บทบาทของคนสองกลุ่ม ในความดีงามและความเสื่อมทรามของสังคม

 

 

 

"หากผู้รู้ (อาลิม) เป็นคนเลว ย่อมไม่เหมือนกับคนทั่วไปที่ว่าหากเขาเลวก็เลวเฉพาะตัวเขาเอง แต่ทว่าความป่วยไข้ (ของผู้รู้) นั้นคือโรคติดต่อและจะแพร่ระบาด ความเลวและความเสื่อมทราม (ฟะซาด) ของผู้รู้

(อาลิม) นั้นจะแพร่ไปสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่า ตัวข้าพเจ้าเองเคยเดินทางไปยังบางเมือง พบว่าประชาชนในเมืองนั้นเป็นคนดี (ซอและห์) เมื่อพิจารณาดูว่า ทำไมประชาชนทั้งหมดเหล่านี้จึงเป็นคนดี (ซอและห์) ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ผู้รู้ (อาลิม) ของเมืองนั้น เป็นคนดีมาก ผู้คนทั้งหมดเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามผู้รู้ (อาลิม) ที่เป็นคนดีดังกล่าวนั่นเอง บรรดาผู้รู้ (อุละมาอ์) ไม่ว่าจะในที่แห่งใดก็ตาม เนื่องจากประชาชนจะให้ความสำคัญต่อพวกเขา

หากพวกเขาเป็นคนดี (ซอและห์) พวกเขาก็จะนำพาประชาชนไปสู่ความดีงามโดยปริยาย แต่หากพวกเขาเป็นคนเลว (ฟาซิด) พวกเขาก็จะนำพาประชาชนไปสู่ความเสื่อมเสียโดยปริยายเช่นกัน" (1)

 

        สำนวนคำพูดที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอนั่นคือ

 

 إذا صلح العالِم صلح العالَم ، وإذا فسد العالِم فسد العالَم

 

"หากผู้รู้เป็นคนดี โลกก็จะดีด้วย แต่หากผู้รู้เป็นคนเลว โลกก็จะเสื่อมเสียไปด้วย"

 

       นั่นคือสิ่งเดียวกับที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ได้กล่าวว่า

 

 زَلّةُ العالِمِ تُفسِد العَوالِم

"การทำผิดของผู้รู้ จะสร้างความเสียหายให้กับโลกทั้งปวง" (2)

 

       ในอีกวจนะหนึ่งท่านกล่าวว่า

 

 

 زَلّةُ العالِم كانكسارِ السفينة، تَغرَق وتُغِرق معها غيرَها

 

"การทำผิดของผู้รู้ เปรียบประดุจการแตกของเรือเดินทะเล ซึ่งตัวเรือที่ต้องอับปรางแล้ว ยังจะทำให้สิ่งต่างๆ ต้องจมลงไปพร้อมกับมัน" (3)

 

       ผู้รู้ (อาลิม) ที่เป็นคนเลวนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าซาตาน (ชัยฏอน) ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรี (อ.) ได้กล่าวว่า : มีผู้ถามท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า "สิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้าที่เลวร้ายที่สุด หลังจากอิบลีสและฟิรเอาน์นั้นคือใคร" ท่านตอบว่า "บรรดาผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่เป็นคนเลว" (4)

 

      ปัจจุบันนี้อันตรายของผู้รู้ (อุละมาอ์) ที่ลุ่มหลงในวัตถุและเป็นผู้แสวงหาอำนาจในสังคมนั้นมีมากกว่าอันตรายของ ซาตาน (ชัยฏอน) เสียอีก ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อผู้รู้ (อาลิม) เป็นคนเลวเสียแล้ว ก็จะทำให้โลกทั้งโลกเกิดความเสียหาย ความลุ่มหลงในวัตถุของผู้รู้บางคนจะถูกอ้างด้วยชื่อของศาสนาและจะถูกอธิบาย เหตุผลต่างๆ โดยอาศัยบทบัญญัติของศาสนา อันจะทำให้เกิดความเคลือบแคลงและการหลงเชื่อของประชาชน ผู้รู้ (อาลิม) ที่ลุ่มหลงในวัตถุและขาดการขัดเกลานั้นสามารถที่จะใช้คำพูดที่เป็นสัจธรรม เพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายทางวัตถุของตนได้ เหมือนดังสำนวนคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่กล่าวว่า

 

 

 كلمه الحق يراد بها الباطل

 

“คำพูดที่เป็นสัจธรรม แต่ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นความเท็จ” (5)

 

        คุณลักษณะเช่นนี้คือหนึ่งในตัวอย่างที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

 

 وَمِنَ النَّاسِ مَن يُعْجِبُكَ قَوْلُهُ فِي الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَيُشْهِدُ اللَّهَ عَلَىٰ مَا فِي قَلْبِهِ وَهُوَ أَلَدُّ الْخِصَامِ

 

“และ ในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ที่คำพูดของเขา ทำให้เจ้ารู้สึกประทับใจในชีวิตทางโลกนี้ และเขาจะอ้างอัลลอฮ์เป็นสักขีพยานเสมอต่อสิ่งที่อยู่ในหัวใจของเขา ในขณะที่เขานั้นเป็นผู้ก่อการวิวาทที่ร้ายกาจที่สุด” (6)

 

        คนอีกจำกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ประชาชนในสังคมเป็นคนดีหรือเป็น คนเลว นั้นคือผู้นำและผู้ปกครองของสังคม สำนวนที่เราจะได้ยินอยู่เสมอที่กล่าวว่า

 

 الناس على دين ملوكهم

 

"ประชาชนนั้นจะอยู่บนศาสนาของบรรดากษัตริย์ของพวกเขา" (7)

 

        ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 

 

 إذا تغيّر السلطان تغيّر الزمان

 

"เมื่อผู้ปกครองเปลี่ยนไป ยุคสมัยก็เปลี่ยนไป" (8)

 

        ท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า

 

 

 اَلنّاسُ بِاُمَرائِهِمْ اَشْبَهُ مِنْهُمْ بِآبائِهِمْ

 

"ประชาชนนั้นจะมีความคล้ายคลึงกับบรรดาผู้ปกครองของพวกเขา มากกว่าบรรดาบรรพบุรุษของพวกเขา" (9)

 

      วจนะ (ฮะดีษ) และคำพูดในลักษณะนี้ ต้องการที่จะสื่อให้เราได้รับรู้ว่า ประชาชนโดยส่วนใหญ่จะรับเอาสิ่งที่บรรดาผู้นำและผู้ปกครองแห่งยุคสมัยของตน เองได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่าง พฤติกรรมและแนวคิดของผู้นำจะมีผลกระทบและมีอิทธิพลต่อผู้อยู่ใต้ปกครองของตน เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจะพบเห็นฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ได้เน้นย้ำและเตือนประชาชาติมุสลิมให้ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

       

ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

 صنفان من النّاس إذا صلحا صلح النّاس و إذا فسدا فسد النّاس العلماء و الامراء

 

"คน สองกลุ่มหากพวกเขาเป็นคนดี ประชาชนก็จะเป็นคนดีด้วย และถ้าหากพวกเขาเป็นคนเลว ประชาชนก็จะเลวด้วย นั่นคือ บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้นำ" (10)

     

 ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านกล่าวว่า

 

 

 صنفان من امتی اذا صلحا صلحت امتی، و اذا فسد فسدت امتی، قیل: و من هما؟ قال: الفقهاء و الامراء

 

"คน สองกลุ่มจากประชาชาติของฉัน หากเขาเป็นคนดี ประชาชาติของฉันก็จะเป็นคนดีด้วย แต่หากเขาเป็นคนเลว ประชาชาติของฉันก็จะเป็นคนเลวด้วย”

        มีผู้ถามท่านว่า “คนทั้งสองกลุ่มนั้นเป็นใคร” ท่านตอบว่า “บรรดาผู้รู้ศาสนาและบรรดาผู้นำ" (11)

 

 

การขัดเกลาตน

       

ในทัศนะของอิสลาม การขัดเกลาตนนั้นเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โองการจำนวนมากในคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของการแต่งตั้ง ศาสดา (ซ็อลฯ) มายังมนุษยชาติว่า “เพื่อการขัดเกลาประชาชน” ในฮะดีษ (วจนะ) ต่างๆ ก็เน้นย้ำในประเด็นนี้เป็นพิเศษ จะเห็นได้ว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวถึงการต่อสู้กับจิตใจของตนเองนั้นคือ "ญิฮาด อักบัร" (การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด)

 

        แน่นอนยิ่งว่า การขัดเกลาตนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่สำหรับบุคคลสองกลุ่มข้างตนนั้นย่อมเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญเป็น พิเศษ ด้วยเหตุผลที่ว่า คนทั้งสองกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่กับชีวิต ทรัพย์สินและเกียรติศักดิ์ศรีของประชาชนโดยตรง และมีบทบาทและผลกระทบโดยตรงต่อการแก้ไขปรับปรุงและความเสื่อมทรามของสังคม

 

        ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือว่าการปฏิรูปสังคมและการแก้ไขปรับปรุงประชาชาตินั้น ต้องแก้ไขปรับปรุงบรรดาผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ของสังคมก่อน โดยท่านได้กล่าวว่า

 

 ﻓﻠﯿﺴﺖ ﺗﺼﻠﺢ اﻟﺮﻋﯿّﺔ إﻻّ ﺑﺼﻼح اﻟﻮﻻة

 

“ผู้อยู่ใต้ปกครองไม่อาจจะเป็นคนดีได้ นอกจากว่าบรรดาผู้ปกครองจะเป็นคนดี” (12)

 

   

  แน่นอนยิ่งว่า บรรดาผู้ปกครองหรือผู้นำสังคมที่จะสามารถปฏิรูปและแก้ไขปรับปรุงสังคมและ ประชาชนได้นั้น อันดับแรกตัวของพวกเขาเองจะต้องเริ่มต้นด้วยการปรับปรุงและการขัดเกลาตัวเอง เสียก่อน ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามอะลี (อ.) จึงกล่าวว่า

 

 

 من نصب نفسه للناس اماما فعلیه ان یبدا بتعلیم نفسه قبل تعلیم غیره و معلم نفسه و مؤدبها احق بالاجلال من معلم‌ الناس و مودبهم

 

“ผู้ ใดที่ตั้งตนเองเป็นผู้นำของประชาชน ดังนั้นเขาจะต้องเริ่มต้นด้วยการสั่งสอนตนเองก่อนที่จะสั่งสอนคนอื่น และผู้ที่สั่งสอนและอบรมขัดเกลาตนเองนั้น คู่ควรต่อการยกย่องเชิดชูยิ่งกว่าคนที่สั่งสอนและอบรมขัดเกลามนุษย์” (13)

 

แหล่งที่มา :

(1) ซอฮีฟะฮ์ อิมามโคมัยนี (ร.ฮ.), เล่มที่ 7, หน้าที่ 256

(2) ชัรห์ ฆุร่อริ้ลฮิกัม, เล่มที่ 4, หน้าที่ 209

(3) ฆุร่อรุ้ลฮิกัม, หน้าที่ 288

(4) อัลหะยาต, เล่มที่ 2

(5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คฏบะฮ์ที่ 40

(6) อัลกุรอานบทอัลบะกาเราะฮ์ โองการที่ 204

(7) กัชฟุลฆุมมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 21

(8) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ริซาละฮ์ที่ 31

(9) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 17, หน้าที่ 129

(10) นะฮ์ญุลฟะซอฮะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 393

(11) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 49

(12) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 214

(13) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 70

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth