ความรู้ที่รับใช้ศาสนา

ความรู้ที่รับใช้ศาสนา

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า :


 لَستُ اُحِبُّ أن أرَى الشّابَّ مِنكُم إلاّ غادِياً في حالَينِ: إمّا عالِماً أو مُتَعَلِّماً
 

 

"ฉันไม่ชอบที่จะเห็นคนหนุ่มจากพวกเธอ (ชาวชีอะฮ์) นอกจากเป็นผู้ที่ตื่นเช้าขึ้นมาในสองสภาพ คือ เป็นผู้รู้ หรือไม่ก็เป็นผู้แสวงหาความรู้" [1]

 

        

ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ ท่านอิมามเรียกร้องเชิญชวนไปสู่การแสวงหาความรู้ เนื่องจากความรู้นั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากในความก้าวหน้าของมนุษย์ วันนี้เราก็จะพบว่าประเทศทั้งหลายที่ได้ยกระดับความรู้และเทคโนโลยีของตนเองให้สูงขึ้น เราก็จะเห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของสังคมของพวกเขา อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าของสังคมทั้งหลายของตะวันตกนั้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความรู้ แต่ทว่าพวกเขาใช้ความรู้นี้ไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุเสียมากกว่า แต่อิสลามถือว่าความรู้และวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องใช้ไปเพื่อยกระดับจิตวิญญาณและศีลธรรม และผลพวงของมันก็คือการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของสังคม

        

ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายถึงสาส์นแห่งความรู้นี้ว่า :


 مَن تَعَلَّمَ العِلمَ وَعَمِلَ بِهِ وَعَلَّمَ لِلّهِ دُعِىَ فى مَلَكُوتِ السَّماواتِ عَظيما فَقيلَ: تَعَلَّمَ لِلّهِ وَعَمِلَ لِلّهِ وَعَلَّمَ لِلّهِ
 

 

"ผู้ใดที่แสวงหาความรู้และนำสู่การปฏิบัติและสอนมัน เพื่อ (ความพึงพอพระทัยของ) อัลลอฮ์ เขาจะถูกเรียกในอาณาจักรแห่งฟากฟ้าอันยิ่งใหญ่ โดยจะมีผู้กล่าวว่า เขาแสวงหาความรู้เพื่ออัลลอฮ์ ปฏิบัติเพื่ออัลลอฮ์ สอนความรู้เพื่ออัลลอฮ์" [2]

 

        

กล่าวคือ ใครก็ตามที่แสวงหาความรู้และใช้ความรู้และความก้าวหน้านี้ไปเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า (โดยปฏิบัติตามความรู้ของตนและถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับคนอื่นๆ ไม่ใช่ว่าจะใช้ความรู้ของตนไปเพื่อเป็นสื่อในการแสวงหาความเหนือกว่าและอวดอ้างตนต่อผู้อื่น และอื่นๆ) เขาจะเป็นผู้มีสถานะอันสูงส่ง ณ พระผู้เป็นเจ้า ในสำนวนของคัมภีรัลกุรอาน ได้กล่าวถึงผู้ที่ใช้ความรู้ไปในหนทางของการรับใช้ศาสนาว่า :


 الَّذينَ يُبَلِّغُونَ رِسالاتِ اللَّهِ وَ يَخْشَوْنَهُ وَ لا يَخْشَوْنَ أَحَداً إِلاَّ اللَّهَ
 

 

"บรรดาผู้ที่ประกาศสาส์นของอัลลอฮ์ และพวกเขากลัวพระองค์ และพวกเขาจะไม่กลัวใครนอกจากอัลลอฮ์" [3]

       

คัมภีร์อัลกุรอานเรียกร้องเราไปสู่การเผยแพร่สาส์นและคำสั่งสอนต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และแน่นอนในเรื่องนี้ภารกิจของบรรดานักศึกษาและนักวิชาการเป็นสิ่งที่หนักหน่วงยิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาคือหางเสือของสังคม ประชาชนทั่วไปจะเฝ้าดูแนวทางปฏิบัติต่างๆ ของพวกเขา ประเด็นสำคัญบางทีอาจจะมีคนคิดว่าสาส์นและคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า คือเรื่องของการนมาซ การถือศีลอด การไปมัสยิดและอื่นๆ ในทำนองนี้ ส่วนบรรดาชนชั้นนำของสังคมซึ่งงานของพวกเขาคือเรื่องของเศรษฐกิจ การบริหารปกครองและอื่นๆ แล้วบุคคลเหล่านี้จะช่วยอะไรได้! ในความเป็นจริงแล้วแนวคิดเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดปัญหามากมายขึ้นในสังคม ในขณะที่ถ้าหากเศรษฐกิจของเรา การบริหารปกครองของเราและมุมมองของเราที่มีต่อเทคโนโลยีดำเนินไปบนแกนของการยึดมั่นในพระผู้เป็นเจ้ามากเท่าใด ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าสังคมจะคงความสะอาดบริสุทธิ์ได้มากยิ่งขึ้น และประชาชนจะทำการบริหารจัดการและสอดส่องดูแลสังคมด้วยจิตสำนึกมากยิ่งขึ้น

      

บรรดาประเทศที่มีระเบิดนิวเคลียร์ ซึ่งได้รับสิ่งเหล่านี้มาโดยอาศัยความรู้และวิทยาการ หากมุมมองของพวกเขาไม่ได้เป็นมุมมองแห่งพระเจ้าแล้ว เป็นไปได้ว่าพวกเขาจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ไปในการเข่นฆ่าและการสังหารหมู่ประชาชน เหมือนดั่งที่สหรัฐอเมริกาได้ทำลายสองเมืองของญี่ปุ่นจนราบเรียบเป็นหน้ากอง ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากความรู้ในทางที่ผิดในลักษณะเช่นนี้นั้นมีให้เห็นอย่างมากมาย ในคัมภีร์อัลกุรอานเราจะอ่านว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้า โปรดประทานให้แก่เราทั้งในโลกนี้และปรโลก” เราต้องการความรู้ที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านศีลธรรมและจิตวิญญาณในสังคม ความเจริญก้าวหน้าและความสุขสบายทางด้านวัตถุ


 وَ مِنْهُم مَّن يَقُولُ رَبَّنَا ءَاتِنَا فىِ الدُّنْيَا حَسَنَةً وَ فىِ الاَخِرَةِ حَسَنَةً وَ قِنَا عَذَابَ النَّار
 

 

"และในหมู่พวกเขา มีผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ โปรดประทานให้แก่เหล่าข้าฯ ซึ่งสิ่งดีงามในโลกนี้ และสิ่งดีงามในปรโลก และโปรดคุ้มครองเหล่าข้าฯ ให้พ้นจากลงโทษแห่งไฟนรกด้วยเถิด" [4]

         

หมายความว่า : โอ้พระผู้เป็นเจ้า! เหล่าข้าฯ ปรารถนาความเจริญรุ่งเรือง ความสงบสุขและปัจจัยอำนวยประโยชน์ต่างๆ ทางโลกนี้ ที่ควบคู่ไปกับความดีงาม (จริยธรรมและจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่และการอิบาดะฮ์) และขณะเดียวกันเหล่าข้าฯ ก็ปรารถนาบั้นปลายชีวิตที่ดีงาม และโดยสื่อของการงานต่างๆ ในโลกนี้จะทำให้เหล่าข้าฯ เข้าสู่สวรรค์ในปรโลก

         

บทสรุป : ยุคของท่านอิมามซอดิก (อ.) เป็นยุคของความขัดแย้งทางมุมมองและความคิดของบรรดานักวิชาการในแผ่นดินต่างๆ ในสมัยนั้นท่านอิมาม (อ.) ถือเอาสิ่งนี้เป็นโอกาสที่ดีงามโดยการอบรมขัดเกลาบรรดาสานุศิษย์จำนวนมากมาย ท่านได้แผ่ขยายศาสตร์ต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ออกไปสู่สังคม

        

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ฉันชอบที่จะเห็นพวกเธออยู่ในสองสภาพคือ การเป็นผู้รู้หรือเป็นผู้แสวงหาความรู้” แต่ท่านได้เตือนเราว่า จำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์จากความรู้ไปเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณและสังคมของตน เราจะตระหนักถึงสาส์นของท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเราได้เห็นว่าประเทศทั้งหลายในโลกที่มีระดับความรู้ที่สูง แต่ทว่าเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรมได้ถูกขับไปอยู่ชายขอบ การแสวงหาความรู้ก็เพื่อเป้าหมายทางวัตถุเพียงเท่านั้น ในขณะที่คัมภีร์อัลกุรอานได้ย้ำเตือนเราว่า “จงแสวงหาทั้งโลกนี้และปรโลก”

 

เชิงอรรถ :
[1] อัลอามาลี, เชคฏูซี, หน้าที่ 303
 
[2] อัซซะรีอะฮ์ อิลา ฮาฟิศุชชะรีอะฮ์ (อธิบายหนังสืออุซูลุลกาฟี) เล่มที่ 1, หน้าที่ 56
 
[3] อัลกรุอานบท อัลอะห์ซาบ โองการที่ 39
 
[4] อัลกรุอานบท อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 201

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth