เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิธีการสร้างอิทธิพลของศัตรูจากวิถีชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิธีการสร้างอิทธิพลของศัตรูจากวิถีชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ)

 

 

บรรดาศัตรูของการปฏิวัติและของอิสลาม หลังจากการรับรู้ถึงระดับชนชั้นต่างๆ ของสังคมแห่งการปฏิวัติ

การตรวจสอบถึงสภาพจิตวิญญาณที่เย็นชาของประชาชนและสมุนรับใช้ของตนที่พร้อมจะรับใช้บริการ

รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำเหนือหมู่มิตรที่ขาดความรู้และความเข้าใจ พวกเขาได้ใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้ามามีอิทธิพลและทำลายรากฐานต่างๆ ที่สำคัญของการปฏิวัติ ในบทความนี้เราจะมารับรู้ถึงวิธีการต่างๆ ของการสร้างอิทธิพลของศัตรู โดยการศึกษาเรียนรู้จากวิถีชีวิตของ

ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ)

 

การล่อใจบรรดาผู้แสวงหาอำนาจ วิธีการนี้มักจะถูกนำมาใช้อยู่เสมอโดยบรรดาศัตรูของการปฏิวัติและศัตรูของอิสลาม ในช่วงเวลาแรกหลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) บรรดาผู้ฉกชิงอำนาจการปกครอง (คิลาฟะฮ์) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ล่อใจคนกลุ่มหนึ่งด้วยกับคำมั่นสัญญาต่างๆ เพื่อให้พวกเขายอมเป็นพยานเท็จต่อต้านท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ) ในกรณีเกี่ยวกับสวนฟะดัก เพื่อที่จะเผชิญหน้าและจัดการอย่างถูกต้องกับวิธีการดังกล่าวนี้ จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ตรวจสอบผู้ที่ถูกล่อใจ ทำให้พวกเขาเลิกล้มการดำเนินการต่างๆ ในการสร้างความเสียหายของพวกเขา การแพร่ข่าวลือ การสร้างกระแสต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการโน้มน้าวและการชักจูงผู้ที่ขาดความรู้และความเข้าใจและกลุ่มคนชั่วที่บ้าบิ่น คืออีกวิธีการหนึ่งในการสร้างอิทธิพลของศัตรู เพื่อที่จะยับยั้งแผนการร้ายเช่นนี้จำเป็นจะต้องค้นหาและเปิดโปงข่าวลือต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และจะต้องทำความรู้จักสาเหตุและตัวการของข่าวลือ และทำให้สาธารณชนได้รับรู้ในสิ่งนั้น

 

ในช่วงเวลาหลังจากท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นั้น พวกเขาได้สร้างข่าวลือว่าสวนฟะดัก คือทรัพย์สินสาธารณะ (บัยตุ้ลมาล) เพื่อทำให้ประชาชนคิดว่า ทำไมสวนฟะดักนี้จะต้องอยู่ในอำนาจครอบครองของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) อบูบักรได้กล่าวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ) โดยมีเป้าหมายเพื่อปลุกปั่นประชาชนว่า เราจะนำรายได้จากสวนฟะดักไปใช้จ่ายในกองทัพของอิสลาม เพื่อการต่อสู้ (ญิฮาด) กับบรรดาศัตรู โดยกล่าวว่า

 

یُقاتِلُ بِهِ الْمُسْلِمُونَ وَ یُجاهِدُونَ الكُفّار

“บรรดามุสลิมจะใช้มันในการรบพุ่ง และการต่อสู้กับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา”                  

 

และอ้างเหตุผลว่า ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ไม่ได้มอบสิ่งนี้ให้แก่นาง ด้วยกับการแพร่ข่าวลือต่างๆ ในลักษณะเช่นนี้ พวกเขาพยายามที่จะทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ถูกโดดเดี่ยวจากประชาชน การกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ศัตรูพยายามที่จะฟื้นฟูค่านิยมทางด้านวัตถุและการกดดันต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อที่ว่าเป้าหมายและค่านิยมทางจิตวิญญาณของการปฏิวัติจะได้ถูกหลงลืมไป และประชาชนเพื่อที่จะได้รับมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ ในทางเศรษฐกิจและการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายและสิทธิต่างๆ ที่มากกว่า พวกเขาจะตั้งปมคำถามเกี่ยวกับการปฏิวัติ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่าต่างๆ ของมัน และรวมตัวกันเพื่อต่อต้านสิ่งนี้ พวกเขานั่งวางเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่และหยุดการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ

 

เพื่อที่จะจัดการกับวิธีการที่เป็นอันตรายนี้ จำเป็นที่จะต้องย้ำเตือนถึงเป้าหมายและคุณค่าต่างๆ ที่แท้จริงของการปฏิวัติ และจำเป็นจะต้องประกาศให้รู้ว่า : ทำไมเราถึงได้ยืนหยัดต่อสู้? และเพื่อความดีงามอะไรที่เราได้พลีชีวิต (ชะฮีด) จำนวนนับพันนับหมื่นคนไป? การปฏิวัติของเราเป็นการปฏิวัติเพื่อปัจจัยทางวัตถุกระนั้นหรือ? เราได้พลีบรรดาเยาวชนทั้งหมดเหล่านี้ไปเพียงเพื่อปัจจัยต่างๆ ทางด้านวัตถุและการมีชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อกระนั้นหรือ? หากเรายืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อคุณค่าต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณและเพื่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ทำไมเราจึงปล่อยให้ความอดอยากและการกดดันทางด้านเศรษฐกิจมาบั้นทอนทำลายการปฏิวัติ? และในการสืบสานแนวทางการขับเคลื่อนของเรานั้น ทำไมจึงปล่อยให้ความลุ่มหลงโลกและสีสันต่างๆ ทางวัตถุแยกเราออกจากการปฏิวัติ?

 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเผชิญหน้ากับการฟื้นฟูค่านิยมต่างๆ ทางด้านวัตถุ จึงจำเป็นที่เราจะต้องฟื้นฟูจิตวิญญาณของการพลีชีพ การญิฮาด การต่อสู้ การเสียสละ และการพลีอุทิศตน เพื่อที่ว่าด้วยการย้ำเตือนถึงคุณค่าต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัตินี้ จะทำให้บรรดาศัตรูของการปฏิวัติพบกับความสิ้นหวัง และทำให้หมู่มิตรของเราเกิดความมั่นใจและศรัทธามั่นต่ออุดมการณ์

 

ในประวัติศาสตร์ยุคแรกของอิสลามเราจะพบว่า พวกเขาหลอกล่อและทำให้คนจำนวนมากหลงผิดโดยการให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ทางด้านวัตถุ ด้วยกับการฟื้นฟูค่านิยมต่างๆ ทางด้านวัตถุ พวกเขาได้ปิดปากและทำให้ประชาชนนิ่งเงียบเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ และพวกเขาก็ฉกชิงสวนฟะดักเพื่อสืบสานนโยบายดังกล่าวนี้ บรรดานักประวัติศาสตร์ทั้งหมดต่างเขียนว่า ในตลอดช่วงเวลาของชัยชนะต่างๆ ที่ผ่านมา ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้มอบที่ดินและไร่สวนจำนวนมากให้แก่ชาวมุฮาญิรีนและชาวอันซ๊อร ภายหลังจากการประทานโองการที่ 26 จากบท อัลอิสรออ์ ที่กล่าวว่า    

 

وآتِ ذالقُربى حَقّهُ

“และจงมอบสิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด”

 

ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงเรียกท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ) ไปพบ และมอบสวนฟะดักให้แก่ท่าน (1) บรรดาแกนนำแห่งซะกีฟะฮ์ ด้วยกับการยึดสวนฟะดักนั้นไม่มีเป้าหมายเป็นอย่างอื่น นอกจากการโดดเดี่ยวท่านอิมามอะลี (อ.) อุมัรได้กล่าวว่า

“หากเรายึดสวนฟะดักมาจากฟาฏิมะฮ์ (ซ) และเมื่อมือของอะลี (อ.) ว่างเปล่าเสียแล้ว ประชาชนก็จะไม่หันหน้าไปหาเขา” (2)

ทั้งๆ ที่อบูบักร์ได้ให้สัตย์สาบานว่า ในการแบ่งทรัพย์สินจากกองคลังอิสลาม (บัยตุ้ลมาล) นั้น เขาจะปฏิบัติตามแนวทางของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่เขากลับไม่มอบสิทธิที่ชัดเจนยิ่งให้แก่อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) (3)

 

การข่มขู่และการสร้างความหวาดกลัว

 

ศัตรูจะอาศัยการข่มขู่และการสร้างความหวาดกลัว เพื่อทำให้พวกที่ต่อต้านการปฏิวัติเกิดความมั่นใจ และผู้ที่สนับสนุนการปฏิวัติที่มีความอ่อนแอและขาดความมั่นคงหนักแน่นก็จะเกิดความท้อแท้สิ้นหวังและถอดใจ วางมือจากการสนับสนุนและการช่วยเหลือคุณค่าอันดีงามต่างๆ ของการปฏิวัติ และออกจากเวทีไปในที่สุด เราจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ยุคแรกของอิสลามจนถึงปัจจุบัน บรรดาศัตรูได้ใช้วิธีการแบบซาตาน (ชัยฏอน) นี้มาโดยตลอด การดึงประชาชนไปสู่การตำหนิประณาม (ฝ่ายสัจธรรม) และการวางตัวเงียบเฉย เพื่อที่จะทำให้การข่มขู่และการสร้างความหวาดกลัวของฝ่ายศัตรูหมดความหมายและไร้ผล จำเป็นจะต้องทำให้จิตวิญญาณของการแสวงหาการเป็นชะฮีด (การพลีชีพในทางของพระเจ้า) การเสียสละและการพลีอุทิศตนมีชีวิตขึ้นในหัวใจทั้งหลาย จะต้องต่อสู้กับความกลัวและความอ่อนแอ ส่งเสริมประชาชนให้ยืนหยัดต่อสู้ อดทนอดกลั้น แข็งกร้าวต่อความอธรรมและผู้กดขี่ เพื่อที่จะทำให้การข่มขู่คุคามต่างๆ ของศัตรูต้องไร้ผล

 

ทันทีทันใดหลังจากการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ขณะที่อบูบักรอยู่ในชานเมืองชนบทแห่งหนึ่งของนครมะดีนะฮ์ คนบางกลุ่มมองเห็นถึงความจำเป็นในการปรากฏตัวอยู่ของเขา ดังนั้นอุมัรจึงชักดาบพร้อมกับตะโกนขึ้นว่า “ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ยังไม่ตาย ใครก็ตามที่กล่าวว่าศาสนทูตจากโลกนี้ไปแล้ว ฉันจะบั่นคอเขา” ด้วยกับคำขู่ดังกล่าวนี่เอง ได้กลายเป็นเครื่องกีดขวางการแพร่กระจายข่าวการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เพื่อรอให้สหายของตนเดินทางกลับมาถึง อุมัรได้กีดขวางการแพร่ข่าวการเสียชีวิต (วะฟาต) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จนกระทั่งอบูบักรผู้เป็นสหายของเขากลับมาถึงนครมะดีนะฮ์ เมื่ออบูบักรเดินทางกลับมาถึงตามเป้าหมายแล้ว เขาได้กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เสียชีวิตแล้ว” เขากลับนิ่งเงียบ! (4)

 

การลอบสังหารทางการเมือง

 

ด้วยวิธีการเช่นนี้ พวกเขาต้องการที่จะทำให้ผู้ต่อต้านการปฏิวัติร่วมมือกับเขาและเกิดความมุ่งหวัง ทำให้ฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติที่ขลาดกลัวและมีหัวใจมดต้องออกจากเวทีไป และจะขจัดบรรดาสหายผู้ซื่อสัตย์ของการปฏิวัติและผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้ให้หมดไป ในการเผชิญหน้ากับวิธีการอันน่าอัปยศอดสูเช่นนี้ของศัตรู จำเป็นที่จะต้องปลุกจิตวิญญาณแห่งการยืนหยัดต้านทานและการปกป้องให้มีชีวิตขึ้น ด้วยกับการแสวงหาการเป็นชะฮีด (การพลีชีพในทางของพระเจ้า) และการมุ่งความสนใจสู่คุณค่าต่างๆ ทางจิตวิญญาณของผู้เป็นชะฮีด (ผู้พลีชีพในทางของพระเจ้า) ประชาชนจะไม่ละทิ้งไปจากสนามแห่งการต่อสู้ และจะยืนหยัดเผชิญหน้ากับศัตรูได้ตลอดไป

 

ดังเช่นในยุคแรกของอิสลาม ในช่วงเวลาที่พวกเขาได้ก่อการรัฐประหารทางด้านการทหาร อุมัรด้วยการให้เหตุผลที่เขากล่าวว่า “ฉันเกรงว่าบรรดาสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่อยู่ในหมู่ประชาชนจะกระจัดกระจายออกไป และจะเป็นเหตุทำให้ประชาชนหลงทาง” เขาจึงประกาศห้ามการเดินทางเข้าออกจากเมืองมะดีนะฮ์ และทำการลอบสังหารทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมิได้หยุดหย่อน (5)

 

ทุกท่านได้เห็นแล้วว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ) ได้ยืนหยัดขึ้นอยู่แนวหน้า โดยยอมพลี “มุฮ์ซิน” ทารกน้อยในครรภ์ของตนเองในแนวทางแห่งการพิทักษ์ปกป้องวิลายะฮ์ (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และไม่รู้สึกย่นย่อแต่อย่างใดทั้งสิ้น ในการสืบสานการต่อสู้นี้ ท่านต้องถูกตบ ถูกเฆี่ยนตีจากฝ่ายศัตรูจนกระทั่งแขนของท่านบวมช้ำ แต่ท่านก็ยังคงต่อสู้ต่อไป เพื่อเปิดโปงแผนการต่างๆ ของศัตรู และเป็นการพิทักษ์ปกป้องผู้นำที่ชอบธรรม

 

 

 

เชิงอรรถ :

[1] อ้างจากหนังสืออ้างอิง 25 เล่ม เพื่อเป็นตัวอย่างเราจะขอชี้ถึง 3 เล่ม จากหนังสืออ้างอิงเหล่านั้น คือ 1) ตัฟซีรฟุร๊อต, หน้าที่ 118 (ฟุร๊อต อัลกูฟี เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 300), 2) ตัฟซีรนูรุษษะกอลัยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 153 (อะรูซี ฮุวัยซี), 3) ตัฟซีรดุรรุลมันซูร, เล่มที่ 4, หน้าที่ 177 (ซุยูฏี สังกัดมัซฮับชาฟิอี เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 911

[2] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 8, หน้าที่ 104 ; ซอเฮียะห์บุคคอรี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 38 ; ฏอบะก๊อต อิบนิซะอัด, เล่มที่ 2, หน้าที่ 86 ; มุสนัดอะห์มัด อิบนิฮันบัล, เล่มที่ 1, หน้าที่ 4 ถึง 14

[3] อัลญัมอุ บัยนัซซอฮีฮัยน์, ฮะมีดี; ชัรหุ อิบนิอะบิลฮะดีด, เล่มที่ 12, หน้าที่ 53

[4] ตารีค อัฏฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้าที่ 1815; ตารีคอิบนิกะซีร, เล่มที่ 5, หน้าที่ 342

[5] ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 457; ตารีคค่อฏีบบักดาดี, เล่มที่ 7, หน้าที่ 453

 

ที่มา : เว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม