เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ชีวประวัติอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ชีวประวัติอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.)

 

สถานภาพ                อิมามที่ 6 ของสายธารอิมามียะฮ์

 

นามอันจำเริญ           อิมามซอดิก

 

ฉายานาม                 อบูอับดิลลาฮ์

 

ถือกำเนิด                 17 เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 83

 

สถานที่กำเนิด          มะดีนะฮ์

 

ดำรงตำแหน่งอิมาม   34 ปี (ฮ.ศ 114-148)

 

ชะฮาดัต                  25 เชาวาล ฮ.ศ. 148

 

สถานที่ฝัง                มะดีนะฮ์

 

สถานที่อยู่อาศัย        มะดีนะฮ์

 

สมัญญานาม            ซอดิก ซอบิร ฏอเฮร ฟาฎิล

 

บิดา                        อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.)

 

มารดา                     ท่านหญิงอุมมุฟัรวะฮ์

 

ภิริยา                       ฮะมีดะฮฺ ฟาฏิมะฮ์

 

บุตร                        อิสมาอีล, อับดุลลอฮ์, อุมมุฟัรวะฮ์, มูซา, อิสลฮาก, มุฮัมมัด, อับบาส, อะลี, อัสมาอ์ และฟาฏิมะฮ์

 

อายุขัย                    65 ปี

 

ญะอ์ฟัร บินมุฮัมมัด บินอะลี บินฮุซัยน์ (อ.) (ฮ.ศ. 83-148) เป็นที่รู้จักอย่างดีในนามของ อิมามซอดิก (อ.) อิมามท่านที่ 6 แห่งสายธารอิมามมียะฮ์ บิดาของท่านคือท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) มารดาของท่านคือท่านหญิงอุมมุฟัรวะฮ์ หลานสาวของท่านอบูบักร์ เคาะลิฟะฮ์คนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกบนีสะกีฟะฮ์ ท่านอิมามถือกำเนิดเมื่อปี ฮ.ศ. ที่ 83 ณ เมืองมะดีนะฮ์ และในปี ฮ.ศ. ที่ 148 ถูกทำชะฮีดอำลาจากโลกไป โดยการลอบวางยาพิษด้วยน้ำมือของ มันซูร อับบาส ร่างอันบริสุทธิ์ของท่านถูกฝังอยู่ ณ สุสานบะกีอ์ เมืองมะดีนะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

 

       

ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งอิมามเมื่ออายุ 31 ปี และดำรงตำแหน่งอยู่นาน 34 ปี ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งอิมามะฮ์ เป็นยุคสมัยที่การปกครองของราชวงศ์อะมะวีย์กำลังตกต่ำพอดี ขบวนการกลุ่มต่างๆ ได้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจ ซึ่งท่านอิมามมิได้ให้การสนับสนุนส่งเสริม หรือมีความเห็นพร้องกับกลุ่มใดทั้งสิ้น เนื่องจากพวกเขามีเจตนาเพียงแค่ต้องการยึดอำนาจการปกครอง และสถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครอง บางกลุ่มก็กล่าวอ้างว่าต้องการทำลายบิดอะฮ์และฟื้นฟูศาสนาของพระเจ้า

 

      

แต่ท่านอิมามซอดิก (อ.) มีทัศนะที่เห็นต่างออกไป ท่านมองว่าในสถานการณ์เช่นนั้น การกระทำที่เหมาะสมที่สุดคือการเผยแพร่หลักการ (ฟิกฮ์) ของอาลิมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และวิชาการของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ซึ่งในสถานการณ์ที่สังคมมีความอ่อนแอด้านวิชาการ สิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูสังคมได้ดีที่สุดคือวิชาการ และหลักคิดของท่านอิมามในวันนั้น เป็นที่ประจักษ์สำหรับทุกวันนี้คือ ฮะดีษ (คำรายงาน) ส่วนใหญ่ของฝ่ายชีอะฮ์ ได้ถูกรายงานมาจากท่านอิมามซอดิก (อ.) และชีอะฮ์ผู้ที่ยึดถือแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์จึงถูกรู้จักกันในนามของ “ญะฟะรียะฮ์” ท่านอมามซอดิก (อ.)

 

      

นอกจากจะสอนสั่งวิชาการด้านฟิกฮ์เกาะฮ์แล้ว ท่านยังได้สถาปนานวิชาการด้านเทววิทยาและศาสนศาสตร์ ด้วยการวิพากษ์แลกเปลี่ยนกับนักวิชาการสำนักคิดอื่น เนื่องจากการเติบโตและความเรื่องลือด้านวิชาการของท่านอิมาม จึงทำให้ชั้นเรียนของท่านเต็มไปด้วยนักศึกษาที่ถวิลหาวิชาการ ซึ่งแต่ละคนได้ก้าวเข้าสู่ชั้นเรียนของท่านอิมามด้วยวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้ชั้นเรียนของท่านอิมามมีศานุศิษย์มากมายถึง 4,000 คน

 

      

หลังการเป็นชะฮีดของท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) บรรดาชีอะฮ์ได้แบ่งออกเป็นสี่กลุ่มด้วยกัน กลุ่มหนึ่งมีความเชื่อในการเป็นอิมามของท่านอิมามมูซากซิม (อ.) ส่วนอีกสามกลุ่มที่เหลือที่มีความเชื่อต่างกันออกไป ได้แก่ กลุ่มอิสมาอีลียะฮ์, ก็อตตะฮียะฮ์ และนาว์วะซียะฮ์

 

สกุลวงศ์ ฉายานามและสมัญญานาม

    

สกุลวงศ์

 

        ญะอ์ฟัร บินมุฮัมมัด บินอะลี บินฮุซัยน์ บินอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) อิมามท่านที่ 6 ของสายธารอิมามียะฮ์ และเป็นอิมามท่านที่ 5 ที่สืบเชื้อสายมาจากท่านอิมามอะลี (อ.) มารดาของท่านมีนามว่า “ฟาฏิมะฮ์” หรือ “เกาะรีบะฮ์” โดยมีฉายานามว่า “อุมมุฟัรวะฮ์” (1) บุตรีของท่านกอซิม บุตรของมุฮัมมัด บุตรของอบีบักร์ (2) คุณยายของท่านหญิงคือ อัสมาอ์ บุตรีของอับดุรเราะฮ์มาน บุตรของอบีบักร์ (3) ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า (ولّدنی ابوبکر مرتین) ท่านอบูบักร์ มีส่วนร่วมในกำถือกำเนิดของฉัน 2 ครั้ง (4) ส่วนท่านหญิงอุมมุด ดาวูด คือแม่นมของท่านอิมามซอดิก (อ.) (5) นี่คือสายสกุลด้านหนึ่งของท่านอิมาม (อ.) ส่วนด้านความรู้ จริยธรรมและจิตวิญญาณของท่าน สืบสานมาอีกด้านหนึ่ง อันเป็นสาเหตุทำให้เกิดความคิดใคร่ครวญ ซึ่งแม้แต่กลุ่มที่ไม่เชื่อในการเป็นอิมามัตของท่านก็ยังต้องตระหนักในสิ่งนี้

    

ฉายานาม

 

       

ฉายานามอันเป็นที่รู้จักกันอย่างดีของท่านอิมามคือ “อบูอับดิลลาฮ์” (เนื่องจากบุตรชายคนที่สองของท่านคืออับดุลลอฮ์ อักเฏาะฮ์) แหล่งอ้างอิงบางเล่มกล่าวว่าฉายานามของท่านคือ “อบูอิสมาอีล” (เนื่องจากบุตรชายคนโตของท่านคืออิสมาอีล) และบางคนกล่าวว่าฉายานามของท่านคือ “อบูมูซา” (เนื่องจากบุตชายอีกคนหนึ่งของท่านคืออิมามมูซา กาซิม(

    

 

สมัญญานาม

 

       

สมัญญานามอันเป็นที่รู้จักกันดีของท่านอิมามคือ “ซอดิก” หมายถึงผู้สัจจริงในคำพูด (6) แต่สายรายงานหนึ่งกล่าวว่าสมัญญานามนี้ท่านเราะซูล (ซ็อลฯ) เป็นผู้ตั้งให้ไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้มีความแตกต่างไปจากญะอ์ฟัร กัซซาบ (7) (หมายถึงผู้กล่าวเท็จ) อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า เนื่องจากนามของท่านอิมาม ณ ชาวฟ้าคือ “ซอดิก” (8) อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า เนื่องจากมีการถกเถียงกันระหว่างท่านอิมาม (อ.) กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งจากราชวงศ์อับบาซซีย์ เกี่ยวกับสถานฝังศพของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งขณะนั้นท่านอิมามได้กล่าวเรียกตนเองว่า “ญะอ์ฟัร อัซซอดิก” (9(

 

และสมัญญานามนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่พี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ตั้งแต่ท่านอิมามยังมีชีวิตอยู่ อาทิเช่น ท่านมาลิก บุตรของอนัส (10) อะฮ์มัด บินฮันบัล และญาฮิซ ได้กล่าวถึงสมัญญานามนี้ของท่านอิมาม (11)

 

 

เชิงอรรถ :

 

(1) ชะฮีดี 1384 หน้า 5

 

(2) อัลมุฟีด 1380 หน้า 526-527

 

(3) อิบนุ กุตัยบะฮ์ อัลมะอาริฟ หน้า 215, กุลัยนี กาฟีย์ เล่ม 1 หน้า 472

 

(4) อัรดะบีลีย์ กัชฟุลฆมุมะฮ์ เล่ม 2 หน้า 274

 

(5) อัลอิกบาล บิลอะอ์มาล อัลฮะซะนะฮ์ เล่ม 3 หน้า 241

 

(6) อัลกอบ...59, 60

 

(7) ฟัฎลิบนิชาซาน 210, อิบนุบาวัยฮ์ กะมาล 319, รอวันดี หน้า 364, อัลกอบ 60-61

 

(8) อัลกอบ 60

 

(9) อัลกอบ 59

 

(10) อิบนุ บาวัย เล่ม 1 หน้า 235, บัรกีย์ หน้า 155, ซะฟาร หน้า 338, 428, อะฮ์มัด บิน มุฮัมมัด หน้า 144, 145, ญะมา ฮะมีรี หน้า 22, ฮุซัยน์ บินสะอีด หน้า 20, 21, กุลัยนี กาฟี เล่ม 1 หน้า 401, 474

 

(11) อะฮ์มัด บินฮันบัล มุสนัด เล่ม 5 หน้า 122, อะฎออิล เล่ม 1 หน้า 418, ญาฮิซ

 

 

บทความ : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม