เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการวิลายัต (อำนาจปกครอง)ของอิมามอะลี

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

โองการวิลายัต (อำนาจปกครอง)ของอิมามอะลี

 

อัลกุรอานได้กล่าวถึงวิลายะฮ์ของอิมามอะลี (อ.) ไว้ในซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์  โองการที่ 55 ความว่า

 

إِنَّمَا وَلِيُّكُمُ اللَّهُ وَرَسُولُهُ وَالَّذِينَ آمَنُوا الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلَاةَ وَيُؤْتُونَ الزَّكَاةَ وَهُمْ رَاكِعُونَ

 

“อันที่จริง ผู้คุ้มครองของพวกท่าน คืออัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งดำรงนมาซและจ่ายซะกาต ในขณะที่โค้ง (รุกูอ์)”

 

โองการนี้ทั้งซุนนี่และชีอะฮ์มีความเห็นพ้องต้องกันว่า โองการนี้ประทานลงมาเกี่ยวกับท่านอะลี บุตรของ อบีฏอลิบ (อ.) โดยมีวจนะทั้งฝ่ายซุนนี่และชีอะฮ์ปรากฏอยู่เพื่อสนับสนุนทัศนะนี้เป็นจำนวนมาก

 

อบูซาร กิฟารีย์ กล่าวว่า  “วันหนึ่งขณะที่เรานมาซเวลาบ่ายกับท่านศาสดา ชายขอทานคนหนึ่งได้ร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีใครให้สิ่งใดแก่เขา ชายผู้นี้จึงยกมือขึ้นสู่ท้องฟ้า และกล่าวว่า:

‘โอ้ พระผู้เป็นเจ้า จงเป็นพยานเถิดว่า ในมัสยิดของท่านศาสดาแห่งนี้ ไม่มีใครให้สิ่งใดแก่ฉันเลย’ ท่านอะลี บุตรของอบีฏอลิบ (อ.) ขณะอยู่ในท่าโค้งนมาซ ได้ชี้นิ้วของท่านไปยังชายผู้นั้น ซึ่งถอดแหวนออกจากท่านไป ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ซึ่งเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด จึงยกมือขึ้นสู่ฟากฟ้าและกล่าวว่า ‘โอ้ พระผู้เป็นเจ้า มูซา (โมเซส) พี่ชายของข้าพระองค์ได้กล่าวต่อพระองค์ว่า :

 

"ขอพระองค์ทรงโปรดทำให้การงานเป็นเรื่องง่ายสำหรับฉัน ขอทรงทำให้ฉันเป็นผู้มีวาทศิลป์ที่ดี เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจในคำพูดของฉัน และขอพระองค์ทรงโปรดประทานให้

ฮารูน เป็นผู้ช่วยเหลือฉันด้วยเถิด" (28:35)

 

‘โอ้ พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ก็เป็นศาสดาของพระองค์เช่นกัน โปรดประทานในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานให้แก่มูซา ให้กับฉันด้วย และโปรดแต่งตั้งให้อะลี เป็นตัวแทนที่คอยช่วยเหลือฉันด้วย’

 

อบูซาร กิฟารีย์ กล่าว่า คำพูดของท่านศาสดายังไม่ทันจบโองการข้างต้นก็ถูกประทานลงมา” [๑]

 

นอกจากนี้ ยังมีโองการอื่นๆ ที่ชีอะฮ์ถือว่าเป็นหลักฐานเกี่ยวกับแต่งตั้งท่านอะลี บุตร อบีฏอลิบ (อ.) ให้ดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์สืบทอดต่อจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คือ

 

الْيَوْمَ يَئِسَ الَّذِينَ كَفَرُوا مِن دِينِكُمْ فَلَا تَخْشَوْهُمْ وَاخْشَوْنِ ۚ الْيَوْمَ أَكْمَلْتُ لَكُمْ دِينَكُمْ وَأَتْمَمْتُ عَلَيْكُمْ نِعْمَتِي وَرَضِيتُ لَكُمُ الْإِسْلَامَ دِينًا

 

“..วันนี้บรรดาพวกปฏิเสธทั้งหลายหมดหวังต่อศาสนาของพวกเจ้า  ดังนั้น พวกเจ้าทั้งหลาย     จงอย่ากลัวพวกเขา แต่พวกเจ้าจงกลัวข้า  วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของเจ้าสมบูรณ์แล้ว  เพื่อพวกเจ้าทั้งหลาย  และข้าได้ทำให้ความโปรดปรานของข้า เป็นที่เสร็จสิ้นแล้วสำหรับพวกเจ้า  และข้าได้ยอมรับให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกท่าน…”  (อัล มาอิดะฮ์ : 3)

 

ความหมายที่ชัดเจนของโองการนี้ คือ ก่อนวันดังกล่าวบรรดาผู้ปฏิเสธมีความหวังว่า จะมีวันหนึ่งที่อิสลามต้องมลายหายสิ้นไป  แต่พระผู้เป็นเจ้าได้ทำให้วันดังกล่าวทำลายความหวังของพวกเขาที่ว่าอิสลามจะถูกทำลายไปอย่างนิรันดรลงโดยอัตโนมัติ  เหตุการณ์นี้เป็นสาเหตุของความแข็งแกร่งและความสมบูรณ์ของอิสลาม  เป็นเหตุการณ์ที่การดำเนินต่อเนื่องของอิสลามขึ้นอยู่กับเหตุการณ์นี้นั่นเอง  ซึ่งโองการนี้เกี่ยวเนื่องกับโองการตับลีฆในซูเราะฮ์ อัล มาอิดะฮ์ โองการที่ 67 ซึ่งกล่าวว่า

 

يَا أَيُّهَا الرَّسُولُ بَلِّغْ مَا أُنزِلَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ ۖ وَإِن لَّمْ تَفْعَلْ فَمَا بَلَّغْتَ رِسَالَتَهُ ۚ وَاللَّهُ يَعْصِمُكَ مِنَ النَّاسِ ۗ إِنَّ اللَّهَ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الْكَافِرِينَ

 

“โอ้ศาสดา จงประกาศเถิด สิ่งที่ถูกประทานลงมายังเจ้า จากองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า  ถ้าเจ้าไม่ทำ  ดังนั้นเท่ากับเจ้าไม่ได้ประกาศศาสนธรรมของพระองค์เลย  แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงปกป้องเจ้าจากประชาชนทั้งหลาย”

 

โองการนี้ชี้ให้เห็นว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งภารกิจที่ได้รับความสนใจและมีความสำคัญมาต่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ)  ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการปฏิบัติ จะเป็นอันตรายต่อรากฐานของ

อิสลามและความเป็นศาสดา  เนื่องจากเป็นเรื่องที่สำคัญมากจนทำให้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มีความหวั่นเกรงการต่อต้าน และการเข้าแทรกแซง และอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องประวิงเวลาไว้  จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าได้เร่งรัดให้ประกาศคำสั่งนี้  จึงได้มีโองการนี้ลงมาในเหตุการณ์ ณ ฆอดีรคุม (ขณะท่านที่กำลังเดินทางกลับจากการทำฮัจญะตุลวิดาอ์)  ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจวิลายะฮ์ของท่านอิมามอะลี (อ.)  และเมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้เชิญชวนทุกคนมาหยุดรวมตัว ณ ที่นั้น  เพื่อที่จะประกาศวิลายัตของท่านอิมามอะลี (อ.) ต่อหน้าพวกเขา  ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้จับมือท่านอิมามอะลี (อ.) ชูขึ้น  และขณะนั้นเองอัลลอฮ์ (ซบ.) จึงได้ประทานโองการที่กล่าวมาข้างต้นลงมา ความว่า :

 

“วันนี้ข้าได้ทำให้ศาสนาของเจ้าสมบูรณ์แล้ว  เพื่อพวกเจ้าทั้งหลาย  และข้าได้ทำให้ความโปรดปรานของข้า เป็นที่เสร็จสิ้นแล้วสำหรับพวกเจ้า  และข้าได้ยอมรับให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกท่าน”  (อัล มาอิดะฮ์ : 3)

 

หลังจากนั้น ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงได้กล่าวว่า… “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่  วันนี้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์แล้ว  และความการุณย์ของพระองค์สมบูรณ์แล้ว  ความพึงพอพระทัยของพระองค์ได้รับการตอบสนอง  และวิลายะฮ์อะลีบรรลุผลแล้ว”  และท่านกล่าวต่ออีกว่า “ผู้ใดที่ฉันมีสิทธิและเป็นนายของเขา  อะลีก็มีสิทธิและเป็นนายของผู้นั้นด้วย  โอ้ พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงเป็นมิตรกับผู้ที่เป็นมิตรกับอะลี  และทรงเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับอะลี  ใครช่วยเหลือเขา ขอพระองค์ทรงช่วยเหลือเขา  ใครละทิ้งเขาขอพระองค์ทรงละทิ้งเขา” [๒]

 

หลังจากนั้น อุมัร บุตรของค็อตฏ็อบ ก็ได้กล่าวกับท่านอะลี (อ.) ว่า “ขอแสดงความยินดีด้วยที่ท่านได้เป็นผู้ปกครองฉัน  และเป็นผู้ปกครองบรรดาผู้ศรัทธาทั้งมวล” [๓]

 

 

อ้างอิงจาก

[๑] ฏอบารี ซะคออิร อัลอุกบะฮ์ พิมพ์ที่ไคโร ฮ.ศ.13561 หน้า 16 วจนะนี้ได้รับการบันทึกในสำนวนที่ต่างกันเล็กน้อย ใน ดูร อัลมันซูร เล่ม 2 หน้า 293, ใน กอญัร อัล มะรอม หน้า 103, บะฮ์รานี กล่าวถึงวจนะ 24 บท จากแห่งอ้างอิงของซุนนี่ และ 19 บท จากแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์

 

[๒] บะฮ์รานี ใน กอญัต อัล มะรอม หน้า 336 ซึ่งวจนะของซุนนี่ 6 บท และของชีอะฮ์ 15 บท ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์และเหตุผลที่อัลกุรอานโองการนี้ถูกประทานลงมา

 

[๓] อัล บิดายะฮ์ วัลนฮายะฮ์ เล่ม 5 หน้า 208 เล่ม 7 หน้า 346,  ดะกาอิร อัล อุกบะฮ์ หน้า 67,  อัล ฟุซูล อัล มุฮิมมะฮ์ ของอิบนิซุบบาค พิมพ์ที่นะญัฟ ฮ.ศ.1950 เล่ม 2 หน้า 23,  คอซาอิส ของนะซาอี พิพมพ์ที่นะญัฟ ฮ.ศ.1369 หน้า 31 และในฆอญัต อัล มะรอม หน้า 79  บะฮ์รานี อ้างถึงสายรายงานที่แตกต่างกัน 89 สายรายงาน

 

ที่มา : หนังสือ “ชีอะฮ์ในอิสลาม” เขียนโดย อัลลามะฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัด ฮูเซน ตอบาตอบาอี 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม