เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

นบีคิฎิร ในอัลกุรอาน

3 ทัศนะต่างๆ 03.3 / 5

 

นบีคิฎิร ในอัลกุรอาน

 

อัลกุรอาน มิได้กล่าวถึงนามของท่านบี คิฎิรโดยตรง ทว่าได้กล่าวถึงท่านในฐานะของบ่าวที่ดีของพระองค์ว่า

 

"عَبْداً مِنْ عِبادِنا آتَيْناهُ رَحْمَةً مِنْ عِنْدِنا وَ عَلَّمْناهُ مِنْ لَدُنَّا عِلْماً"(1)

 

ซึ่งอธิบายให้เห็นถึงตำแหน่งของความเป็นบ่าวที่ดี และมีความรู้อันเฉพาะเจาะจงของเขา

คำรายงานจำนวนมากกล่าวแนะนำถึง ชายผู้มีความรู้คนนี้ว่านามของเขาคือ คิฎิร

 

เขาเป็นผู้รู้คนหนึ่งที่นับถือพระเจ้า และได้รับความเมตตาพิเศษจากพระองค์ เขาได้ล่วงรู้ความลับของระบบการสร้างโลกและสรรพสิ่ง และอีกด้านหนึ่งเขาเป็นครูของมูซา บุตรของอิมรอน แม้ว่าในแง่ต่างๆ มูซาจะมีความรู้เหนือเขาก็ตาม

 

จากรายงานฮะดีษและการตีความของอัลกุรอานเข้าใจได้ว่า เขามีตำแหน่งนบูวัตด้วย, และเป็นหนึ่งในศาสดาที่ถูกประทานลงมา ซึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงแต่งตั้งเขาขึ้นยังหมู่ชนของเขา เพื่อให้เขาทำหน้าที่เชิญชวนประชาชนไปสู่การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว ศรัทธาต่อศาสนทูตแห่งพระองค์ และคัมภีร์แห่งฟากฟ้า ปาฏิหาริย์ของเขาคือ ทุกครั้งที่ต้องการเขาจะกล่าวว่า โดยอนุมัติของอัลลอฮ์แผ่นดินที่แห้งแล้งและไม้ที่แห้งเหี่ยว จงเขียวขจีขึ้นมา แล้วสิ่งนั้นก็เป็นจริงโดยฉับพลัน

 ด้วยเหตุนี้จึงเรียกนามของเขาว่า คิฎิร ซึ่งนามนั้นเป็นสมัญญานามของเขา ชื่อจริงของท่านคือ

 ตาลียา บิน มะลิกาน บิน อาบิร บิน อัรฟัค บิน ซาม บิน นูฮ์[2]

 

อัลกุรอาน มิได้กล่าวถึงเรื่องราวของท่านนบีคิฎิร นอกจากการร่วมเดินทางไปกับมูซา ยังทะเลทั้งสอง นอกจากนั้นยังมิได้กล่าวถึงคุณสมบัติอื่นของท่าน เว้นเสียแต่ที่กล่าวว่า

“ดังนั้น การได้พบเจอบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ซึ่งเราได้มอบความเมตตากับเขา และเราได้ประสอนสั่งความรู้แก่เขา”[3]

 

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 “ส่วนบ่าวผู้บริสุทธิ์ของอัลลอฮ์คนนั้นคือ คิฎิร พระองค์ทรงให้เขามีอายุยืนยาวนาน มิใช่เพื่อการประกาศสาส์นของเขา มิใช่เพื่อคัมภีร์ที่ประทานแก่เขา มิใช่เพื่อให้เขายกเลิกบทบัญญัติของศาสดาก่อนหน้า มิใช่เพื่อตำแหน่งอิมามัตเพื่อให้คนอื่นเชื่อฟังปฏิบัติตาม หรือมิใช่เพราะการเชื่อฟังเขา เนื่องจากพระองค์กำหนดให้เป็นวาญิบ, ทว่าพระผู้อภิบาลแห่งสากโลก ประสงค์ให้อายุขัยของกออิม มะฮฺดี (อ.) ยืนยาวในช่วงเร้นกายของเขา พระองค์ทรงทราบดีว่า จะมีปวงบ่าวจำนวนมากมาย ทักท้วงเกี่ยวกับอายุขัยที่ยืนยาของเขา ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงให้อายุขัยของบ่าวผู้บริสุทธิ์ (คิฎิร) ยืนยาวนาน เพื่อเป็นเหตุผลเปรียบเทียบ และเป็นข้อพิสูจน์สำหรับอายุขัยที่ยาวนานของมะฮฺดี (อ.) เพื่อต้องการให้ข้อท้วงติงของเหล่าผู้ปฏิเสธโมฆะ”[4]

 

มิต้องสงสัยเลยว่าปัจจุบันเขายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งยาวนานเกิน 6000 กว่าปีไปแล้ว [5]

 

วิถีชีวิตของศาสดาคิฎิร การเดินทางไปสู่ทะเลมืด และอายุที่ยาวนานของท่าน เหล่านี้เป็นประเด็นที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ และมีฮะดีษมากมายที่อรรถาธิบายไว้ ท่านสามารถศึกษาได้จากหนังสืออธิบายฮะดีซ[6]

 

การเข้าร่วมในเหตุการณ์เฆาะดีรคุมของศาสดาคิฎิร ณ แผ่นดินเฆาะดีรคุม ช่วงที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์( ซ็อลฯ) ใกล้จะวะฟาต และช่วงชะฮาดัตของท่านอิมามอะลี (อ.) ทั้งหมดถูกบันทึกอยู่ในหนังสือฮะดีษ

 

ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า ศาสดาคิฎิรได้ดื่มน้ำชีวิต จนกระทั่งมีชีวิตยืนยาวนาน และเขาจะไม่ตายจนกว่าเสียงสังข์จะถูกเป่าขึ้น เขาจะมายังพวกเรา ให้สลามพวกเรา เราได้ยินเสียงเขา แต่มองไม่เห็นเขา[7]

 เขาเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ และปฏิบัติทุกขั้นตอนของฮัจญ์ เขายืนอยู่ในแผ่นดินอารอฟะฮ์ในวันอารอฟะฮ์ เพื่อกล่าว อามีน ยามที่มุอินดุอาอฺต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงให้เขาขจัดความแปลกหน้าให้แก่กออิม (อ.) ของเรา ในช่วงที่เขาเร้นกาย และให้เขาเป็นสือเปลี่ยนแปลงความหน้ากลัวเป็นความคุ้นเคย[8]

จากรายงานฮะดีษเข้าใจได้ว่า ศาสดาคิฎิร (อ.) เป็นหนึ่งใน 30 คน ที่ร่วมอยู่กับท่านอิมามมะฮฺดี(อ.) และปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน[9]

 

ศาสดาคิฎิรในอัลกุรอาน

ศาสดามูซา (อ.) ได้ร่วมเดินทางไปกับบุรุษผู้มีความรู้ของพระเจ้า[10] จนกระทั่งได้ลงเรือ แล้วบุรุษผู้มีความรู้นั้นได้เจาะเรือจนทะลุ

 

อีกด้านหนึ่งศาสดามูซาคือ ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า มีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินและชีวิตของผู้คน กำชับความดีและห้ามปรามความชั่วร้าย อีกด้านหนึ่งสติปัญญาสมบูรณ์ของท่าน ไม่อนุญาตให้นิ่งเฉยเมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ท่านจึงได้กล่าวทักท้วงว่า “ท่านเจาะเรือจนทะลุเพื่อต้องการให้คนที่อยู่บนเรือจมน้ำตายกระนั้นหรือ ท่านกำลังทำสิ่งที่เลวร้ายยิ่ง”

 

มิต้องสงสัยเลยว่า บุรุษผู้มีความรู้คนนั้นมิได้มีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้โดยสารเรือจมน้ำตาย แต่อีกด้านหนึ่งการกระทำเช่นนั้น ในทัศนะของศาสดามูซา (อ.) จะไม่มีผลลัพธ์เป็นอย่างอื่น นอกจากการจมน้ำตาย ท่านศาสดาจึงได้ทักท้วงเขา

 

บางรายงานกล่าวว่า ผู้โดยสารบนเรือรับรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาได้ช่วยกันอุดรอยรั่วด้วยสิ่งต่างๆ แต่เรือลำนั้นไม่อาจเป็นเรือที่ดีและสมบูรณ์ได้อีกต่อไป

 

ในเวลานั้น บุรุษผู้มีความรู้ได้จ้องมองมูซาด้วยสายตาอ่อนโยน และพูดว่า “ฉันมิได้บอกท่านหรือว่า ท่านไม่อาจอดทนต่อสิ่งที่ฉันทำได้ดอก”

 

ศาสดามูซา (อ.) ซึ่งได้เอ่ยปากถามออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่ง ท่านสำนึกและคิดถึงข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ จึงได้กล่าวขออภัยต่อครูของตน โดยกล่าวว่า ฉันลืมไป อย่าได้ตำหนิฉันเลย อย่าได้ปฏิบัติกับฉันรุนแรงนัก หมายถึงมันเป็นความผิดพลาด แต่อย่างไรก็ตามด้วยเกียรติของท่าน โปรดอย่าใส่ใจต่อสิ่งที่ฉันท้วงติง

 

การเดินทางโดยเรือของทั้งสองสิ้นสุดลง และทั้งสองได้ขึ้นจากเรือ และเดินทางร่วมกันต่อไป ระหว่างทางทั้งสองได้พบเด็กคนหนึ่ง แต่บุรุษผู้มีความรู้ไม่ได้รีรอเขาได้สังหารเด็กคนนั้นทันที

 

ตรงนี้ศาสดามูซา (อ.) ได้เอ่ยปากถามอีกว่า “ทำไมท่านสังหารมนุษย์ที่มีความบริสุทธิ์สะอาด ทั้งที่ไม่มีความผิดเล่า ท่านกระทำสิ่งที่เลวร้ายอีกแล้ว”

 

บุรุษผู้มีความรู้ได้มองมูซา อย่างใจเย็นและกล่าวประโยคเดิมออกมาว่า “ฉันมิได้บอกท่านหรือว่า ท่านไม่อาจอดทนต่อสิ่งที่ฉันทำได้ดอก”

 

มูซา (อ.) นึกขึ้นได้และรู้สึกอายว่า ทำไมตนถึงผิดสัญญาอีก แม้ว่าจะเกิดจากความหลงลืมก็คาม แต่ก็ครุ่นคิดว่าบางที่คำพูดของครูอาจเป็นจริง เนื่องจากสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปนั้น เกินกว่ามูซาจะอดทนได้ มูซาจึงได้เอ่ยปากกล่าวขอโทษอีกครั้งหนึ่งว่า ขอให้ท่านอภัยให้ฉันอีกครั้งเถิด อย่าใส่ใจต่อความหลงลืมของฉันเลย แต่หลังจากนี้ ถ้าฉันทักท้วงหรือขอคำอธิบายในสิ่งที่ท่านทำอีกละก็ ท่านไม่ต้องให้ฉันร่วมทางไปกับท่านอีก เนื่องจากฉันไร้ความสามารถในความอดทน

 

หลังจากได้พูดตกลงกันอีกครั้ง และได้ให้สัญญาใหม่ มูซาก็ได้ร่วมเดินทางไปกับครูของเขาอีกครั้ง จนกระทั่งไปถึงเมืองหนึ่ง และทั้งสองได้ขออาหารจากชาวเมือง แต่พวกเขาได้หลีกเลี่ยงการต้อนรับทั้งสองในฐานะแขกที่เดินทางไกลมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามูซาและเคฎมิใช่คนที่ต้องการรบกวนคนอื่น ทำให้รู้ว่าทั้งสองมีเสบียงสำหรับการเดินทาง แต่อาจจะหมดระหว่างทาง หรือไม่ก็บูด ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองจึงปรารถนาจะเป็นแขกของชาวเมือง หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้ที่ว่าบุรุษผู้มีความรู้นั้น ตั้งใจขออาหารจากชาวเมือง เพื่อให้บทเรียนใหม่แก่มูซา (อ.)

 

หลังจากนั้น อัลกุรอานได้เสริมว่า ในสภาพนั้นทั้งสองได้พบกำแพงหนึ่งในเมืองที่กำลังจะพังพาบ บุรุษผู้มีความรู้นั้นได้ซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์อีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พังพาบลงมา

 

มูซา (อ.) ในสถานการณ์เช่นนั้นคงจะทั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และหิวเป็นที่สุด และสำคัญไปกว่านั้นท่านคิดว่าบุคคลที่มีเกียรติเช่นท่านและครู ต้องลำบากตรากตรำเพราะการกระทำอันไม่สมควรของชาวเมือง อีกด้านหนึ่งท่านได้เห็นว่า เคฎ นิ่งเงียบมิได้ตอบโต้พฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของประชาชน ท่านได้ซ่อมแซมกำแพงจนเสร็จโดยมิได้เอ่ยปากขอค่าจ้างหรือรางวัลแต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยจะได้นำเงินค่าจ้างไปซื้ออาหารมารับประทาน

 

ด้วยเหตุนี้ ท่านได้ลืมตัวเอ่ยปากถามครูอย่างหลงลืมข้อตกลง และทักท้วงเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยนกว่าครั้งที่แล้ว กล่าวว่า ท่านต้องการค่าจ้างสำหรับงานนี้ไหม

 

ตรงนี้เองที่บุรุษผู้มีความรู้ได้เอ่ยคำพูดสุดท้ายกับมูซา เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเขามั่นใจว่า มูซาไม่อาจอดทนได้กับสิ่งที่เขากระทำ จึงกล่าวขึ้นว่า และนี่ถึงเวลาที่เราต้องแยกทางกันแล้วระหว่างท่านกับเรา แต่ในไม่ช้านี้ฉันจะบอกความลับ ในสิ่งที่ท่านไม่อาจอดทนได้ให้รับรู้ การแยกจากครูผู้มากด้วยความรู้เป็นเรื่องลำบากใจมาก และเป็นความจริงที่ขมขื่น อย่างไรก็ตามมูซาต้องยอมรับในข้อตกลงนั้น

 

นักตัฟซีรที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งนามว่า อบุลฟุตูฮฺ รอซียฺ กล่าวว่า รายงานหนึ่งกล่าวว่า

พวกเขาได้ถามมูซาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ยากลำบากที่สุดในช่วงยุคของท่านคืออะไร กล่าวว่า ฉันได้เห็นความยากลำบากมามาก (ชี้ให้เห็นช่วงวิกฤติสมัยฟาโรห์ และอุปสรรคนานัปการ ความแห้งแล้งในยุคสมัยของบนีอิสราเอล แต่ทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีสิ่งใดยากลำบากเกินกว่า คำพูดของเคฎที่ให้ฉันแยกทางกับเขา มันมีผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง[11]

 

หลังจากได้แยกทางกันระหว่างมูซากับเคฎ เป็นความจำเป็นสำหรับคิฎิรที่ต้องบอกความลับที่มูซาไม่สามารถทนได้ แก่มูซา และในที่สุดแล้วหลังจากการพูดคุยกับเขา มูซาเข้าใจความลับทั้งสามเหตุการณ์ที่ประหลาด ซึ่งพอเป็นกุญแจสำหรับปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย และเป็นคำตอบสำหรับต่างๆ อีกมากมาย

 

 

 

 

ความลับของเหตุการณ์:

หนึ่ง เรื่องราวการเจาะเรือ กล่าวว่า : ในความเป็นจริงการที่ฉันได้เจาะเรือจนทะลุ เพราะเรือเป็นของชนกลุ่มหนึ่งที่ยากจน เขาได้ใช้เรือทำมาหากินในทะเล แต่ฉันต้องการให้เรือนั้นมีตำหนิ (เพราะอะไร) เนื่องจากเบื้องหลังพวกเขามีผู้ปกครองคนหนึ่ง (อธรรมอย่างยิ่ง) เขาจะยึดเรือที่สมบูรณ์แข็งแรงทุกลำที่พบเจอ,

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้รู้ถึงเป้าหมายของการเจาะเรือว่าคืออะไร เป้าหมายที่สำคัญคือการช่วยเหลือพวกเขาให้รอดพ้นจาก ความอธรรมของผู้ปกครองคนหนึ่งที่ชอบปล้นสะดม เนื่องจากเขาเห็นว่าเรือที่มีตำหนิไม่เหมาะสมกับงานของเขา และเขาจะไม่สนใจ สรุปการกระทำเช่นนั้นก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งจำเป็นต้องทำ

หลังจากนั้นศาสดาคิฎิรได้อธิบายความลับที่สองว่า :

 

ส่วนเด็กหนุ่มที่ฉันสังหารไปนั้น บิดามารดาของเขาเป็นผู้มีศรัทธา และฉันก็เกรงว่าพวกเขาจะกลายเป็นผู้จองหองและปฏิเสธศรัทธา ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ให้ประทานบุตรที่ดีสะอาดบริสุทธิ์คนใหม่แก่ทั้งสอง

 

ศาสดาคิฎิร ได้สังหารเด็กหนุ่มก็เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่ดีทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต่อบิดามารดาผู้มีอีมานของเขา ฉะนั้น เขาจึงได้ยุติเหตุการณ์ดังกล่าวไว้

 

รายงานสองสามฮะดีษในแหล่งอ้างอิงต่างๆ กล่าวว่า

 

“อัลลอฮฺ ได้แทนที่เด็กหนุ่มคนนั้น ด้วยเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งมีศาสดา 70 คน ได้สืบสายตระกูลมาจากเธอ”[12]

 

ส่วนโองการสุดท้ายที่กล่าวถึงคือ ศาสดาคิฎิร ได้ดำเนินภารกิจของตนต่อไปด้วยการซ่อมกำแพงจนเสร็จสมบูรณ์ โดยกล่าว่า : ส่วนการที่ฉันซ่อมแซมกำแพงให้ดีขึ้น เนื่องจากเด็กกำพร้าสองคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งใต้กำแพงนั้นมีหีบสมบัติซึ่งเป็นของทั้งสองซ่อนอยู่ บิดาของเด็กทั้งสองเป็นคนดี และพระผู้อภิบาลของท่าน ประสงค์ให้ทั้งสองบรรลุภาวะเสียก่อน แล้วค่อยนำทรัพย์สมบัติออกมา” ซึ่งฉันมีหน้าที่สร้างกำแพงปกป้องทรัพย์สิน เนื่องจากบิดามารดาของเด็กทั้งสองเป็นคนดี ถ้ากำแพงพังพาบลงมาแล้วทรัพย์สินได้ปรากฏออกมา อันตรายจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

สุดท้าย ความสงสัยคลางแคลงใจได้หมดไปจากมูซา แต่เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่กระทำลงไปนั้น เป็นไปตามแผนการ และเป็นหน้าที่ๆ ได้รับมอบหมายมาโดยเฉพาะ จึงเพิ่มเติมว่า “ฉันไม่ได้กระทำงานนี้ตามอำเภอใจของฉัน ทว่าฉันได้กระทำไปตามคำบัญชาของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”

 

ใช่ นี่คือความลับของสิ่งที่เคฎได้กระทำ อันเป็นเหตุให้มูซาไม่สามารถอดทนได้ต่อสิ่งนั้น

 

เรื่องเล่าอุปโลกน์

 

เรื่องราวของศาสดามูซาและศาสดาคิฎิร มีพื้นฐานที่มาตามอัลกุรอานกล่าวไว้ แต่น่าเสียดายว่ารอบๆ นั้นมีเรื่องเล่าที่อุปโลกน์ขึ้นมากมาย บางครั้งเรื่องเล่าเหล่านั้นได้เพิ่มเติมให้เกิดความเสียหาย และเบี่ยงเบนไปจากความจริง จำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มิใช่เพียงแค่รู้เรื่องว่าเรื่องราวเบี่ยงเบนไปแล้วเท่านั้น แต่จำเป็นต้องนำเสนอเรื่องราวตามจริงเพื่อแก้ไขด้วย

 

สำหรับการรับรู้เรื่องราวที่เป็นจริงนั้น จำเป็นต้องนำเอาอัลกุรอานมาเป็นมาตรฐานในการศึกษา[13] หรือแม้แต่ฮะดีซในกรณีที่สามารถยอมรับได้ต้องตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ถ้าฮะดีซที่ขัดแย้งกับความจริงก็ไม่เป็นที่ยอมรับแน่นอน [14]

 

ศึกษาเรื่องราวของศาสดาเคฎเพิ่มเติมได้จาก :

 

1.มัจญ์มะอุลบะยาน เล่ม 6, ตอนอธิบายโองการ 65 และ 85

 

2.นูร อัษษะเกาะลัยน์ เล่ม 3, ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

3.อัลมีซาน เล่ม 13, ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

4.ดุรุลมันซูร และหนังสืออื่นๆ ที่อธิบายโองการดังกล่าว

 

 

แหล่งอ้างอิง

[1บทอัลกะฮฺฟ์ โองการ 65, 82

 

[2] ตัฟซีรอัลมีซาน เล่ม 13, หน้า 584

 

[3] อ้างแล้วเล่มเดิม

 

[4] กะมาลุดดีน, เล่ม 3, หน้า 357, บิฮารุลอันวาร เล่ม 51, หน้า 222

 

[5] เยามุลเคาะลาศ หน้า 157

 

[6] บิฮารุลอันวาร เล่ม 12, หน้า 172, 215, เล่ม 13, หน้า 278-322

 

[7] อย่างไรก็ตามมีรายงานที่บ่งชี้ว่า บรรดาอิมาม (อ.) เห็นศาสดาคิฎิรเช่น รายงานที่บันทึกอยู่ในหนังสือ กะมาลุดดีน เล่ม 2 หน้า 390, บิฮารุลอันวาร เล่ม 13, หน้า 299. ที่กล่าวว่า

 لَمَّا قُبِضَ رَسُولُ اللَّهِ (ص) جَاءَ الْخَضِرُ فَوَقَفَ عَلَى بَابِ الْبَيْتِ وَ فِيهِ عَلِيٌّ وَ فَاطِمَةُ وَ الْحَسَنُ وَ الْحُسَيْنُ (عَ)؛

 

เมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ใกล้เสียชีวิต ศาสดาคิฎิรได้มายังท่าน เขายืนหยุดที่ประตูบ้าน ซึ่งขณะนั้นในบ้านมีท่านอะลี ฟาฏิมะฮฺ ฮะซัน และฮุซัยน์ (อ.)

 

[8] กะมาลุดดีน เล่ม 2 หน้า 390, บิฮารุลอันวาร เล่ม 13, หน้า 299

 

[9] ฆัยบะฮ์ นุอฺมานียฺ, หน้า 99, บิฮารุลอันวาร เล่ม 52, หน้า 158.

 

[10] บทความนี้ถ้ากล่าวถึง บุรุษผู้มีความรู้ของพระเจ้า หรือบุรุษผู้มีความรู้ จุดประสงค์คือ ศาสดาเคฎ

 

[11] ตัฟซีรอบุลฟะตูฮ์ รอซียฺ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

[12] นูร อัษษะเกาะลัยน์ เล่ม 3, หน้า 286-287

 

[13] บทอัลกะอฺฟ์ โองการ 62, 82

 

[14] ตัฟซีร เนะมูเนะฮฺ เล่ม 12, หน้า 486, เป็นต้นไป, ตัฟซีรมีซาน เล่ม 13, ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามเควสท์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม