อย่าปล่อยโอกาสหลุดลอยไปในเดือนรอมฎอน

อย่าปล่อยโอกาสหลุดลอยไปในเดือนรอมฎอน

          

 

ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

إِنَّ لِرَبِّكُم في أيَّامِ دَهْرِكُم لَنَفَحَاتٍ، أَلاَ فَتَعَرَّضُوا لَهَا

“แท้จริงสำหรับพระผู้อภิบาลของพวกท่านนั้น ทรงมีสิ่งประทานให้ต่างๆ (ที่เป็นพิเศษ) ในตลอดช่วงวันเวลาแห่งอายุขัยของพวกท่าน พึงสังวรเถิด ดังนั้นพวกท่านจงหันหน้ารับมันเถิด” (1)

 

ในอีกฮะดีษหนึ่งท่านกล่าวว่า :

مَنْ فُتِحَ لَهُ بَابُ خَيْرٍ فَلْيَنْتَهِزْهُ ، فَإِنَّهُ لا يَدْرِي مَتَى يُغْلَقُ عَنْهُ

“ผู้ใดก็ตามที่ประตูของความดีงามหนึ่งได้ถูกเปิดแก่เขา ดังนั้นเขาจงฉวยโอกาสมัน เพราะเขาไม่รู้ว่ามันจะถูกปิดลงจากเขาเมื่อใด” (2)

 

 เดือนรอมฎอนเป็นส่วนหนึ่งจากตัวอย่าง (มิศด๊าก) ของ “สิ่งประทานให้เป็นพิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า” หรือ “ประตูแห่งความดี” ที่อัลลอฮ์ทรงเปิดให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ ตามสำนวนการบ่งชี้ของริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ จำนวนมากนั้น ช่วงเวลาที่ดีที่สุด วันและคืนที่ประเสริฐที่สุด และการกระทำอะมั้ลต่างๆ ที่ให้คุณค่ามากที่สุดในช่วงรอบหนึ่งปีนั้นอยู่ในเดือนนี้ และไม่มีโอกาสใดที่จะดีเลิศไปกว่าเดือนนี้สำหรับการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงและการขัดเกลาตน (ตัซกียะตุ้นนัฟซ์) เพราะเดือนนี้เป็นเดือนที่ง่ายดายที่สุดสำหรับการทำความดีและการย้อนกลับมาสู่ตัวเอง ดังนั้นหากเราไม่สามารถเริ่มต้นและกระทำมันให้สำเร็จในเดือนนี้ได้แล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่เราจะไม่เริ่มต้นในช่วงเวลาอื่นๆ

 

 ดังนั้นจงอย่าปล่อยโอกาสอันดีงามนี้หลุดลอยไปจากเรา โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคู่ควรและเหมาะสมจากเดือนนี้

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :

الْفُرْصَةُ تَمُرُّ مَرَّ السَّحَابِ فَانْتَهِزُوا فُرَصَ الْخَيْرِ

“โอกาสนั้นจะผ่านพ้นไปเหมือนกับการผ่านไปของเมฆหมอก ดังนั้นพวกท่านจงฉกฉวยโอกาสของความดีงามเถิด” (3)

 

จงใช้โอกาสของเดือนนี้ในการพัฒนาตนเองและยกระดับจิตวิญญาณของตนเองให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นและสมบูรณ์ขึ้นในทุกๆ วัน ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั้นจะต้องไม่หยุดนิ่ง อย่าว่าแต่ถอยหลังเลย การหยุดนิ่งอยู่กับที่โดยปราศจากการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์กว่านั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิในอิสลาม

            

ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า :

مَنِ اسْتَوَى يَوْمَاهُ فَهُوَ مَغْبُونٌ وَ مَنْ كَانَ آخِرُ يَوْمَيْهِ شَرَّهُمَا فَهُوَ مَلْعُونٌ وَ مَنْ لَمْ يَرَ الزِّيَادَةَ فِي نَفْسِهِ فَهُوَ إِلَى النُّقْصَانِ وَ مَنْ كَانَ إِلَى النُّقْصَانِ فَالْمَوْتُ خَيْرٌ لَهُ مِنَ الْحَيَاةِ

“ผู้ใดที่สองวันของเขาเท่าเทียมกัน ดังนั้นเขาคือผู้ขาดทุน และผู้ใดที่วันสุดท้ายของสองวันของเขาเลวร้ายกว่า ดังนั้นเขาคือผู้ถูกสาปแช่ง และผู้ใดที่ไม่เห็นการเพิ่มพูนในตัวของเขาเอง ดังนั้นเขากำลังดำเนินไปสู่ความบกพร่อง และใครก็ตามที่ดำเนินไปสู่ความบกพร่อง ดังนั้นความตายย่อมดีสำหรับเขามากกว่าการมีชีวิตอยู่” (4)

 

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 7, หน้าที่ 221

(2) อัตเตาฮีด, เชคซอดูก, หน้าที่ 330

(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมาตุ้ลกิซ๊อร เลขที่ 21

(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้าที่ 327

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน