เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามโคมัยนี (รฎ.) ผู้ปลุกจิตวิญญาณประชาชาติอิสลามสู่ความเป็นเอกภาพ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิมามโคมัยนี (รฎ.) ผู้ปลุกจิตวิญญาณประชาชาติอิสลามสู่ความเป็นเอกภาพ

      

  เมื่อครั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อพยพสู่เมืองมะดีนะฮ์ และสถาปนารัฐอิสลามขึ้นบนพื้นฐานของเอกภาพของบรรดามุสลิม

ดังที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

وَإِن طَائِفَتَانِ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ اقْتَتَلُوا فَأَصْلِحُوا بَيْنَهُمَا

 

และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย (49 : 9)

 

       

ท่านศาสดาให้ความสำคัญอย่างมากในการวางรากฐานของศาสนาที่ต้องวางอยู่บนเอกภาพของผู้ศรัทธา และขจัดความขัดแย้งออกไปจากสังคมที่มีมาอย่างยาวนานและนำมาซึ่งความสามัคคีกลมเกลียวกันของผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

      

ยุคแรกเริ่มของอิสลามที่ต้องเผชิญกับศัตรูรอบด้านทั้งอาณาจักรโรมและเปอร์เซีย และสามารถมีชัยชนะเหนือบรรดาศัตรูทั้งหลายในสงครามต่างๆ นั้นก็เนื่องจากเอกภาพและความสามัคคี

 

     

ท่านอิมามโคมัยนี (รฏ.) คือบุรุษที่ปลุกวิญญาณของอัลอิสลามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ที่นำมาซึ่งเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของประชาชาติอิสลาม ท่านอิมามให้ความสำคัญในเรื่องของเอกภาพอย่างมาก นับตั้งแต่เริ่มต้นความเคลื่อนไหวต่อสู้กับทรราชและความอยุติธรรม อิมามโคมัยนียึดมั่นในแนวทางแห่งเอกภาพของประชาชาติ ซึ่งถือเป็นนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน และท่านกล่าวอยู่เสมอว่า “เอกภาพของประชาชาติอิสลาม จะนำความยิ่งใหญ่และเกียรติยศที่สูญหายไปของอิสลามให้กลับคืนมาอีกครั้ง”

 

  

 สภาพของประชาชาติอิสลามขณะนี้ได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า ศัตรูของอิสลามที่เกลียดกลัวอิสลามได้สร้างความขัดแย้งและความแตกแยกให้เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาทราบดีว่าเอกภาพของประชาชาติอิสลามคือยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งบรรดาอภิมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมยุคใหม่ก็จะไม่สามารถเข้ามามีอิทธิพลและปกครองได้ จึงเป็นเหตุหรือเงื่อนไขทำให้เกิดความขัดแย้งและความแตกแยกในประเทศต่างๆ นับตั้งแต่สงครามอ่าวฯ เหตุการณ์ 11 กันยายน สงครามปราบปรามการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน อิรักและซีเรีย เลบานอนและเยเมน ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประเทศต่างๆ ที่กล่าวมามีความขัดแย้งและเกิดสงครามกลางเมือง โดยมีมูลเหตุขัดแย้งกันทางหลักความเชื่อที่ศัตรูอิสลามได้ช่วยโหมกระพือเพื่อก่อให้เกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนดูเหมือนว่ายากจะเยียวยา

 

    

 อย่างไรก็ตาม แนวทางการเมืองที่แท้จริงต้องวางอยู่บนหลักการของอิสลาม และต้องใช้ความอดทนอดกลั้น ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

 

อิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้ให้ความสำคัญและถือปฏิบัติโดยกล่าวย้ำเสมอว่า “การปกป้องภัยอันตรายจากศัตรูที่จะเข้ามาสร้างความขัดแย้งและแตกแยกในหมู่ประชาชาติอิสลามนั้น คือการที่บรรดาพี่น้องมุสลิมทุกคนไม่ว่าจะเป็นซุนนีหรือชีอะห์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ต้องสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องมุสลิม ซึ่งถือเป็นวาญิบสำหรับมุสลิมทุกคน และอย่าสร้างสิ่งที่เป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกแยก”

 

อิมามโคมัยนี (รฎ.) ถือว่าเอกภาพคือโอสถขนานเอกที่จะเยียวยาปัญหาปาเลสไตน์และปัญหาของบรรดาพี่น้องมุสลิมทั่วโลกไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใดก็ตาม ที่กำลังเกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิมามโคมัยนี (รฏ.) ได้เรียกร้องประชาชาติอิสลามให้เห็นถึงความสำคัญของพี่น้องมุสลิมปาเลสไตน์ ตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอิสลามจะสำเร็จถึง 20 ปี และเมื่อการปฏิวัติสำเร็จท่านก็ได้กำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอนเป็น “วันอัลกุดส์” เพื่อหวังว่ามันจะเป็นแกนสำคัญที่จะทำให้ประชาคมมุสลิมมีความเป็นเอกภาพโดยทั่วกัน และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะรวบรวมบรรดามุสลิมให้เป็นปึกแผ่นมากยิ่งขึ้น

 

     

 อิมามโคมัยนี (รฏ.) กล่าวย้ำเสมอว่า “พี่น้องมุสลิมทั้งหลายจะต้องมีเอกภาพเพื่อผลสำเร็จและชัยชนะ” ผลแห่งชัยชนะคือการล่มสลายของบรรดาศัตรู การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของอิสลาม ตามทรรศนะของอิมามโคมันนี (รฎ.) นั้น เอกภาพคือการค้ำประกันการคงอยู่ของอิสลามอย่างมีเสถียรภาพ

 

   

อิมามโคมัยนี (รฏ.) ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับบรรดาประเทศมุสลิม ภายใต้หลักการศรัทธาเดียวกันและสิ่งที่เป็นหลักการปฏิบัติร่วมกัน ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้เสมอเนื่องด้วยธรรมชาติของแต่ละประเทศ ภูมิประเทศ ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ที่สำคัญผู้ปกครองที่อธรรมและมหาอำนาจที่ไม่ปรารถนาที่จะเห็นเอกภาพและความสามัคคีในหมู่มุสลิม จึงคอยยุยงส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเสมอดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อิมามโคมัยนี (รฏ.) เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเอกภาพในหมู่มวลมุสลิมอยู่เสมอว่า “หากบรรดามุสลิมต้องการที่จะเห็นความยิ่งใหญ่และเกียรติยศของอิสลามเหมือนในยุคเริ่มต้นของอิสลาม ก็จงมาอยู่ภายใต้คำๆ เดียวกัน นั่นคือเอกภาพ แล้วพลังอำนาจและความยิ่งใหญ่จะกลับมาอย่างเหนือความคาดหมาย”

 

   

  อิมามโคมัยนี (รฏ.) กล่าวย้ำถึงสาเหตุที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมเอกภาพและความสามัคคีของประชาชาติอิสลาม ดังที่กล่าวว่า “การที่เราจะทำให้ประชาชาติอิสลามมีเอกภาพ และขับไล่บรรดาอภิมหาอำนาจล่าอาณานิคมยุคใหม่ให้ออกไปจากแผ่นดินของอิสลาม และการที่จะให้พวกเขามีเสรีภาพได้นั้น ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพของประชาชาติอิสลาม”

 

     

ในทัศนะของอิมามโคมัยนี (รฎ.) การเกิดขึ้นของสาธารณรัฐอิสลามในรูปของรัฐบาลที่ทำการปกครอง ก็เนื่องจากเอกภาพของประชาชาติและการรักษาไว้ซึ่งเอกภาพ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นดังที่กล่าวมาแล้วว่า เอกภาพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล

 

รัฐบาลก็คือเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้เกิดเอกภาพเช่นเดียวกัน ความสำคัญและความ สัมพันธ์ของสองประการนี้จะนำมาซึ่งความยุติธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่เกิดจากการยึดในสายเชือกแห่งพระองค์ ดังในพินัยกรรมของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ตอนหนึ่งที่กล่าวเตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตว่า “จงพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ความสัมพันธ์ของท่านกับประเทศมุสลิมอื่นๆ นั้นเกิดขึ้น และจงดำรงการเรียกร้องเชิญชวนมาสู่เอกภาพที่เข้มแข็ง และพึงมั่นใจเถิดว่าพระผู้เป็นเจ้า (ซบ.) นั้นจะทรงช่วยเหลือท่าน”

 

      “ข้าพเจ้าขอแนะนำประชาชาติมุสลิมทั้งหลายว่า อย่าหวังว่าจะมีประชาชาติอื่นใดให้การช่วยเหลือท่านเพื่อให้ได้มาซึ่งอิสลามที่แท้จริง และเข้าถึงสังคมที่จะใช้กฎหมายอิสลามได้ด้วยการช่วยเหลือของคนอื่น ท่านต้องลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อให้เสรีภาพและอิสรภาพที่แท้จริงได้เป็นจริงขึ้นมา ขอให้ผู้รู้ทางศาสนาและผู้เผยแผ่อิสลามในประเทศอิสลามทั้งหลายจงเรียกร้องแก่รัฐบาลของเขาให้เอาตัวให้รอดพ้นจากการผูกพันอย่างไร้อิสรภาพกับบรรดาประเทศมหาอำนาจ และหันกลับมาทำความเข้าใจอันดีกับประชาชนของตนเอง ซึ่งโดยวิธีการนี้เท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันที่จะทำให้เขาได้รับชัยชนะ จงเรียกร้องให้ประชาชาติทั้งมวลมีเอกภาพและกำจัดลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งเป็นลัทธิอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลาม”

 

       “จงเรียกร้องให้พวกเขาจงจับมือประสานกันด้วยความเป็นพี่น้องที่ความศรัทธาในอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นประชาชาติใด ซึ่งอิสลามนั้นได้ระบุถึงเขาเหล่านั้นว่าเป็นพี่น้องของเรา และตราบใดที่วิญญาณแห่งความเป็นพี่น้องนี้ได้กลายเป็นความจริงขึ้นมาในบรรดาประชาชาติมุสลิมและรัฐบาลมุสลิมทั้งหลาย ท่านก็จะได้เห็นประจักษ์ว่าประชาชาติมุสลิมนั้นคือมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่บนพื้นพิภพ ขอให้เราทั้งหลายได้ตั้งความหวังให้ได้เห็นความเป็นพี่น้องดังกล่าวนี้ ให้เราได้หวังในความเท่าเทียมกันระหว่างประชาชาติมุสลิมทั้งมวล ขอพระผู้เป็นเจ้า (ซบ.) จงทรงดลบันดาลให้ความมุ่งหวังนี้สัมฤทธิ์ผล”

 (พินัยกรรมของท่านอิมามโคมัยนี: 73-74)

 

การจัดตั้งรัฐบาลเดียวแห่งประชาชาติอิสลาม

 

    การจัดตั้งพรรคอิสลามในประเทศมุสลิมนั้นย่อมมีอุปสรรคกับการที่ต้องเผชิญกับอำนาจของผู้ปกครอง แต่ด้วยกับความเชื่อมั่นศรัทธาในอุดมการณ์และความร่วมมือของประชาชนก็สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ ในทรรศนะของอิมามโคมัยนี (รฏ.) นั้น เอกภาพคือตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ไปถึงยังเป้าหมายต่างๆ ที่สำคัญได้ ซึ่งมีปัจจัยองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

 

 

    เอกภาพ คือเป้าหมายปลายทางของรัฐบาลทั้งหลาย โดยเฉพาะตามแนวทางอุดมการณ์อิสลามนั้น เป้าหมายสูงสุดของระบบการปกครองแบบอย่างอิสลามที่แท้จริง คือการกระทำที่มุ่งสู่สิ่งที่ทำให้เกิดเอกภาพอย่างแท้จริง หากไม่เป็นเช่นนั้นถือว่าขัดแย้งกับเป้าหมายที่แท้จริง ดังที่อิมามโคมัยนี (ร.ฏ.) ได้อ้างถึงสุนทโรวาทของบรรดามะอ์ศูมีน (อ.) ถึงปรัชญาของการจัดตั้งรัฐบาลอิสลาม ดังที่ท่านหญิงฟาฎิมะฮ์ (อ.) ได้กล่าวว่า “อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงกำหนดให้เชื่อฟังพวกเรา คือระบอบสำหรับประชาชาติ และตำแหน่งอิมามของพวกเรา คือสิ่งค้ำประกันความปลอดภัยจากการแตกแยก”

(จากหนังสือ “ติบยาเนวะห์ดัต ดิดกอเฮ อิมามโคมัยนี” หน้า 157)

 

 

   เอกภาพคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นปัจจัยภายใน แต่ยังมีปัจจัยภายนอกอีกคือประเทศมหาอำนาจล่าอาณานิคมและรัฐบาลสมุนรับใช้ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคของพลังเอกภาพของพี่น้องมุสลิม หากปัจจัยภายในถูกเปลี่ยนแปลงตามความประสงค์ของประชาชน เป็นไปตามรูปแบบของอิสลาม เอกภาพของมวลชนก็เป็นตัวกำหนดสำคัญ ดังที่อิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้กล่าวว่า “หากรัฐบาลประเทศอิสลามทั้งหลาย ตลอดจนสมาชิกสภาผู้แทน มีศรัทธาและปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งอิสลาม และละทิ้งความขัดแย้งในเรื่องเล็กน้อย ไม่สร้างความแตกแยก พวกเขาก็จะมีเอกภาพและมีพลัง”

(ติบยาเนวะห์ดัต ดิดกอเฺฮ อิมามโคมัยนี หน้า 158)

 

      

 ในทรรศนะของอิมามโคมัยนี (รฎ.) ความจำเป็นประการแรกของการมีเอกภาพ คือการลุกขึ้นต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ เพื่อที่จะให้มนุษย์และสังคมได้รับการอบรมและปรับปรุงตามโองการอัลกุรอาน

 

قُلْ إِنَّما أَعِظُکُمْ بِواحِدَةٍ أَنْ تَقُومُوا لِلَّهِ مَثْنی وَ فُرادي‏ ثُمَّ تَتَفَکَّرُوا

 

จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด “ฉันขอเตือนพวกท่านเพียงข้อเดียวว่า พวกท่านจงยืนขึ้นเพื่ออัลลอฮฺ (ครั้งละ) สองคนและคนเดียว แล้วจงไตร่ตรองดู [34:46]

 

       

จากเนื้อหาของโองการที่กล่าวมานี้ บ่งบอกถึงภาระหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่มีต่อสังคม คือการยืนหยัดเพื่ออัลลอฮ์แม้ว่าจะมีเพียงลำพังตนเองก็ตาม เป้าหมายต่างๆ ที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นล้วนแล้วแต่มีองค์ประกอบที่มุ่งไปสู่ทิศทางของเป้าหมาย เมื่อเอกภาพคือเป้าหมาย ความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมกันในสังคมก็คือตัวขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางของเป้าหมายซึ่งก็คือเอกภาพนั่นเอง

 

    

ตามแนวคิดของอิมามโคมัยนี (ร.ฎ) เอกภาพ เสรีภาพและความยุติธรรมในสังคม คือสิ่งสำคัญที่จะสร้างเอกภาพในหมู่ประชาชาติอิสลามและบรรดาผู้ถูกกดขี่ทั้งมวล การมีหลักความเชื่อที่แตกต่างกันไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรคในการสร้างเอกภาพ ดังเช่นปัญหาปาเลสไตน์และการปลดปล่อยอัลกุดส์ ซึ่งถือว่ามุสลิมทั้งมวลมีความเห็นสอดคล้องตรงกัน หรือแม้แต่ประชาชาติอื่นๆ ก็เห็นคล้อยตามท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ในประเด็นดังกล่าวนี้

 

       

อานิสงส์ของเอกภาพหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลในอิหร่าน ถือเป็นรูปแบบที่สำคัญและเป็นความหวังของบรรดามุสลิมและผู้ถูกกดขี่ทั้งมวล การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านได้นำสาส์นแห่งความเป็นเอกภาพมาสู่มนุษยชาติ อิมามโคมันนี (รฎ.) ได้ย้ำเตือนประชาชนชาวอิหร่านว่า “พี่น้องมุสลิมชาวอิหร่านต้องมุ่งมั่นบากบั่นในการสร้างเอกภาพในประชาชาติอิสลาม โดยให้ถือว่าเป็นประชาชาติเดียวกัน และให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และอย่าให้การถือพรมแดนระหว่างประเทศเป็นเหตุในการแบ่งแยกดวงใจทั้งหลายออกจากกัน”

 (ซอฮิเฟะนูร, เล่มที่ 10, หน้า 223)

 

   

 ท่านอิมามคือผู้ต่อต้านความแตกแยก และให้ความสำคัญในเรื่องความเป็นเอกภาพและการร่วมมือกันของพี่น้องมุสลิม บางครั้งท่านอิมามให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวถึงขนาดที่ท่านยอมปล่อยวางเกี่ยวกับอะฮ์กาม (หลักปฏิบัติ) บางอย่างของชีอะฮ์ด้วยซ้ำไป เช่นครั้งหนึ่งที่ท่านอิมามได้ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่อง “ฮัจญ์” ในการประกาศสาส์นถึงบรรดานักแสวงบุญทั้งหลาย ซึ่งท่านกล่าวว่า

 

     “เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักแสวงบุญชาวอิหร่านและชีอะฮ์ในประเทศต่างๆ ที่ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำอันโง่เขลาบางอย่าง อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่พี่น้องมุสลิม และเป็นความจำเป็นสำหรับพวกท่านที่จะต้องเข้าร่วมนมาซญะมาอะฮ์กับพี่น้องซุนนี หลีกเลี่ยงการนมาซที่บ้านพักและการวางดินนมาซโดยเด็ดขาด”

(ซอฮิเฟะนูร, เล่มที่ 10, หน้า 61)

 

   

ในอีกที่หนึ่งท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ได้กล่าวว่า “การวุกูฟทั้งสองในพิธีฮัจญ์ (อะเราะฟะฮ์และมัชอะริลฮะรอม) ให้ถือปฏิบัติตามกฎของอะฮฺลิซุนนะฮ์ แม้ว่าจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงก็ตาม”

(ซอฮิเฟะนูร, เล่มที่ 10, หน้า 62)

 

    

ท่านอิมาม (รฎ.) กล่าวว่า “ขณะที่อยู่ในมัสยิดนบี และมัสยิดอัลฮะรอม เมื่อได้เวลานมาซ ผู้ศรัทธาจะต้องไม่เดินออกจากที่นั้น และจะต้องไม่หลีกเลี่ยงการนมาซญะมาอะฮ์ ให้นมาซญะมาอะฮ์พร้อมกับพี่น้องมุสลิมคนอื่นๆ”

(มะนาซิกฮัจย์ หน้าที่ 257)

 

       

ท่านอิมาม (รฎ.) ไม่ได้เพียงออกฟัตวา (คำวินิจฉัย) ในเรื่องนี้เพียงเท่านั้น ทว่าท่านคือตัวการในการขับเคลื่อนให้คำสั่งนี้ถูกดำเนินต่อไป เช่นครั้นที่ท่านอิมามเดินทางออกจากนะญัฟไปยังประเทศคูเวต ท่านได้หยุดพักที่มัสยิดแห่งหนึ่งใกล้เมืองกับบัศเราะฮ์ เวลานั้นตรงกับเวลาซุฮ์ริพอดี ท่านอิมามได้กล่าวแก่สหายร่วมทางว่า “ในมัสยิดหลังนี้มีอิมามนำนมาซหรือไม่” เมื่อมีเสียงตอบว่า “มีครับ” ท่านอิมามได้กล่าวว่า “ถ้าหากมีอิมามนำนมาซให้หยุดก่อน แล้วนมาซตามหลังอิมาม หรือไม่ก็ให้เดินทางผ่านตรงนี้ไปก่อนได้เวลานมาซ แต่เมื่อถึงเวลานมาซแล้วต้องการนมาซคนเดียว ถือว่าไม่ถูกต้อง”

 (พอเบะพอเยออฟตอบ, เล่มที่ 4, หน้า 270)

 

     

  เรื่องดังกล่าวทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) ที่ก่อให้เกิดเอกภาพในหมู่พี่น้องมุสลิมทั้งมวล

 

บทความโดย : เชคฮุเซน บินสะเล็ม

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth.com

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม