (อ.) เป็นการสาบานที่แท้จริงเพียงอย่างเดียว [๑๔๖] บางกลุ่มชีอะฮ์ใช้การสาบานต่ออับบาส (อ.) เพื่อยืนยันและเสริมสร้างสัญญา ข้อตกลง และการทำธุรกรรมของพวกเขา [๑๔๗] สาเหตุของการให้ความสำคัญกับการสาบานต่ออับบาส (อ.) คือ ความกล้าหาญ ความจงรักภักดี ความหยิ่งยโส ความสุภาพ และความมีน้ำใจของเขา [๑๔๘] มีเรื่องเล่าบางส่วนเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการสาบานต่ออับบาส (อ.) จากชาวอะฮ์ลุสซุนนะฮ์ โดยเฉพาะชาวอะฮ์ลุสซุนนะฮ์ในอิรัก ตัวอย่างเช่น ฮัรดัน อัต-ติกรีตี อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิรัก เล่าว่า เขาและอะห์มัด ฮะซัน อัล-บักร์ (อดีตประธานาธิบดีอิรัก) ซัดดัม และคนอื่นๆ ต้องการทำสัญญาและเพื่อยืนยันสัญญาของพวกเขาและเพื่อไม่ให้ทรยศกัน พวกเขาตัดสินใจที่จะสาบาน แม้ว่าบางคนจะเสนอให้สาบานที่สุสานของอบูฮะนีฟะฮ์ แต่ในที่สุดพวกเขาตัดสินใจไปสาบานที่ฮะร็อมของอับบาส (อ.) [๑๔๙]
สำรับอะบุลฟัฏล์ : สำรับอะบุลฟัฎล์ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบนบานของชีอะฮ์และเป็นพิธีกรรมของผู้หญิง [๑๕๐] ซึ่งจัดขึ้นโดยการปูสำรับด้วยอาหารและปฏิบัติตามพิธีกรรมและอ่านซิกร์อันเฉพาะ หนึ่งในสำรับที่สำคัญและเป็นที่นิยมมากที่สุดคือ สำรับอะบุลฟัฏล์ [๑๕๑]
อับบาซียะฮ์หรือบัยตุลอับบาส : เป็นสถานที่ซึ่งถูกสร้างขึ้นในชื่อของอับบาส (อ.) เพื่อใช้ในการไว้อาลัย บางคนระบุว่า ในสถานที่เหล่านี้มีการจัดกิจกรรมอื่นๆ มากมายและมีหน้าที่คล้ายกับฮุซัยนียะฮ์ [๑๕๒]
วันทหารผ่านศึก : ในปฏิทินอย่างเป็นทางการของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน วันที่ ๔ เดือนชะอ์บาน ซึ่งเป็นวันถือกำเนิดของ อับบาส (อ.) จึงได้รับการกำหนดให้เป็นวันทหารผ่านศึก [๑๕๓]
มือห้าด้านหรือสัญลักษณ์ค็อมซะฮ์ : ซึ่งใช้ในบางพื้นที่ของชีอะฮ์และติดตั้งบนธง เป็นสัญลักษณ์ของมือที่ถูกตัดขาดของอับบาส (อ.) ชีอะฮ์บางกลุ่มถือว่า เป็นสัญลักษณ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ทั้งห้า [๑๕๔]
สถานที่และสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับอับบาส (อ.)
ในอิหร่านและอิรัก มีสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับความเคารพจากผู้คนตลอดเวลา ผู้คนมักเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ เพื่อทำการบนบานและถวายของขวัญ โดยเชื่อว่า หากพวกเขาขอความช่วยเหลือและทำการบนบาน ความต้องการของพวกเขาจะถูกตอบสนอง
ฮะร็อมของอับบาส (อ.)
สถานที่ฝังศพของอับบาส (อ.) ตั้งอยู่ที่เมืองกัรบะลาอ์ ห่างจากฮะร็อมของอิมามฮุเซน (อ.) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๓๗๘ เมตร และเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญที่สำคัญที่สุดของชีอะฮ์ ระยะทางระหว่างฮะร็อมของอับบาส (อ.) และฮะร็อมของอิมามฮุเซน (อ.) เรียกว่า บัยนุลฮะรอมัยน์ [๑๕๕]
ตามความคิดเห็นของนักประวัติศาสตร์หลายคน รายงานว่า อับบาส (อ.) ถูกฝังไว้ ณ สถานที่ซึ่งเขาเป็นชะฮีดใกล้กับแม่น้ำอัลเกาะมะฮ์ [๑๕๖] เนื่องจากอิมามฮุเซน (อ.) ไม่ได้ย้ายศพของอับบาส (อ.) จากสถานที่เป็นชะฮีด เหมือนกับชะฮีดคนอื่นๆ และไม่ได้นำศพของท่านไปไว้ใกล้กับศพของชะฮีดคนอื่นๆ
นักเขียนบางคน เช่น อับดุรร็อซซาก มุก็อรร็อม เชื่อว่า สาเหตุที่อิมามฮุเซน (อ.) ไม่ได้นำศพของอับบาส (อ.) กลับไปที่กระโจม ไม่ได้เป็นเพราะคำร้องขอของอับบาส (อ.) หรือความไม่สามารถของอิมามในการเคลื่อนย้ายศพ เนื่องจากบาดแผลที่รุนแรง แต่เป็นเพราะอิมามฮุเซน (อ.) ต้องการให้น้องของเขามีสุสานและฮะร็อมแยกต่างหาก [๑๕๗] อย่างไรก็ตาม มุก็อรร็อมไม่ได้กล่าวถึงแหล่งอ้างอิงสำหรับคำกล่าวนี้แต่อย่างใด
มะกอมกัฟฟุลอับบาส
มะกอมกัฟฟุลอับบาส เป็นชื่อของสถานที่สองแห่งที่เชื่อกันว่า มือของอับบาส (อ.) ได้ถูกตัดขาดจากร่างกายและตกลงสู่พื้นดิน สถานที่ทั้งสองแห่งนี้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ นอกฮะร็อมของอับบาส (อ.) และอยู่ที่ทางเข้าของสองซอยที่มีลักษณะคล้ายตลาด ในสถานที่ทั้งสองนี้ มีการสร้างสัญลักษณ์และผู้ซิยาเราะฮ์มักไปเยือนที่นั่น [๑๕๘]
สถานที่จารึกรอยเท้า สถานที่ให้น้ำ และซักกอนิฟาร
ฮะดีษเกี่ยวกับอับบาส (อ.) ถูกจารึกไว้บนผนังของสถานที่ให้น้ำ ในเมืองชะฮ์เร เรซอ (๑๕๙)
สถานที่จารึกรอยเท้า : ในประเทศอิหร่าน มีสถานที่จารึกรอยเท้าหลายแห่งที่ตั้งชื่อตามอับบาส (อ.) ซึ่งผู้คนมักไปเยือนเพื่อทำการบนบานและขอให้ความต้องการของตนเป็นจริง พร้อมทั้งปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ณ สถานที่แห่งนั้นๆ [๑๖๐] ตัวอย่างของสถานที่เหล่านี้ ได้แก่ สถานที่จารึกรอยเท้าในเมืองเซมนอน ฮุวัยเซฮ์ บูเชฮร์ และชีรอซ [๑๖๑] ตามคำกล่าวของคัลคอลีย์ ในเมืองลาร์ มีสถานที่หนึ่งที่ชาวอะฮ์ลุสซุนนะฮ์ ในพื้นที่มักพาครอบครัวไปเยือนในทุกวันอังคารเพื่อขอความต้องการและทำการบนบาน [๑๖๒]
สถานที่ให้น้ำ (ซักกอคอเนฮ์) :
สถานที่ให้น้ำ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางศาสนาของชีอะฮ์ ซักกอคอเนฮ์ เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่สร้างขึ้นในที่สาธารณะเพื่อให้น้ำแก่ผู้สัญจรไปมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาผลบุญ ในวัฒนธรรมชีอะฮ์ ซะกอคอเนฮ์ เเป็นเครื่องเตือนใจถึงการให้น้ำของอับบาส (อ.) ในเหตุการณ์กัรบะลาอ์ ดังนั้น ซักกอคอเนฮ์ จึงมักถูกประดับประดาด้วยชื่อของอิมามฮุเซน (อ.) และอับบาส (อ.) [๑๖๓] บางคนได้จุดเทียนหรือผูกผ้าเพื่อขอให้ความต้องการของตนเป็นจริงที่ซักกอคอเนฮ์เหล่านี้ [๑๖๔] ซักกอคอเนฮ์จำนวนมากที่ตั้งชื่อตามอับบาส (อ.) ได้ถูกสร้างขึ้นในส่วนต่างๆของโลก [๑๖๕]
ซักกอนิฟาร :
ซักกอนิฟาร หรือ ซากีนิฟาร และซักกอทอลอร เป็นสิ่งปลูกสร้างแบบดั้งเดิมในภูมิภาคมาซันดะรอนของอิหร่าน ที่ใช้สำหรับจัดพิธีกรรมไว้อาลัยทางศาสนาและการทำการบนบาน โดยทั่วไปแล้ว สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ จะอยู่ใกล้กับสถานที่ทางศาสนา เช่น มัสญิด ตะกียะฮ์ และฮุซัยนียะฮ์ ซักกอนิฟารเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกับอับบาส (อ.) และบางแห่งถูกเรียกว่า อะบุลฟัฏลีย์ [๑๖๖]
การแสดงภาพใบหน้าของอับบาส (อ.)
มีภาพวาด ที่เป็นที่รู้จักในวัฒนธรรมชีอะฮ์ ซึ่งถูกเรียกว่า เป็นภาพใบหน้าของอับบาส บิน อะลี (อ.) ภาพเหล่านี้ ถูกใช้ในฮุซัยนียะฮ์และตะกียะฮ์ด้วย ขณะที่บรรดามัรญิอ์ตักลีดหลายท่านเห็นว่า การยอมรับภาพเหล่านี้ว่า เป็นภาพของอับบาส (อ.) นั้นไม่สามารถกระทำได้ง่ายๆ แม้ว่า พวกเขาจะระบุว่า การติดตั้งภาพเหล่านี้ในฮุซัยนียะฮ์และตะกียะฮ์ไม่ผิดหลักทางศาสนา หากไม่นำไปสู่การกระทำที่ผิดหรือการไม่ให้ความเคารพ แต่พวกเขาแนะนำให้หลีกเลี่ยงจากการติดตั้งภาพเหล่านี้ [๑๖๗]
ในหลายปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์สองเรื่องที่สร้างขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์อาชูรอ ชื่อว่า มุคตารนอเมะฮ์ และ รัซทอคีซ โดยฉากที่เกี่ยวข้องกับการปรากฏตัวของอับบาส (อ.) ในภาพยนตร์ มุคตารนอเมะฮ์ถูกตัดออก เนื่องจากความไม่เห็นด้วยของบรรดามัรญิอ์บางท่านเกี่ยวกับการแสดงภาพใบหน้าของอับบาส (อ.) [๑๖๘] และภาพยนตร์ รัซทอคีซ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายด้วยเหตุผลเดียวกัน [๑๖๙] [หมายเหตุ ๔]
หนังสืออ้างอิง
เกี่ยวกับบุคลิกภาพของอับบาส (อ.) มีหนังสือหลายเล่มที่ถูกเขียนขึ้น ซึ่งบางส่วน มีดังนี้ :
ชีวิตของจันทราแห่งวงศ์วานฮาชิม: การปรากฏตัวของความรักอันสูงส่ง เขียนโดย : ฮุเซน บัดรุดดีน กรุงเตหะราน สำนักพิมพ์มะฮ์ทอบ ๑๓๘๒
ซากี คูบอน : คำอธิบายชีวประวัติของอะบุลฟัฏล์ อัลอับบาส เขียนโดย : มุฮัมมัด ชะกออี อารอกี เมืองกุม สำนักพิมพ์ มุรตะฎอ ๑๓๗๖
ชีวประวัติของอะบุลฟัฏล์ อัลอับบาส ผู้ถือธงชัยแห่งกัรบะลาอ์ เขียนโดย : ริฎอ ดัชตีย์ กรุงเตหะราน จัดพิมพ์โดยสถาบันพอซีเนะฮ์ ๑๓๘๒
ใบหน้าที่สว่างไสวของจันทราแห่งวงศ์วานฮาชิม อะบุลฟัฏล์ อัลอับบาส เขียนโดย : อะลี ร็อบบานี คัลคอลีย์ เมืองกุม สำนักพิมพ์มักตะบุลฮุเซน ๑๓๗๘ (๓ เล่ม)
อะบุลกุรบะฮ์: คำอธิบายชีวประวัติของอะบุลฟัฏล์ (อ.) เขียนโดย : มะญีด ซุญาญี มุญัรรัด กาชานีย์ กรุงเตหะราน สำนักพิมพ์ซุบฮาน ๑๓๗๙
อับบาส (อ.) ผู้บัญชาการแห่งกัรบะลาอ์ : ชีวประวัติ เขียนโดย : อับบาส ชับกาฮี ชะเบสทะรี กรุงเตหะราน สำนักพิมพ์ฮุรูฟีเยะฮ์ ๑๓๘๑ ช อับบาส บิน อะลี (อ.) เขียนโดย : ญะวาด มุฮัดดิษี ฉบับที่ ๙ จากชุด การทำความรู้จักกับแบบอย่างต่างๆ สำนักพิมพ์บูสตานกิตาบ เมืองกุม พิมพ์ครั้งที่ ๘ ๑๓๙๓ (๑๗๐)
อะบุลฟัฏล์ อัลอับบาส (อ.) : การวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติและภาพลักษณ์ของอับบาส บิน อะลี (อ.)เขียนโดย: ญะวาด คุรัมมียาน สำนักพิมพ์เราะเฮซับซ์ พิมพ์ครั้งแรก ๑๓๘๖