ลัยละตุลก็อดรฺ (รัตติกาลแห่งอานุภาพ) ตอนที่ 5

ลัยละตุลก็อดรฺ (รัตติกาลแห่งอานุภาพ) ตอนที่ 5

 

ปาฐกถาพิเศษโดยท่านฮุจญตุลอิสลาม วัลมุสลีมีน ซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี

 

 

فزت ورب الکعبة

“วันนี้ ข้าประสบความสำเร็จแล้ว โอ้พระผู้อภิบาลแห่งกะอบะฮฺ”

 

อิมามอะลี(อ) ประเสริฐกว่า นบีมูซา(อ)

 

ทำไม อะฮ์ลุลบัยตฺ(อ) จึงถูกเลือกเป็นอิมามในยุคที่สิ้นสุดระบบนบีและระบบนบูวัต ?

และเราจะได้รู้อีกเช่นกันว่า เราเป็นประชาชาติที่อัลลอฮ์(ซบ) รักมากขนาดไหน ?

 

ด้วยสถานะภาพของอิมามอาลี(อ)สูงส่งเป็นอย่างมาก และสถานะภาพนี้ แม้นแต่บรรดาศาสดาจำนวนหนึ่งก็ไปไม่ถึง

อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่เราเกิดมาภายใต้การชี้นำในสถานะภาพนี้ ภายใต้การฮิดายะฮฺของอะฮ์ลุลบัยตฺ(อ) ซึ่งหมายถึง การฮิดายะฮฺที่อัลลอฮ์(ซบ)ทรงเลือกให้กับมนุษย์ยุคนี้

(มนุษย์ยุคสุดท้าย)

 

ดังนั้น เราจะต้องเสริมเพิ่มเติมความรู้ทางศาสนาอยู่เสมอเพราะ ปราศจากความรู้ มนุษย์ไม่สามารถจะเข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮ์(ซบ)ได้

หลังจากนั้น ‘เศาะศออะฮ์ บิน ซูฮาน’ ก็ได้ถามต่ออีกว่า....

ยาอาลี ระหว่างท่านกับนบีมูซา(อ)ใครประเสริฐกว่ากัน ?

‘เศาะศออะฮ์’ ได้เลือกคำถามที่ดีเป็นอย่างมาก โดยเลือกถามถึงบรรดานบีที่เป็น “อูลุล อัศมฺ”

 

ส่วนนบีอื่นท่านไม่ได้ถาม แต่ถึงแม้นบีอาดัม(อ) จะไม่ได้เป็นอูลุลอัศมฺ แต่ก็ถือว่าท่านเป็น “อบุล บะชัร” เป็นต้นกำเนิดของมวลมนุษยชาติ และท่านอิมามก็ได้ตอบเพียงตัวอย่างเดียว ซึ่งในแต่ละความประเสริฐจริงๆแล้ว มีตัวอย่างอย่างมากมาย

 

และหลังจากที่ เศาะศออะฮ์ ได้ถามว่า ระหว่างท่านกับนบีมูซา(อ)ใครประเสริฐกว่ากัน??

ท่านอิมามอาลี(อ)ได้ตอบว่า แน่นอนฉันประเสริฐกว่านบีมูซา(อ)

เศาะศออะฮ์ ถามต่อว่า ท่านประเสริฐกว่านบีมูซา ตรงไหน?

 

ซึ่งแน่นอนท่านประเสริฐกว่านบีมูซา(อ)มากมายหลายเรื่อง แต่ท่านได้บอกเพียงเรื่องเดียว(จะเล่าพอสังเขป) คือ ฉันมีความกล้าหาญกว่านบีมูซา(อ)ผู้ที่โค่นล้มฟิรเอาน์ ผู้ที่เดินไปหาฟิรเอาน์แล้วบอกว่าให้หยุดการกดขี่

เศาะศออะฮ์ ถามต่อว่า ท่านกล้าหาญกว่า ‘นบีมูซา(อ)’ตรงไหน?

 

อิมามก็ได้ยกโองการจากอัลกุรอาน ในซูเราะฮฺ ฏอฮา โองการ 43 ครั้งที่นบีมูซา (อ) ได้รับคำสั่งแรก ว่า

 

 

اذْهَبْ إِلَى فِرْعَوْنَ إِنَّهُ طَغَى

 

ความว่า “เจ้าทั้งสองจงไปหาฟิรเอาน์ แท้จริงเขายโสโอหังมาก”

 

จงไปหา ‘ฟิรเอาน์’ เพราะเขาคือ ผู้ละเมิด

 

ในริวายัตและคำอธิบายของอัลกุรอาน บอกว่า ท่านนบีมูซา(อ)สั่นสะท้าน เกิดความหวั่นกลัวขึ้นมาในหัวใจของท่าน

นบีมูซา(อ) กล่าวว่า ข้าพระองค์คนเดียวหรือ จะต้องกลับไปยังอียิปต์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากโดนไล่ล่า และกลับไปพร้อมกับสาสน์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อโค่นล้มฟิรเอาน์ ผู้ที่ประกาศกับประชาชาติว่า เป็นพระเจ้าผู้ทรงสูงส่ง กระนั้นหรือ ?

 

ที่ท่านนบีมูซา(อ)กังวล เป็นเพราะท่านมีคดีติดตัว เนื่องจากไปฆ่าชาวอียิปต์ ซึ่งด้วยท่านเป็นบนีอิสรออีล ในยุคนั้นในอิยิปต์ถือว่าท่านเป็นชนชั้นทาสด้วย

ซึ่งแน่นอน ชนชั้นทาสฆ่าคนที่อยู่ในชนชั้นนาย ความผิด คือ ประหารชีวิตสถานเดียว ก่อนหน้านี้ท่านถูกไล่ล่ามาเป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงหนีออกจากเมืองอียิปต์

 

เมื่ออัลลอฮ(ซบ)ทรงสั่งให้ท่านกลับไปใหม่ ท่านนบีมูซา(อ)จึงได้วิงวอนรั้งรอ บอกว่าให้ ฮารูน ไปเถิด ฮารูนไม่มีคดี

แต่อัลลอฮ(ซบ) ตรัสว่า เจ้าจงไปทั้งสองคน เมื่อมีคำสั่งสำทับ

แน่นอน ! ไม่ใช่นบีกลัวจนไม่ปฏิบัตหน้าที่ แต่นบีเกิดความกลัว

ครั้งแรก นบีมูซา(อ) บอกว่า ให้ส่งฮารูนไปเถิด เพราะฉันมีคดีอยู่ เกรงว่าเขาจะฆ่าฉันเสียก่อน

 

นี่คือเรื่องท่านอิมามอะลี(อ) ยกขึ้นมา และบอกกับ ‘เศาะศออะฮ์’ ว่า รู้ไหมตอนที่ซูเราะฮ์ บารออะฮ์ ถูกประทานลงมา (ซูเราะฮ์ เตาบะฮฺ) ซึ่งก่อนหน้าลงมาของซูเราะฮ์นี้นั้น เอาเฉพาะโองการแรก คือ ท่านนบีได้ทำสนธิสัญญา ‘ฮุดัยบียะฮ์’สงบศึกกับพวกปฏิเสธ(มุชริกีน)แห่งมักกะฮ์ว่า จะไม่มีการรบราฆ่าฟัน จะไม่มีการละเมิดซึ่งกันและกัน แต่หลังจากที่ทำสนธิสัญญาแล้ว พวกมุชริกีนได้ละเมิดสัญญาบ่อยครั้ง จนกระทั่ง ซูเราะฮ์ บารออะฮ์ ถูกประทานลงมา

 

“บารออะฮ์” คือ การประกาศยกเลิกสัญญาอันนี้

 

ซึ่งเมื่อโองการนี้ลงมา เบื้องต้นท่านนบี(ศ็อลฯ) ได้เลือกคนอื่นไปกันเป็นคณะ แต่อัลลอฮ(ซบ)สั่งหยุด ให้เปลี่ยนคน โดยพระองค์ทรงตรัสด้วยว่า ใครที่ต้องเป็นผู้ไปประกาศและกำชับด้วยว่าต้องไปคนเดียว

 

ซึ่งอาเล็มอุลามาอฺของเรา ก็ยืนยันว่าเหตุผลหนึ่งที่ ซูเราะฮ์บอรออะฮ์ ไม่ขึ้นต้นด้วย “บิสมิลละฮ์” เพราะซูเราะฮ์นี้ซูเราะฮ์เดียวเท่านั้น ที่ท่านอิมามอะลี(อ)เป็นคนประกาศคนแรก

เนื่องจากอาเล็มอุลามาอฺ ได้ให้ทัศนะว่าตัวตนของ “บิสมิลละฮ์” คืออิมามอาลี(อ) ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงต้องเป็นคนไปประกาศด้วยตนเอง

 

ท่านอิมามอะลี(อ)ได้บอกกับ ‘เศาะศออะฮ์’ว่า เมื่อมีคำสั่งว่าให้ฉันไปประกาศคนเดียว ฉันไปประกาศสาส์นนี้ทันที ฉันเข้าไปในเมืองมักกะฮ์เพียงคนเดียว ไปเพื่อประกาศยกเลิกสัญญา ต่อไปนี้เราจะรบราฆ่าฟันกับพวกท่าน

 

ท่านอิมามอะลี(อ) ได้กล่าวเสริมกับ ‘เศาะศออะฮฺ’ อีกว่า “ในขณะที่ในมักกะฮ์นั้น มีผู้คนที่โกรธแค้นฉันอยู่เกือบทุกเผ่า เพราะมีหลายสิบสงคราม ที่หัวหน้าเผ่าของทุกเผ่านั้น ตายด้วยคมดาบของฉัน”

 

ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมของอาหรับ ประเด็นการล้างแค้นให้เผ่าพันธุ์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่อิมามอะลี(อ)มีความกล้าหาญและไม่หวาดกลัวสิ่งใด ท่านเข้าไปในมักกะฮ์เพียงคนเดียว แล้วประกาศซูเราะฮฺ “บะรออะฮ์” เพื่อประกาศยกเลิกสัญญาสันติภาพและประกาศเข้าสู่ภาวะสงครามอีกครั้งหนึ่ง

 

นี่คือ อีกหนึ่งคุณลักษณะที่สำคัญของท่านอิมามอะลี(อ) ด้วยความกล้าหาญและไม่หวาดกลัวสิ่งใดๆ ท่านจึงเป็นหนึ่งในความสำเร็จในการนับถือศาสนาและการเป็นบ่าวของ

อัลลอฮ์(ซบ)อย่างแท้จริง

 

ซึ่งความกล้าหาญในเรื่องของศาสนานั้น ความจริงเป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด ซึ่งเราจะพบกับความกล้าหาญลักษณะนี้ในตัวของอิมามอะลี(อ) และจากชีอะห์ของอะลีเท่านั้น

ในทุกยุคทุกสมัย ความเกรงกลัวนั้น นำมาซึ่งความอัปยศต่างๆอย่างมากมาย

ดังนั้น บุคคลที่เป็นชีอะห์ของอะลี อิบนิ อะบีฏอลิบ จะต้องฝึกฝนความกล้าหาญอันนี้

 

แน่นอน ! ระดับอิมามก็ต้องไปให้ถึงความกล้าหาญที่สูงกว่าบรรดาศาสดา ระดับของเราก็ต้องไปให้ถึงความกล้าหาญตามระดับของเราเอง อย่างน้อยต้องไม่ขี้ขลาด หวาดกลัวลนลาน จนเกิดเป็นชีริกในหัวใจ และความหวาดกลัวบางครั้งทำให้เขาบิดเบือนศาสนา เปลี่ยนแปลงศาสนา บางครั้งทำให้บริบทของศาสนาลดน้อยลง บางครั้งทำให้อำนาจของศาสนาลดน้อยลง บางคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากเขาลดน้อยลง จากตำแหน่งของเขา เนื่องจากความกลัวในสิ่งต่างๆ

 

 ความกลัวเป็นศัตรูกับความศรัทธา

 

ความกลัวเป็นสิ่งขวางกั้นมนุษย์กับอัลลอฮ(ซบ) ความกลัวเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์ไม่มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์(ซบ) ไม่ว่าจะกลัวอะไรก็ตาม ในบางโองการบอก กลัวการค้าจะซบเซา กลัวหลุดจากตำแหน่ง กลัวไม่เป็นสุข ฯลฯ

 

ศาสนานี้ ต้องการความกล้าหาญ โดยเฉพาะยุคนี้ต้องการความกล้าหาญกว่าทุกยุคทุกสมัย ให้สังเกตเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ ในชนวนกาซ่า อิสรอเอลยิวไซนิสต์ก่ออาชญากรรมโดยไม่มีความเกรงใจใดๆต่อสายตามุสลิมทั้งโลก

 

ถามว่า เพราะอะไร ?

 

เพราะมันรู้ว่า มุสลิมโลกจำนวนมากนั้นกลัวมัน กลัวในรูปแบบต่างๆ ไม่กล้าที่จะทำอะไรให้ชัดเจน ถ้าหรือถึงแสดงอะไรออกมา ก็รู้ว่าแสดงออกมาจากความกลัว หรือทำในสิ่งที่ศัตรูอยากจะให้ทำ ตัวอย่างเช่น กษัตย์ซาอุ เมื่อพี่น้องชาวกาซ่าของเราโดนถล่ม โดนฆ่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของมุสลิม เป็นหน้าที่ของอาหรับที่จะต้องส่งกองกำลัง ส่งอาวุธไปช่วยเหลือ แต่ไม่ทำ ! เพราะเขา(อาหรับ)ทำไม่ได้ (กลัวศัตรูไม่อนุญาต)

 

สิ่งนี้ คือ ความกลัว จึงเปลี่ยนเป็นส่งเงินไปแทน ไอ้ที่โดนฆ่าก็โดนฆ่าไป เงินก็เข้าไปเยียวยาคนที่ถูกฆ่าไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ อาหรับทำได้เพียงแค่ส่งเงินห้าร้อยล้านดอลลาร์ (คูน 30 ก็ประมาณหมื่นห้าพันล้านบาทเป็นอย่างน้อย) ซึ่งการทำอย่างนี้ศัตรูไม่โกรธ เพราะไม่ได้มีประโยชน์อันใด

 

ในขณะเดียวกัน พี่น้องชีอะห์ในบาห์เรนลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาล เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม ซาอุดิอาระเบียกลับส่งกองทัพอันยิ่งใหญ่ไปปราบปรามพี่น้องมุสลิมด้วยกันในบาห์เรน ทั้งๆบาห์เรนที่เป็นชาวอาหรับ เป็นมุสลิม เป็นซุนนีเหมือนกับพวกเขา แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแล

 

ส่วนในประเทศอียิปต์ กลับแก้ปัญหาที่เกิดมาจากกลัว ด้วยการไม่ยอมเปิดชายแดนให้พี่น้องกาซ่าหลบหนีจากภัยสงคราม ทั้งๆที่เป็นมุสลิม เป็นพี่น้องอาหรับเหมือนกัน เป็นเพราะกลัวอิสราเอล ทั้งๆที่เขามีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่านี้ แทนที่จะเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ศัตรูได้เห็น แต่กลับไม่ทำและสิ่งเดียวที่ทำ คือ ทำในสิ่งที่ศัตรูไม่กลัว

 

ถ้าวันนี้ ผู้นำมุสลิมที่เป็นอะฮ์ลิลซุนนะฮ์ ประกาศมาตรการที่เข้มแข็ง ในนามของผู้นำในแต่ละประเทศ บอยคอตสินค้าอเมริกา บอยคอตสินค้าอิสราเอล ถ้าการประกาศมาจากบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำ แน่นอน !!! มันมีผลในการกดดันศัตรู หรือให้พี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ออกมาประท้วง ออกมาร่วมตัวกันหน้าสถานทูตอเมริกา เหล่านี้ คือ การออกมาตรการที่ทำให้ศัตรูกลัว

 

การกดดัน สามารถที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมของศัตรูได้ แต่ผู้นำเหล่านั้นไม่ออกมา เพราะกลัว แต่ก็ต้องแสดงอะไรสักอย่างออกมา เพราะถ้าไม่แสดงเลย ก็กลัวว่ามุสลิมจะประณาม ก็ออกคำสั่งให้นมาซฮายัต ให้ขอดุอาอฺ และ ถ้าเป็นไปได้ ถ้ามีสนาม อิสราเอลจัดสนามให้ด้วย ให้เราได้นมาซ นมาซฮาญัต ขอดุอาอฺด้วย แต่ห้ามสาปแช่งอิสราเอล ถ้าดุอาร์สาปแช่งนั้นเป็นการให้ปัญหาได้รับการแก้ไข

 

นี่คือ ความกลัวที่อยู่ในหัวใจของคน ที่เข้ามาอยู่ในตำแหน่งผู้นำทางศาสนา บุคคลแบบนี้ไม่ควรมายืนอยู่ที่จุดที่ชี้เป็นชี้ตายของมวลพี่น้องมุสลิม อิสราเอลรู้แล้วว่าในหัวใจของบุคคลเหล่านี้มีแต่ความหวาดกลัว เพราะพวกเขาไม่เคยเรียนรู้บทเรียน ไม่เคยได้ยินเรื่องราวความกล้าหาญของอาลี อิบนิ อาบีฏอลิบ เขาไม่เคยรู้ถึงความเสียสละของอาลี และลูกหลานของอาลี และบรรดาอะฮ์ลุลุบัยต์(อ)ทั้งสิบสองท่าน

 

ในมุมที่ตรงกันข้าม เราจะพบแต่ความกล้าหาญ ไม่ว่าจากท่านซัยยิดฮาซันนัศรุลลอฮ์ จากบรรดาอาลิมอุลามาอฺ ซึ่งอัลฮัมดุลิลละฮ์ในวันนี้ แม้แต่อาเล็มอุลามาอฺจำนวนมากในอิรัก ยังออกมาถือปืนกล ถืออาพีจี ออกมาเผชิญหน้ากับบรรดาศัตรูกันแล้ว

 

 

ขอขอบคุณเพจมหา'ลัย คมความคิด