อรรถาธิบายฮาดิษ ฟาฏิมะฮ์คือเลือดเนื้อเชื้อไขของฉัน ตอนที่ 2

อรรถาธิบายฮาดิษ ฟาฏิมะฮ์คือเลือดเนื้อเชื้อไขของฉัน ตอนที่ 2

ความหมายของคำว่า “บิฎอะตุน” «بضعة»

 

ประโยค ฟาฏิมะฮ์ บิฎอะตุน มีนนีย์  «فاطمة بضعة مني»  เป็นประโยคที่มีความหมายลึกซึ้ง  และมีนัยยะอยู่ในวัจนะอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ ถึงมะกอม หรือ สถานะพิเศษของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซลามุลลอฮอลัยฮา

 

คำว่า บิฎอะตุน ในทางภาษา มีความหมายดังนี้

ในมิศบาฮุลมุนีร ให้ความหมายว่า

البَضعَةُ: القِطْعَةُ من اللحْمِ و الجمعُ (بَضْعٌ و بَضَعَاتٌ و بِضَعٌ و بِضَاعٌ)

อัลบิฎอะตุ ­: หมายถึง ส่วนหนึ่งของเนื้อ และพหูพจน์ของคำๆนี้คือ บัฎอุน และบิฎออาต , บิฎออุน,

อ้างอิง : มิศบาฮุลมุนีร หน้า51

 

ในลีซานุลอาหรับ ให้ความหมายว่า

 

بضع: بَضَعَ اللحمَ يَبْضَعُه بَضْعاً و بَضَّعه تَبْضِيعاً: قطعه، والبَضْعةُ: القِطعة منه؛

تقول: أَعطيته بَضعة من اللحم إِذا أَعطيته قِطعة مجتمعة، هذه بالفتح،..

و في الحديث: فاطِمةُ بَضْعة منِّي ، من ذلك، وقد تكسر، أَي إِنها جُزء مني كما أَن القِطْعة من اللحم،

 

“บะฎออันละฮมา หมายถึง การแบ่งชิ้นของเนื้อ  และ บัฎอะฮ์ตุน หมายถึง ส่วนหนึ่งของเนื้อเมื่อกล่าวว่า ฉันให้ก่อนเนื้อก้อนหนึ่งแก่เขา ซึ่งจะเหมาะสม เมื่อ ชิ้นส่วนที่ยังคงรวมตัวกัน  คำๆนี้ สะกดด้วย ฟัตฮะฮ์ และในฮาดิษ ใช้คำว่า ฟาฏิมะฮ์ บัฎอะตุน มินนีย์ และบางกรณีใช้สะกดด้วย กัซเราะฮ์  หมายถึง แท้จริงนางคือ ส่วนหนึ่งของฉัน เปรียบดั่ง ชิ้นหนึ่งของเนื้อ”

อ้างอิง : ลิซานุลอาหรับ 8/13

 

อิบนิอะซีร ให้ความหมายว่า

وفي الحديث فاطمة بضعة مني البضعة بالفتح: القطعة من اللحم وقد تكسر أي أنها جزء مني كما أن القطعة من اللحم جزء من اللحم

“ในฮาดิษ ฟาฏิมะฮ์ บัฏอะตุน มินนีย์ สะกดด้วย ฟัตฮะฮ์ หมายถึง ส่วนหนึ่งจากเนื้อ และบางกรณีใช้กัซเราะฮ์ หมายถึง นางคือ ส่วนหนึ่งของฉัน ดั่งชิ้นส่วนหนึ่งจากเนื้อ

อ้างอิง : อันนิฮายะฮ์ ฟีลฆอรีบิลฮาดิษ 1/133

 

ดังนั้นในทางภาษา คำว่า «بضعة» สะกดได้ทั้ง ฟัตฮะฮ์ และกัซเราะฮ์ ต่างก็มีความหมายว่า ชิ้นส่วนเนื้อก้อนหนึ่งจากร่างกาย และเมื่อท่านรอซูลุลลอฮ กล่าววัจนะว่า ฟาฏิมะฮ์ บิฎอะตุน มินนีย์ ความหมายแรก ก็คือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ คือ ส่วนหนึ่งของท่านนบี คือ เลือดเนื้อของท่านนบี

 

ประการที่ 1 เราสามารถเห็นถึง ความเชื่อมโยงของประโยคต่อไปที่ท่านศาสดา(ศ) กล่าวว่า “ผู้ใดรังแกนาง เท่ากับรังแกฉัน” “ผู้ใดกลั่นแกล้งนางเท่ากับกลั่นแกล้งฉัน” ผู้ใดทำร้ายนางเท่ากับทำร้ายฉัน” และการที่ท่านนบี(ศ) กล่าวว่า” ผู้ใดทำให้นางโกรธเคือง เท่ากับ ฉันให้ฉันโกรธเคือง” “ผู้ใดทำให้นางปิติยินดี มีความสุข เท่ากับทำให้ฉันมีความสุข”

 

เพราะ ท่านหญิง คือ ส่วนหนึ่งของร่างกายท่านนบี(ศ)  หากส่วนนี้ของร่างกายเจ็บปวด ร่างกายก็เจ็บปวด และหากส่วนนี้ของร่างกาย รู้สึกดี ร่างกายก็จะรู้สึกดี และเพราะการใช้คำว่า ก้อนเนื้อ เป็นสื่อ จึงทำให้ ผู้ฟังฮาดิษบทนี้ เข้าใจความหมายได้อย่างดี เพราะทุกคนความเจ็ปปวดทางร่างกาย เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ในทันที

 

ประการที่ 2 ฮาดิษบทนี้เป็นญุมละฮ์คอบอรียะฮ์  หมายถึง ประโยคบอกเล่า ทว่า ในกรณีนี้ ประโยคดังกล่าว เป็นประโยคบอกเล่าที่สะท้อนถึงประโยคคำสั่งห้าม และคำสั่งใช้ เรียกว่า ญุมละฮ์อินชาอิยะฮ์ ลิลนะฮีย์ วัลอัมร์ หมายความว่า  

 

จงอย่าทำสิ่งใดที่จะทำให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ไม่พอใจ

จงทำสิ่งที่ทำให้ท่านหญิง ฟาฏิมะฮ์ มีความปิติยินดี

 

หากกระทำสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ท่านหญิงไม่พอใจ เท่ากับ ทำให้นบีของอัลลอฮ ไม่พอใจ และหากกระทำสิ่งที่ท่านหญิงพอใจ เท่ากับ ทำให้ นบีของอัลลอฮ (ซบ) พอใจ

 

ประการที่ 3 ฮาดิษบทนี้บ่งชี้ว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้วางมาตรฐาน บุคคลที่รักท่านนบี(ศ)อย่างแท้จริง โดยการวัดจากการพิจาณราการกระทำของมวลมุสลิม ที่มีต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซล) ซึ่งก็หมายความว่า จะรู้ว่าใครคือผู้รักนบี ให้ดูว่าเขาปฏิบัติกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อย่างไร

 

ประการที่ 4 ฮาดิษบทนี้ ครอบคลุมถึงมุสลิมทุกคน ทุกเวลา และทุกสถานที่จนถึงวันกิยามัต ภายหลังจากท่านนบี(ศ) ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ฮาดิษบทนี้ คือ มาตรวัดความรักที่มีต่อนบี (ศ) ดังนั้น หากมุสลิมต้องการรู้ว่า เขามีความรักต่อท่านนบี (ศ) อย่างแท้จริงหรือไม่ ให้พิจารณาว่า เขามีความรักต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซล)หรือไม่ และเขาปฏิบัติอย่างไร ต่อท่านหญิง(ศ)

 

ประการที่ 5 จะปฏิบัติอย่างไรให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์พึงพอใจ ?

เราขอเสนอคำตอบด้วยฮาดิษบทนี้

 

قَالَ رَجُلٌ لِامْرَأَتِهِ اذْهَبِی إِلَى فَاطِمَهَ بِنْتِ رَسُولِ اللَّهِ ص فَاسْأَلِیهَا عَنِّی أَنِّی مِنْ شِیعَتِکُمْ أَمْ لَیْسَ مِنْ شِیعَتِکُمْ فَسَأَلَتْهَا

فَقَالَتْ قُولِی لَهُ إِنْ‏ کُنْتَ‏ تَعْمَلُ‏ بِمَا أَمَرْنَاکَ‏ وَ تَنْتَهِی‏ عَمَّا زَجَرْنَاکَ‏ عَنْهُ‏ فَأَنْتَ‏ مِنْ‏ شِیعَتِنَا وَ إِلَّا فَلَا

 

บุรุษผู้หนึ่งกล่าวกับภรรยาของตนว่า: “จงไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ธิดาของท่านศาสดาแห่งอัลลอฮฺ แล้วถามท่านหญิงแทนฉันว่า ฉันเป็นชีอะฮฺของท่านหญิงหรือไม่” หญิงผู้นั้นจึงได้ไปหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ ซะฮฺรอ (อ) และถามคำถามของสามี ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) ได้กล่าวกับนางว่า: “จงบอกสามีของเธอว่า หากปฏิบัติตามสิ่งที่เราสั่งใช้และละทิ้งสิ่งที่เราสั่งห้าม เธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นชีอะฮฺ มิเช่นนั้นย่อมไม่ใช่ชีอะฮฺ” นางกลับมาบ้านพร้อมกับบอกเล่าคำตอบของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) แก่สามี สามีของนางจึงกล่าวว่า: “อนิฉจา! ใครเล่าที่จะบริสุทธิ์จากบาป ฉันจะต้องอยู่ในไฟนรกอย่างแน่นอน …” ภรรยาของเขาย้อนกลับมาหาท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) อีกครั้งพร้อมกับบอกเล่าคำพูดของสามีแก่ท่านหญิง ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) จึงกล่าวว่า: “มิใช่เช่นนั้นดอก ชีอะฮฺคือชาวสวรรค์ที่ดีที่สุด ส่วนผู้ที่รักเรา ผู้ที่รักคนที่รักเราและเป็นศัตรูกับศัตรูของเรา และผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อเราทั้งด้วยจิตใจและวาจานั้น หากพวกเขากระทำในสิ่งที่สวนทางกับคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของเรา พวกเขาไม่ใช่ชีอะฮฺของเรา แต่ถึงกระนั้นก็ตาม พวกเขาก็จะได้เข้าสวรรค์ภายหลังจากที่ได้รับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์จากบาปด้วยกับภัยพิบัติ ความทุกข์ทรมาน หรือด้วยกับการลงโทษหลากหลายรูปแบบในฉากต่างๆ ของปรโลก หรือด้วยกับการลงโทษในชั้นแรกของนรก จนกระทั่งเราจะช่วยพวกเขาให้รอดพ้นและนำมาอยู่กับเราในสวนสวรรค์”

อ้างอิง

บิหารุลอันวาร ฯ, มุฮัมมัด บากิร มัจญ์ลิซีย์, เบรุต, สำนักพิมพ์อัลวะฟา, พิมพ์ครั้งที่ ๓ ปี ฮ.ศ. ๑๔๐๓, เล่ม ๖๘ หน้า ๑๕๕

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ thaitalabeh