เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความจริงที่มัสยิดนะบะวีย์ ตอนที่ 4 ในบ้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (1)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความจริงที่มัสยิดนะบะวีย์ ตอนที่ 4 ในบ้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (1)

ในบ้านท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (1)

 

       ภายในมัสยิดนะบะวีย์ จะรวมเอาส่วนที่เป็นบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่ท่านอาศัยอยู่กับท่านหญิงอาอิชะฮ์ภรรยาคนหนึ่งของท่าน ซึ่งต่อมากลายเป็นสถานที่ฝังศพของท่าน และบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์กับอิมามอะลีจะอยู่ติดกัน ส่วนบ้านของภรรยาคนอื่นของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะอยู่บริเวณใกล้เคียงกระจายกันไป

 

       สถานที่ฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะอยู่ภายใต้โดมสีเขียว (ดูภาพที่ 1)

 

       บริเวณนี้ยังเคยเป็นสถานที่ที่ญิบรออีลลงมาจากฟากฟ้าเพื่อมาพบกับท่านเป็นประจำ ซึ่งอยู่ใกล้ผนังบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ มีสถานที่ที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ใช้รับรองแขกต่างเมืองที่มาเข้าพบท่าน และยังมีสถานที่ที่อิมามอะลียืนรักษาการณ์ขณะที่ท่านศาสดาสนทนากับแขก ทั้งนี้เป็นการรักษาความปลอดภัยให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (ดูภาพที่ 2 และ 3 ไดอะแกรม)

 

       และยังมีเสาที่ระบุตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรอุศมานียะฮ์อยู่ด้วย (ดูภาพที่ 4) และข้าง ๆ สถานที่ฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะมีสถานที่ฝังศพของอบูบักรและอุมัร คอลีฟะฮ์คนที่ 1 และ 2 อยู่ (ดูภาพที่ 5)

 

บุคคลที่เคยพำนักอยู่ที่นี่ในอดีต และที่ยังพำนัก (ฝัง) อยู่ที่นี่มีดังนี้

 

      1. ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เคยพำนักอยู่ที่นี่ และปัจจุบันร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่นี่

       2. ท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ค.ศ.613-678) เคยพำนักอยู่ที่นี่ และร่างของเธอถูกฝังไว้ที่สุสานอัลบากิอ์ ที่อยู่ใกล้กัน (ดูภาพที่ 6)

        3. อิมามอะลี (ค.ศ.600-661) เคยพำนักอยู่ที่นี่ แต่ร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่เมืองนะญัฟ ประเทศอิรัก (ดูภาพที่ 7)

      4. ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ค.ศ.605 หรือ 615-632) เคยพำนักอยู่ที่นี่ และร่างของท่านถูกฝังที่ไหนสักแห่งหนึ่งในบริเวณนี้ แต่ไม่มีใครทราบ

        4. อิมามฮาซัน (ค.ศ.625-670) บุตรชายคนโตของอิมามอะลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เกิดที่นี่ เคยพำนักอยู่ที่นี่ และร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่สุสานบากิอ์ (ดูภาพที่ 8)

       5. อิมามฮูเซน (ค.ศ.626-680) บุตรชายคนรองของอิมามอะลีกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เกิดที่นี่ เคยพำนักอยู่ที่นี่ แต่ร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่กัรบะลาอ์ ประเทศอิรัก (ดูภาพที่ 9)

        6. อบูบักร (ค.ศ. 573-634) คอลีฟะฮ์คนที่ 1 เคยพำนักอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่นี่ใกล้กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

        7. อุมัร (ค.ศ.579-644) คอลีฟะฮ์คนที่ 2 เคยพำนักอยู่บริเวณใกล้ ๆ ร่างของท่านถูกฝังอยู่ที่นี่ ต่อจากร่างของอบูบักร

 

        เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สิ้นชีวิตมีการถกถียงกันในหมู่สาวกของท่านว่า จะฝังร่างท่านที่ไหน และสรุปว่าศาสดาสิ้นชีวิตที่ไหนให้ฝังที่นั่น เมื่อท่านสิ้นชีวิตที่บ้านของท่าน หลังที่พำนักอยู่กับอาอิชะฮ์ก็ให้ฝังที่บ้านหลังนี้

 

        ท่านหญิงอาอิชะฮ์จึงแบ่งส่วนหนึ่งของบ้านเป็นสถานที่ฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และนางก็อาศัยอยู่ในห้องติดกับสถานที่ฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ตั้งแต่ ฮ.ศ.ที่ 11 จนถึงปีที่นางเสียชีวิตคือ ฮ.ศ.58 (อายุประมาณ 65 ปีตามปฏิทินสุริยคติ) ในสมัยการปกครองของมุอาวิยะฮ์ (ค.ศ.602-680) อบูฮุรอยเราะฮ์ (ค.ศ.603-681) เป็นผู้นำละหมาดญะนาซะฮ์ให้นาง และศพของนางถูกฝังอยู่บริเวณเดียวกับภรรยาคนอื่น ๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในสุสานบากิอ์ (ดูภาพที่ 10 และ 11)

 

       ในขณะที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์สิ้นชีวิต ยังมีสาวกอาวุโสของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) หลายคนยังมีชีวิตอยู่ เช่น

    อนัส บินมาลิก คนรับใช้ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (ค.ศ.612-709)
    ญาบิร บินอับดุลลอฮ์ อัลอันซอรี (เสียชีวิต ค.ศ.697)
    อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร (ค.ศ.614-693) บุตรชายของอุมัร อิบนค็อฏฏ็อบ คอลีฟะฮ์ที่ 2
    อับดุลลอฮ์ อิบนิซุเบร (ค.ศ.624 693) หลานชายของท่านหญิงอาอิชะฮ์เอง เพราะอัสมาอ์มารดาของอับดุลลอฮ์เป็นพี่สาวของท่านหญิงอาอิชะฮ์
    อับดุลลอฮ์ อิบนิอัมร์ (เสียชีวิต ค.ศ.684) เป็นบุตรของอัมร อิบนิอาศ

 

       ก่อนอบูบักรสิ้นชีวิตใน ค.ศ.634 (ฮ.ศ.13) ได้แจ้งความประสงค์ต่ออาอิชะฮ์บุตรีว่า ต้องการฝังศพตนเองใกล้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเมื่ออุมัรถูกอบูลุลุแทง เมื่อ ค.ศ.644 (ฮ.ศ.23) ก็ได้แจ้งความประสงค์ขออนุญาตกับอาอิชะฮ์ว่าจะขอฝังเคียงข้างอบูบักร ซึ่งอาอิชะฮ์ก็อนุญาต ดังนั้น การฝังเคียงข้างท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นความประสงค์ของบุคคลทั้งสองเอง

 

       บุคคลแรกที่เสียชีวิตหลังท่านศาสดาสิ้นชีวิตคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บางรายงานกล่าวว่า 75 วัน บางรายงานกล่าวว่ามากกว่านั้นแต่ไม่เกิน 180 วัน ก่อนสิ้นชีวิตท่านศาสดาเองเป็นผู้แจ้งว่าท่านหญิงฟาฏิมะฮ์จะเป็นคนแรกในครอบครัวที่เสียชีวิตหลังจากท่าน เมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ได้รับฟังถึงกับยิ้มออกมาด้วยความปีติที่จะได้ติดตามบิดาผู้เป็นที่รักไปเป็นคนแรก ในขณะที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เสียชีวิต มีอายุอยู่ระหว่าง 18-28 ปี (แล้วแต่รายงานที่ระบุว่าท่านเกิดปีไหน) สาเหตุการเสียชีวิตของท่านไม่ใช่เกิดจากการเจ็บป่วย เพราะท่านยังเป็นสาวและมีสุขภาพแข็งแรง

 

       ระหว่างอาบน้ำศพให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอะลีพบว่า กระดูกไหปลาร้าของเธอหัก ที่แขนและมือมีแผลจากการถูกตีด้วยของแข็ง มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย ทำให้ท่านอะลีรำพึงกับตนเองทั้งน้ำตาว่า ขณะเมื่อท่านรับเอาท่านหญิงฟาฏิมะฮ์มาจากท่านศาสดาผู้เป็นบิดาของเธอ ทุกอย่างอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่เมื่อจะส่งกลับไปให้บิดาของเธอ กลับอยู่ในสภาพเช่นนี้

 

       สิ่งหนึ่งที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์สั่งเสียท่านอะลีไว้ก็คือ ให้ละหมาดญะนาซะฮ์เธอในเวลากลางคืน อย่าให้ผู้ใดนอกครอบครัวมาร่วมละหมาด และฝังเธอในเวลากลางคืน โดยอย่าให้ใครรู้ว่าหลุมศพของเธอยู่ที่ไหน!

 

       เวลาเช้าหลังการเสียชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ชาวมะดีนะฮ์รู้สึกตระหนกที่ไม่มีใครรู้ข่าวการเสียชีวิตของบุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่มีใครได้ร่วมละหมาดญะนาซะฮ์ และพวกเขายิ่งรู้สึกตระหนกยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบว่ามีหลุมฝังศพจำนวนหลายสิบหลุม แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าศพของฟาฏิมะฮ์ถูกฝังไว้ที่หลุมไหน

 

       จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครทราบว่าหลุมฝังศพของฟาฏิมะฮ์ บุตรีผู้เป็นที่รักของท่านศาสดา ผู้เป็นส่วนหนึ่งจากร่างกายของท่าน ผู้ที่ท่านศาสดาบอกว่า ผู้ใดทำให้เธอโกรธเท่ากับทำให้ท่านโกรธ และแน่นอนว่าหากท่านศาสดาโกรธ คงจะหาความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์ได้ไม่! และเธอยังเป็นหัวหน้าของบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งหลาย ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเธอถูกฝังอยู่บริเวณไหน?!

 

       เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) สิ้นชีวิต มีเรื่องหนึ่งที่ฟาฏิมะฮ์มีความเห็นไม่ลงรอยกับอบูบักร ผู้เป็นคอลีฟะฮ์ นั่นคือ เธอได้กล่าวว่า สวนอินทผลัม(อ่านบทความการมอบ “สวนฟะดัก” ให้แก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.))ที่ตำบลคอยบัร เป็นกรรมสิทธิ์ของเธอที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทิ้งไว้ให้เป็นมรดก แต่อบูบักรไม่ยินยอม และกล่าวว่าบรรดาศาสดาไม่มีมรดก ทรัพย์สินที่ทิ้งไว้ต้องตกเป็นของศาสนา ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์แย้งว่า ศาสดาซะกะรียาก็เป็นศาสดาและทิ้งมรดกไว้ให้ศาสดายะฮ์ยาผู้เป็นบุตร ศาสดาดาวูดก็เป็นศาสดาและทิ้งมรดกที่เป็นอำนาจการปกครองอาณาจักรไว้ให้ศาสดาสุไลมานผู้เป็นบุตร กรณีนี้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์โกรธและไม่ยอมพูดกับอบูบักรจนเสียชีวิต (ดูจากหนังสือ “บิสมิลลาฮ์” เล่ม 2 หน้า 126-128 ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2516 เขียนโดยอาจารย์ชาฟิอี นภากร)

 

       ตกลงว่าอบูบักรในฐานะคอลีฟะฮ์และสาวกใกล้ชิดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับฟาฏิมะฮ์บุตรีของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่ใช้ชีวิตอยู่กับบิดาของเธอมาตลอดชีวิตของท่าน ได้ยินได้ฟังได้รับการสั่งสอนในเรื่องคำสอนและบทบัญญัติศาสนา ทั้งสองคนนี้ใครกันที่ไม่เข้าใจหรือไม่รู้บทบัญญัติของศาสนา!!


ประเด็นชวนคิดก็คือ….

    บ้านที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์อาศัยอยู่กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเธออาศัยอยู่จนสิ้นชีวิต เมื่ออบูบักรและอุมัรต้องการฝังศพตัวเองเคียงข้างท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ต้องมาขออนุญาตจากเธอ แสดงว่าเธอเป็นเจ้าของบ้านมีกรรมสิทธิ์ แล้วตรรกะที่ว่าศาสดาไม่มีมรดก ทุกอย่างที่ทิ้งไว้ต้องตกเป็นของศาสนา ดังที่อ้างกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ไปอยู่เสียที่ไหน?!


    เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อบูบักรและอุมัรถูกฝังในบ้านหลังนั้น แสดงว่าบริเวณดังกล่าวกลายเป็นกุบูร (สุสาน) แล้วหรือไม่ ซึ่งตามหลักศาสนบัญญัติของแนวทางวะฮาบีย์ ห้ามอ่านอัลกุรอานในสุสานหรือหลุมฝังศพ ปัญหาคือตลอดเวลากว่า 57 ปีที่ท่านหญิงอาอิชะฮ์พำนักอยู่ในห้องข้าง ๆ ที่ฝังศพของทั้งสามคน ได้ละหมาด อ่านกุรอานและซิกรุลลอฮ์อย่างมากมาย ในฐานะภรรยาและบุตรี เธอคงได้ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้คนทั้งสองแน่นอน กรณีนี้จะถือว่าเป็นอย่างไร?!
    บาดแผลและรอยฟกช้ำตามร่างกายของฟาฏิมะฮ์เกิดจากอะไร และนี่เป็นสาเหตุให้เธอเสียชีวิตหรือไม่ อะไรทำให้ฟาฏิมะฮ์โกรธ จนถึงขั้นสั่งเสียว่า ไม่ให้แจ้งผู้ใดนอกครอบครัวว่าเธอเสียชีวิต ไม่ให้ใครมาร่วมละหมาดญะนาซะฮ์ และปกปิดหลุมฝังศพของเธอมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 1,400 ปีแล้ว หรือเธอต้องการให้ประชาชาติมุสลิมถามว่า แล้วหลุมฝังศพของฟาฏิมะฮ์อยู่ที่ไหน? ทำไมเธอจึงปกปิดไว้ เกิดอะไรขึ้นกับเธอหรือ? ซึ่งจะนำไปสู่การแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งปวงในที่สุด

 

فَاطِمَةُ بَضْعَةٌ مِنِّي، فَمَنْ أَغْضَبَهَا أَغْضَبَنِي

“ฟาฏิมะฮ์คือส่วนหนึ่งของฉัน ผู้ใดทำให้เธอโกรธ เท่ากับทำให้ฉันโกรธ” (ซอเฮียะฮ์บุคอรี วจนะที่ 3714)

 

         เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในมัสยิดนะบะวีย์ บริเวณที่เป็นบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบ้านของฟาฏิมะฮ์บุตรีของท่าน

 

เรียบเรียง : Fareed Denyingyoch


ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม