เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามฮาดี (อ.) ประทีปส่องทางนำ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิมามฮาดี (อ.) ประทีปส่องทางนำ

 

      

บรรดาอิมามและผู้นำผู้บริสุทธิ์ (อ.) คือมนุษย์ผู้สมบูรณ์และเป็นผู้ได้รับการเลือกสรรจากพระผู้เป็นเจ้า

ผู้ซึ่งได้ถูกกำหนดตัวโดยพระผู้เป็นเจ้าให้เป็นแบบอย่างทางด้านการปฏิบัติตนและเป็นเหมือนประทีปที่คอยชี้ทางนำให้แก่สังคมของมนุษยชาติ  คำพูดและการกระทำของท่านเหล่านั้นจะวาดภาพให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ของมนุษย์และการดำรงอยู่ของพวกท่านจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้าทั้งมวล ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการผูกสัมพันธ์ตนเองเข้ากับผู้มีเกียรติเหล่านี้ และการปฏิบัติตามคำสั่งสอนและแบบอย่างของพวกท่าน จะทำให้คนเราบรรลุสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) ของความเป็นมนุษย์และความผาสุกไพบูลย์ทั้งในโลกนี้และในปรโลก

      

 

ท่านอิมามฮาดี (อ.) คือแบบอย่างในด้านของความรู้ คุณธรรม ความยำเกรงพระเจ้า (ตักวา) และความสมบูรณ์แบบ (กะมาล) ของความเป็นมนุษย์ และการดำรงอยู่ของท่านคือภาพฉายของความประเสริฐทางด้านจริยธรรมและความสมบูรณ์ต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณ และเป็นแบบอย่างสำหรับบรรดาผู้แสวงหาสัจธรรมและผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อความอธรรมทั้งหลาย

      

อิมามฮาดี (อ.) คือผู้นำ (อิมาม) ท่านที่สิบของชาวชีอะฮ์ ท่านได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 15 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 212 ในชานเมืองมะดีนะฮ์ และในสถานที่ที่มีชื่อ “ศ็อรยา”  ฉายานามต่างๆ ของท่านคือ “ตะกีย์” “อาลิม” “ฟะกีฮ์” “อะมีน” และ “ฏ็อยยิบ”

      

บิดาผู้มีเกียรติของท่าน คือท่านอิมามญะวาด (อ.) และมารดาของท่านมีนามว่า “ซะมานะฮ์” เป็นสตรีผู้มีความประเสริฐ มีคุณธรรมและความยำเกรงพระเจ้า (ตักวา)  ภายหลังจากการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่านอิมามญะวาด (อ.) ในปี ฮ.ศ. 220 ท่านอิมามฮาดี (อ.) ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งการเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) สืบต่อจากบิดาของตน ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 6 ปีหรือ 8 ปี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของท่านอิมามฮาดี (อ.) รวมทั้งสิ้น 33 ปี ซึ่งตรงกับช่วงสมัยแห่งการปกครองของ “มุอ์ตะซิม” “วาซิก” “มุตะวักกิล” “มุนตะซ็อร” “มุซตะอัล” และ “มุอ์ตัซ” ผู้ปกครอง (คุละฟาอ์) แห่งวงศ์อับบาซียะฮ์

      

ท่านอิมามฮาดี (อ.) ก็เช่นเดียวกับบิดาของท่านที่เป็นบุคคลชั้นแนวหน้าในยุคของตนในด้านความรู้และวิทยาการต่างๆ   ในหนังสือประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้กล่าวว่า ทุกๆ ที่ชุมนุมทางด้านวิชาการที่ท่านอิมามฮาดี (อ.) เข้าร่วมนั้น ท่านจะได้รับการให้เกียรติและการเคารพอย่างมาก และจะทำให้บรรดาผู้คนที่รายล้อมอยู่รอบๆ ตัวท่านต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและบารมีของท่าน ทั้งด้วยความเต็มใจและไม่เต็มใจ  และบรรดานักวิชาการในยุคสมัยของท่านล้วนมีความปรารถนาที่จะได้ร่วมพบปะและเสวนาทางวิชาการกับท่าน ด้วยเหตุผลของอิทธิพลและบารมีของท่านที่มีในท่ามกลางประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวชีอะฮ์ ทำให้มุตะวักกิ้ล พยายามหาทางที่จะสังหารท่าน และบางรายงาน (ริวายะฮ์) ท่านอิมามฮาดี (อ.) ได้เป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ลงในวันที่ 3 ของเดือนร่อญับ ฮ.ศ. 245 และร่างอันบริสุทธิ์ของท่านถูกฝังอยู่ในเมืองซามัรรออ์

 

 

สถานภาพทางด้านความรู้และจิตวิญญาณของท่านอิมาม (อ.)

     

  ความยิ่งใหญ่ทางด้านบุคลิกภาพ ความรู้ คุณธรรม จริยธรรมและเกียรติต่างๆ ของท่านอิมามฮาดี (อ.) มีมากถึงขั้นที่ว่าทั้งมิตรและศัตรูของท่านยอมรับในสิ่งนี้  เมื่อพิจารณาดูจากตัวบทหลักฐานบางส่วนจากตำราต่างๆ ของนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ทำให้สามารถประจักษ์ถึงสถานภาพและอิทธิพลที่ลุ่มลึกของท่านอิมามฮาดี (อ.) ที่มีในท่ามกลางหมู่ประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามพื้นที่ คือ ในเมืองมะดีนะฮ์ ในแบกแดดและในเมืองซามัรรออ์

     

  อิมาดุดดีน อัลฮัมบะลี ได้กล่าวถึงสถานะภาพทางด้านความรู้และจิตวิญญาณของท่านไว้เช่นนี้ว่า :

 

أبو الحسن علي بن محمد بن علي الرضا بن الكاظم موسى بن جعفر الصادق، العلوي الحسيني المعروف بالهادي… كان فقيها إماما متعبدا

 

“อบุลฮะซัน อะลี บุตรของมุฮัมมัด บุตรของอะลี อัรริฎอ บุตรของมูซา อัลกาซิม บุตรของญะอ์ฟัร อัซซอดิก ผู้สืบเชื้อสายมาจาก (อิมาม) อะลีและ (อิมาม) ฮุเซน  ถูกรู้จักในนาม “อัลฮาดี” เขาเป็นผู้ปราดเปรื่องในความรู้ เป็นอิมาม (ผู้นำ) และเป็นผู้เคร่งครัดในอิบาดะฮ์” [1]

 

     

อิบนุกะษีรได้กล่าวว่า :

 

وأما أبو الحسن علي الهادي فهو ابن محمد الجواد… أحد الأئمة الاثني عشر، وهو والد الحسن بن علي العسكري، وقد كان عابدا زاهدا

 

“ส่วนอบุลฮะซัน อะลี อัลฮาดีนั้น ท่านคือ บุตรของมุฮัมมัด อัลญะวาด …. เป็นหนึ่งในอิมามสิบสองท่าน และท่านเป็นบิดาของฮะซัน บินอะลี อัลอัซกะรี และท่านเป็นผู้เคร่งครัด

อิบาดะฮ์ และเป็นผู้มีความสมถะ” [2]

 

      

อิบนุศ็อบบาฆ อัลมาลิกี ได้เขียนไว้ในหนังสือของตนโดยอ้างจากหนังสือ “อัลอิรชาด” ว่า :

 

الإمام بعد أبي جعفر، ابنه أبو الحسن علي بن محمد، لاجتماع خصال الإمامة فيه، ولتكامل فضله وعلمه، وأنه لا وارث لمقام أبيه سواه، ولثبوت النص عليه من أبيه

 

“อิมามหลังจากอบูญะอ์ฟัร คือ อบุลฮะซัน อะลี บินมุฮัมมัด (หมายถึงอิมามฮาดี) เนื่องจากคุณลักษณะต่างๆ ของความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ได้รวมอยู่ในตัวเขา และเนื่องจากความครบถ้วนสมบูรณ์ของความประเสริฐและความรู้จองเขา และไม่มีผู้ใดที่สืบทอดตำแหน่งของบิดาของเขาได้นอกจากตัวเขา และเนื่องจากมีการกำหนดอย่างชัดเจนจากบิดาของเขา” [3]

 

      

มุอ์มิน อัชชิบลันญี ได้เขียนว่า :

 

ومناقبه (رضي الله عنه) كثيرة ، قال في الصواعق : كان أبو الحسن العسكري وارث ابيه علماً وسخاءاً ، وفي حياة الحيوان : سمي العسكري لأن المتوكل لما كثرت السعاية فيه عنده أحضره من المدينة وأقرّه بسر من رأى

 

“และความประเสริฐของเขา (ร.ฎ.) นั้นมีมากมาย และในหนังสือ “อัศศอวาอิก” ได้กล่าวว่า : อบุลฮะซัน อัลอัซกะรี (อัลฮาดี) นั้นเป็นผู้สืบทอดมรดกความรู้และความโอบอ้อมอารีจากบิดาของเขา และในหนังสือ “หะยาตุลหะยะวาน” ได้กล่าวว่า : เขาได้ถูกเรียกว่า อัลอัสกะรี (ผู้ถูกกักกันในค่ายทหาร) เนื่องจากว่า เมื่อมีการกล่าวให้ร้ายเกี่ยวกับเขาอย่างมากมายต่อหน้ามุตะวักกิล มุตะวักกิลจึงสั่งให้นำตัวเขามาจากมะดีนะฮ์ และให้เขาพำนักอยู่ในเมืองซัรร่อมันร่ออา (ซามัรรออ์)” [4]

 

     

  อิบนุลเญาซีย์ ได้เขียนว่า : ยะห์ยา บินฮัรษะมะฮ์ (เจ้าหน้าที่ของมุตะวักกิลที่รับคำสั่งให้นำพาตัวท่านอิมาม (อ.) จากนครมะดีนะฮ์ไปยังเมืองซามัรรออ์) ได้เล่าว่า :

 

فذهبت الى المدينة فلمّا دخلتها ضجَّ أهلها ضجيجاً عظيماً ، ما سمع الناس بمثله خوفاً على علي ـ أي الإمام الهادي (عليه السلام)

 

“เมื่อฉันไปยังมะดีนะฮ์ (เพื่อที่จะนำพาตัวอิมามฮาดีไปยังซามัรรออ์) เมื่อฉันไปถึงมัน ประชาชนของเมืองนั้นได้ส่งเสียงร้องไห้คร่ำครวญอย่างมโหฬาร โดยที่ประชาชนไม่เคยได้ยินเช่นนั้นมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาเป็นห่วงกังวลต่อ (ชีวิตและความปลอดภัยของ) อะลี หมายถึงอิมามฮาดี (อ.)” [5]

 

      

ยะอ์กูบี ได้เขียนว่า : เมื่ออิมามฮาดี (อ.) ได้ไปถึงยังเมืองยาซิรียะฮ์ (ชานกรุงแบกแดด) ทั้งๆ ที่การมาถึงของอิมามฮาดี (อ.) ยังสถานที่แห่งนั้น โดยรูปการแล้วไม่ได้มีการแจ้งให้รู้ล่วงหน้าและไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ อิสหาก บินอิบรอฮีม ฏอฮิรีย์ ผู้ปกครองของกรุงแบกแดด เมื่อได้มาถึงยังสถานที่แห่งนั้นก็พบว่า มีฝูงชนจำนวนมากมายได้มารอคอยต้อนรับอิมามฮาดี (อ.) ในบริเวณสถานที่ดังกล่าว

 

 

«فرأى تشوّق الناس اليه و اجتماعهم لرؤيته …»

 

“เขาได้เห็นกระตือรือร้นและการรวมตัวของประชาชนมายังที่แห่งนั้น เพื่อที่จะได้พบเห็นท่าน (อิมาม) … ” [6]

 

      

ยะอ์กูบี ได้รายงานเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ท่านอิมาม (อ.) เสียชีวิต (วะฟาต) และการรวมตัวชุมนุมของประชาชนไว้เช่นนี้ว่า :

 

«فلّما كثر الناس و اجتمعوا كثر بكاؤهم و ضجّتهم …»

 

“เมื่อประชาชนได้มารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก การร้องไห้และเสียงคร่ำครวญของพวกเขาก็ดังมากยิ่งขึ้น” [7]

 

       

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งจากหลักฐานและกรณีแวดล้อมต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพทางด้านจิตวิญญานของท่านอิมามฮาดี (อ.) ที่มีในท่ามกลางประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนชาวเมืองซามัรรออ์

 

       

ส่วนหนึ่งจากเหตุผลหลักที่ที่ทำให้ท่านอิมามฮาดี (อ.) ถูกเชิญตัวจากมะดีนะฮ์ให้มาพำนักอยู่ในเมืองซามัรรออ์นั้น ก็คือสถานภาพทางด้านสังคม ด้านการเมือง และอิทธิพลทางด้านจิตวิญญาณของท่านอิมาม (อ.) ที่มีในท่ามกลางหมู่ประชาชนทั้งหลาย ที่เป็นเหตุทำให้มุตะวักกิล ผู้ปกครองแห่งวงศ์อับบาซียะฮ์ วิตกกังวลต่อความอยู่รอดของอำนาจการปกครองของตนเอง

 

       

ยะอ์กูบี ได้เขียนว่า :

 

  و كان عبداللَّه بن محمد بن داود الهاشمى قد كتب، يذكر أنَّ قوماً يقولون انّه الامام فأشخصه عن المدينة مع يحيى بن هرثمة

 

“อับดุลลอฮ์ บินมุฮัมมัด บินดาวูด อัลฮาชิมี (ผู้ครองหัวเมืองมะดีนะฮ์) ได้เขียนจดหมาย (ส่งไปยังมุตะวักกิล) โดยกล่าวว่า : แท้จริงหมู่ชนจะเรียกเขา (หมายถึงอิมามฮาดี) ว่า อิมาม (ผู้นำ) ดังนั้นข้าพเจ้าได้ส่งตัวเขาไปจากเมืองมะดีนะฮ์ พร้อมกับยะห์ยา บินฮัรษะมะฮ์แล้ว” [8]

 

        

ซัยยิดมุฮัมมัด อับดุลฆ็อฟฟาร อัลฮาชิมี อัลฮะนะฟี ก็ได้ชี้ถึงเหตุผลของการนำตัวท่านอิมามฮาดี (อ.) จากมะดีนะฮ์ไปยังซามัรรออ์ โดยกล่าวว่า :

 

استدعاه الملك المتوكل من المدينة المنورة حيث خاف على ملكه و زوال دولته اليه بمالَه من علم كثير و عمل صالح و سداد رأي و قول حقّ

 

“กษัตริย์มุตะวักกิลได้เชิญตัวท่าน (อิมาม) ไปจากนครมะดีนะฮ์ อัลมุเนาวะเราะฮ์ เนื่องจากเขาหวั่นกลัวต่อ (ความอยู่รอดของ) อำนาจการปกครองของตน และการล่มสลายของรัฐบาลของตน โดยที่มันจะตกไปอยู่ในมือของท่าน (อิมาม) เนื่องจากว่าท่านมีความรู้มาก เป็นผู้กระทำความดีงาม มีความคิดอ่านที่ถูกต้องและมีคำพูดที่เป็นสัจธรรม” [9]

 

  อย่างไรก็ดี เหตุผลหลักอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ ความเกลียดชังและความพยาบาทที่มี่มุตะวักกิลมีต่อท่านอิมามอะลี (อ.) และลูกหลานของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

ซิบฏ์ อิบนุลเญาซีย์ได้เขียนในเรื่องนี้ว่า อุลมาอุซซีร ได้กล่าวว่า :

 

 و انما اشخصه المتوكل من مدينة رسول‏ اللَّه الى بغداد لانّ المتوكل كان يبغض علياً و ذريته

 

“สาเหตุที่มุตะวักกิลได้สั่งให้นำตัวท่าน (อิมามฮาดี) จากเมืองมะดีนะฮ์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ไปยังแบกแดด ก็เนื่องจากว่ามุตะวักกิลนั้นมีความเกลียดชังต่ออิมามอะลีและลูกหลานของท่าน …” [10]

 

ตามการเห็นพร้องตรงกันของบรรดานักประวัติศาสตร์และนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ มุตะวักกิลนั้นเป็น “นาซิบี” (ผู้ที่เกลียดชังอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา) และต่อต้านท่านอิมามอะลีและลูกหลานของท่าน

 

      

อิบนุมิสกะวัยฮ์ , อิบนุอะซีรและอิบนุวัรดีย์ แต่ละคนได้เขียนไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของตนไว้เช่นนี้ว่า :

 

و كان المتوكل شديد البغض لعلى بن ابى‏طالب‏(ع)و لاهل بيته و كان يقصد من يبلغه عنه انّه يتولي علياً و اهله بأخذ المال و الدم

 

“มุตะวักกิลนั้นมีความเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) และต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ของท่าน และเขามุ่งมั่นที่จะทำการยึดทรัพย์สมบัติและการเอาชีวิต บุคคลที่มีข่าวมาถึงเขาว่าบุคคลผู้นั้นยึดถือท่านอะลีและครอบครัวของท่านเป็นผู้ปกครอง” [11]

 

       

นอกจากนี้แล้ว บรรดาผู้ที่อยู่รอบตัวมุตะวักกิลและบรรดาที่ปรึกษาของเขาก็เป็นพวกที่ถูกรู้จักกันดีในนาม “นาซิบี” และเป็นผู้ที่มีความเกลียดชังต่อท่านอิมามอะลี (อ.) :

 

ندماء متوكل جماعة قد اشتهروا بالنصب و البغض لعلي

 

“บรรดาผู้ที่รายล้อมอยู่รอบตัวมุตะวักกิลนั้น ก็เป็นที่รู้จักกันดีว่า มีความเกลียดชังและความเป็นศัตรูต่อท่านอะลี” [12]

 

โดยรวมแล้ว เหตุผลสองประการ นั่นคือ อิทธิพลทางด้านจิตวิญญาณและด้านสังคมของท่านอิมามที่มีในหมู่ประชาชน และความเกลียดชังและความอาฆาตพยาบาทของมุตะวักกิลกที่มีต่ออิมามอะลี (อ.) และครอบครัวของท่านและต่อบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตาม (ชีอะฮ์) ของท่าน ที่เป็นสาเหตุทำให้ท่านอิมามฮาดี (อ.) ถูกนำตัวจากมะดีนะฮ์ไปยังเมืองซามัรรออ์

 

ส่วนหนึ่งจากคำสอนของอิมามฮาดี (อ.)

 

خَيْرٌ مِنَ الْخَيْرِ فاعِلُهُ، وَاَجْمَلُ مِنَ الْجَميلِ قائِلُهُ، وَأرْجَحُ مِنَ الْعِلمِ حامِلُهُ، وَشَرٌّ مِنَ الشَّرِّ جالِبُهُ، وَاَهْوَلُ مِنَ الْهَوْلِ راكِبُهُ

 

“ที่ดียิ่งกว่าความดี คือผู้กระทำมัน และที่สวยงามยิ่งสิ่งสวยงามคือผู้ที่พูดถึงมัน และที่เหนือกว่าความรู้คือผู้ที่มีความรู้ และที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าสิ่งชั่วร้ายคือผู้ที่นำความชั่วร้าย (มาสู่ตัวเอง) และที่น่ากลัวยิ่งกว่าความน่ากลัวคือผู้ที่กระทำมัน” [13]

 

اِنَّ الحَرامَ لا ینمى وَ اِن نَمى لا یبارَک لَهُ فیهِ وَ ما اَنفَقَهُ لَم یؤجَر عَلَیهِ وَ ما خَلَّـفَهُ کانَ زادَهُ اِلَى النّارِ

 

“แท้จริงทรัพย์สินต้องห้าม (ฮะรอม) นั้นจะไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มพูน และถ้าหากเพิ่มพูนก็จะไม่ก่อให้เกิดความจำเริญแก่เขา และสิ่งที่เขาได้บริจาคมันออกไปก็จะไม่ได้รับการตอบแทนรางวัล และถ้าหากเขาละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง (เป็นมรดก) มันก็จะเป็นเสบียงของเขาไปสู่ไฟนรก” [14]

 

ألحِکمَةُ لاتَنجَعُ فِی الطِّباعِ الفاسِدَةِ

 

“วิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) จะไม่ยังคุณประโยชน์อันใดในคนที่มีอุปนิสัยใจคอที่ชั่วร้าย” [15]

 

أَلدُّنيا سُوقٌ رَبِحَ فيها قَوْمٌ وَ خَسِرَ آخَرُونَ؛

 

“โลกนี้เปรียบได้ดั่งสถานที่ทำการค้าขาย ที่คนกลุ่มหนึ่งจะได้รับผลกำไรและคนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับความขาดทุน” [16]

 

اِيّاكَ وَالْحَسَدَ فَاِنَّهُ يَبينُ فيكَ وَلايَعْمَلُ فى عَدُوِّكَ؛

 

“จงระวังจากความอิจฉาริษยา เพราะแท้จริงความอิจฉาริษยานั้นจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวท่าน และมันจะไม่ส่งผลใดๆ ในศัตรูของท่าน” [17]

 

ที่มา :

 

[1] ชะซะรอตุซซะฮับ , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 129

[2] อัลบิดายะฮ์ วันนิฮายะฮ์  , เล่มที่ 11 , หน้าที่ 15

[3] อัลฟุศูลุ้ลมุฮิมมะฮ์ , หน้าที่ 265

[4] นูรุ้ลอับศ๊อร , หน้าที่ 149

[5] ตัซกิร่อตุ้ลค่อวาศ , หน้าที่ 360

[6] ตารีค ยะอ์กูบี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 484

[7] ตารีค ยะอ์กูบี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 503

[8] ตารีค ยะอ์กูบี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 484

[9] อะอิมะตุ้ลฮุดา , หน้าที่ 136 ; เอี๊ยะห์กอกุ้ลฮัก , เล่มที่ 12 , หน้าที่ 445

[10] ตัซกิร่อตุ้ลค่อวาศ , หน้าที่ 322

[11] ตะญารุบ อัลอุมัม , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 120

[12] ตะญารุบ อัลอุมัม , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 120

[13] บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370

[14] อัลกาฟี , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 125

[15] บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370

[16] ตุหะฟุ้ลอุกูล , หน้าที่ 774

[17] บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม