อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) สัญลักษณ์ของคุณธรรม
อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) สัญลักษณ์ของคุณธรรม
อิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) เป็นอิมาม (ผู้นำ) ท่านที่ 11 ของสายธารอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ท่านถือกำเนิดในวันที่ 8 รอบีอุลอาคิร ฮ.ศ. 232 ท่านเป็นอิมามที่มีอายุที่แสนสั้น และใช้ชีวิตทั้งหมด (28 ปี) ของท่านอยู่ในค่ายทหารในเมืองซามัรรออ์ พร้อมกับท่านอิมามฮาดีย์ (อ.) บิดาของท่าน ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของระบอบปกครองเผด็จการของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ หลังจากการเป็นชะฮีดของบิดาของท่าน สภาพดังกล่าวก็ยังคงดำเนินอยู่ และหลายครั้งที่ท่านถูกคุมขังอยู่ในคุกโดยบรรดาผู้กดขี่แห่งยุคสมัยของท่าน ระยะเวลาในการเป็นอิมามของท่านนั้นเพียงแค่หกปี
ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ก็เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของท่านที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมความดีทั้งมวล และเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากลักษณะที่เลวร้ายทั้งมวล คุณธรรมและความดีงามต่างๆ ของท่านนั้นไม่เพียงแต่หมู่มิตรและผู้ปฏิบัติตามท่านเท่านั้นที่กล่าวขานถึง ทว่าแม้แต่บรรดาศัตรูที่ร้ายกาจและมีความเกลียดชังท่าน ก็ยังต้องเอ่ยปากชื่นชมและยกย่องสรรเสริญท่าน เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ จะกล่าวถึงตัวอย่างหนึ่งไว้ ณ ที่นี้
ท่านอิมาม (อ.) คือภาพสะท้อนของคุณธรรมและความดีงาม
อะห์มัด บินอับดุลลอฮ์ บินคอกอน ซึ่งพ่อของเขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในรัฐบาลของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ เป็นหนึ่งในคณะเสนาบดี เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ต่อต้านและมีความเป็นศัตรูต่อบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เขารับผิดชอบหน้าที่ในการจัดเก็บและดูแลเกี่ยวกับภาษีอากรต่างๆ ในเมืองกุม เขากล่าวว่า
"ฉันไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้จักใครที่อยู่ในแนวทางของอะลีที่อยู่ในเมืองซามัรรออ์นี้ ที่จะเหมือนกับฮะซัน บินอะลี ในด้านความสุขุม ความสงบเสงี่ยม การระมัดระวังตนจากสิ่งต้องห้าม การให้ และความเอื้ออารีของเขา"
วันหนึ่งอบูมุฮัมมัด (อิมามฮะซัน อัสกะรีย์) ได้มาพบอับดุลลอฮ์ บินคอกอน บิดาของฉัน ฉันมองไปยังเขาและได้เห็นคุณลักษณะของความยิ่งใหญ่ ความมีเกียรติและความสง่างามจากใบหน้าของเขา บิดาของฉันออกมาต้อนรับเขาด้วยการให้เกียรติอย่างมาก ฉันรู้สึกไม่พอใจและโกรธต่อการแสดงออกดังกล่าวของบิดาของฉัน ฉันได้ถามถึงเหตุผลของการแสดงความให้เกียรติดังกล่าว และขอให้ท่านบอกให้ฉันรับรู้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นใครกัน บิดาของฉันกล่าวว่า
"เขาเป็นผู้นำของชาวชีอะฮ์ และเป็นบุคคลสำคัญแห่งครอบครัวบนีฮาชิม เขาเป็นผู้คู่ควรต่อฐานะความเป็นผู้นำของประชาชาติ (อุมมะฮ์) เนื่องจากมีคุณลักษณะที่งดงามต่างๆ อย่างเช่น คุณธรรม ความบริสุทธิ์ ความสุขุมเยือกเย็น การระวังตนจากความชั่ว ความสมถะ การไม่ยึดติดต่อชีวิตทางโลก ความเคร่งครัดในอิบาดะฮ์ ความมีมารยาทที่งดงามและความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า"
จากนั้น อะห์มัด บินอับดุลลอฮ์ ได้กล่าวเสริมว่า "อบูมุฮัมมัด อิบนิริฎอนั้น เป็นผู้มีเกียรติและมีคุณลักษณะที่สูงส่งอย่างแท้จริง" (1)
การส่งเสริมการรับใช้บริการสังคมและเพื่อนมนุษย์
อบูฮาชิม กล่าวว่า : วันหนึ่งฉันอยู่กับท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ท่านได้กล่าวว่า
"ในสวรรค์นั้น มีประตูหนึ่งที่ถูกเรียกว่า "มะอ์รูฟ" จะไม่มีใครผ่านเข้าไปทางมันได้ นอกจากอะฮ์ลุลมะอ์รูฟ (ผู้ที่ทำคุณงามความดีต่อสังคมและรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์)"
ทันทีที่ฉันได้ยินคำพูดนี้จากท่านอิมาม (อ.) ฉันได้ขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าและรู้สึกปีติยินดีอย่างมาก เนื่องจากหนึ่งในการกระทำในชีวิตประจำวันของฉันคือการให้บริการต่อประชาชนและตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้ที่ประสบความทุกข์ยาก เมื่อสิ่งที่ฉันคิดอยู่ในใจของฉันจบลง ท่านอิมามได้มองมายังฉันและกล่าวว่า
"ใช่แล้ว! ดังนั้นเจ้าจงปฏิบัติในสิ่งที่เจ้ากระทำต่อไปเถิด เพราะแท้จริงคนที่ทำคุณงามความดีในโลกนี้นั้น พวกเขาจะเป็นมีสถานะอันสูงส่ง (เข้าสู่ประตูมะอ์รูฟ) ในปรโลก โอ้อบูฮาชิมเอ่ย! ขออัลลอฮ์ทรงบันดาลให้เจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากพวกเขา และทรงเมตตาแก่เจ้า" (2)
ในฮะดีษอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ท่านได้กล่าวว่า
"คุณลักษณะสองประการที่ไม่มีสิ่งใดสูงส่งยิ่งไปกว่ามัน นั่นคือ การมีศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์ และการทำคุณประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์" (3)
จะเห็นได้ว่า ในคำสอนของอิสลามนั้น จะเน้นย้ำมิติทางด้านสังคมเป็นอย่างมาก มนุษย์เราจะประสบความสำเร็จในชีวิตและบรรลุสู่ความผาสุกอย่างแท้จริงโดยลำพังไม่ได้ ตราบที่คนรอบตัวเราหรือสังคมของเรายังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุง หน้าที่ของมุสลิมทุกคนคือการร่วมมือกันในการรับใช้และดูแลสังคมของตนเองในด้านต่างๆ อย่างเช่น การขจัดความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่า ในอิสลามเรามีคำสอนในเรื่องของซะกาต คุมส์และการทำทานอาสา (ซอดะเกาะฮ์) เป้าหมายหนึ่งของมันก็คือสิ่งนี้ หรือการกำกับดูแลพฤติกรรมโดยรวมของสังคม อิสลามก็ได้กำหนดคำสอนในเรื่องของ "การกำชับความดี" และ "การห้ามปรามความชั่ว" ไว้
เชิงอรรถ:
(1) อุซูลุลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 503
(2) อัลมะนากิบ, อิบนุชะฮ์ร์อาชูบ, เล่มที่ 4, หน้าที่ 464
(3) ตุหัฟฟุลอุกูล, หน้าที่ 489
ขอขอบคุณ เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน