เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปาฐกถาพิเศษคืนชะฮาดัตท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ภายใต้ชื่อ บี อบี อันติ วะอุมมี ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


ปาฐกถาพิเศษคืนชะฮาดัตท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ภายใต้ชื่อ บี อบี อันติ วะอุมมี ตอนที่ 2  


โดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิด สุไลมาน ฮูซัยนี

 

เรื่องในลักษณะนี้มีอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของบรรดาอะอิมมะฮฺ(อ) ทั้งนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรำลึกถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ให้มีอยู่ตลอดเวลา และเป็นเหตุผลหนึ่งที่บรรดาอะอิมมะฮฺ(อ) ให้รำลึกถึง โดยเฉพาะรำลึก ในมูศีบัต ความทุกข์โศกต่างๆที่ท่านหญิงได้เผชิญมาตลอดชีวิต ฉะนั้น ควรใช้เวลาเป็นอย่างมากในการทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ เพราะเนื้อหาของสตรีผู้นี้ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก เหมือนกับที่ได้บอกพวกเราไปแล้วว่า     “การรู้จักท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ) คือ การรู้จักศาสนา”

 

การรู้จักตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่รู้เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ ว่าท่านเป็นอย่างไร? ถือกำเนิดมาอย่างไร? มีวีรกรรมใดบ้าง? แต่คำว่า รู้จัก หมายถึง การมีมะอฺรีฟัต กล่าวคือ เราต้องร้อยชีวิตจิตวิญญาณและอุดมการณ์ของเรา ไปในวิถีทางเดียวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) เป็นวิถีชีวิตที่ลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่ และมีเรื่องราวที่เป็นความประเสริฐอย่างมากมายเกินสติปัญญาของมนุษย์ ที่จะไปถึงเรื่องราวต่างๆเหล่านั้นได้ อีกทั้งเป็น แบบอย่างทั้งบุรุษและสตรีทั้งผองอีกด้วย

 

หลักฐานต่างๆที่มีอยู่ในตำราได้ยืนยันอย่างชัดเจน ทั้งอัลลอฮฺ(ซ.บ) รอซูลและบรรดาอะอิมมะฮฺ(อ) ก็ได้พูดถึงความ   ยิ่งใหญ่ของสตรีผู้นี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งแน่นอน ด้วยความประเสริฐ ด้วยความยิ่งใหญ่ทั้งหมด เราไม่สามารถสรุปลงได้แค่เพียงมัจญลิสเดียว ที่จะทำให้เรารู้จักท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

 

อัล-กุรอานจำนวนมากได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของสตรีผู้นี้ หนึ่งโองการ ที่มวลอุมมะฮ์อิสลามมีทัศนะและมติเป็นเอกฉันท์ คือโองการ “อัล เกาษัร” ก่อนที่สตรีผู้นี้จะถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้แจ้งให้ท่านนบีมูฮัมมัด(ซล)ทราบล่วงหน้า ด้วยฉายาหนึ่งที่ ยิ่งใหญ่ที่สุด คือ อัลเกาษัร

 

“อัลเกาษัร” หมายถึง ความดีที่ไม่มีวันหมด ความดีที่ล้นเหลือและมหาศาล ความดีที่ไม่มีใครสามารถที่ จะคณานับได้ เป็นความจำเริญที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น เรื่องราวของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) จึงไม่มีวันสิ้นสุด เพราะก่อนที่อัลลอฮฺ(ซบ) จะประทานท่านหญิง พระองค์ได้บอกสถานภาพของท่านหญิงให้ท่านนบีทราบไว้ล่วงหน้าแล้ว จากนั้นได้บอกกับอุมมะฮฺอิสลามด้วยว่า  إِنَّا أَعْطَيْنَاكَ الْكَوْثَرَ   เราจะประทาน  الْكَوْثَر  ให้กับเจ้า เจ้าไม่ต้องโศกเศร้า ไม่ต้องเสียใจในสิ่งต่างๆ ไม่ต้องโศกเศร้าที่เจ้าไม่มีบุตรชายหรือมีมาแล้ว แต่อัลลอฮ(ซบ)ทรงเอากลับคืนไปทั้งหมด

 

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ อัลลอฮฺ(ซบ) ไม่ต้องการให้คนหนึ่งคนใดในโลกมีสิทธิประกาศว่า

ฉันคือบุตรแห่งมูฮัมมัด(ซล)ได้ นอกจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) เหมือนกับพระองค์ต้องการจะบอกกับท่านนบี             มูฮัมมัด(ซล) ว่า เจ้าได้สิ่งนี้ ไปแล้ว เสมือนกับเจ้าได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
อัลลอฮฺ(ซบ) ได้ปฐมบทการประกาศความดีของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ด้วย “อัลเกาษัร” หลังจากนั้นความเป็น           “อัลเกาษัร”ของท่านหญิงก็ถูกนับในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอานจำนวนมาก

 

ทำไมในทัศนะของอัลลอฮฺ(ซ.บ) นางจึงถูกเรียกว่า “อัลเกาษัร”? เพราะกรุอานจำนวนมาก ได้ถูกประทานลงมาในสถานภาพของท่านหญิง ซึ่งบรรดาอะอิมมะฮฺ(อ) ก็เป็นผู้ยืนยันในสิ่งนี้


โองการหนึ่งที่บ่งชี้และยืนยันในเรื่องนี้คือ

 

ولله الأسماء الحسنى فادعوه بها

ความว่า….. “และสำหรับอัลลอฮฺ (ซ.บ) นั้น มีบรรดาพระนาม อันสวยงาม ดังนั้นพวกเจ้าจงเรียกหาพระองค์ด้วยพระนามเหล่านั้นเถิด”   ( ซูเราะห์อะรอฟ โองการที่ 180 )

 

เมื่อสาวกผู้ใกล้ชิด ได้ถามท่านอิมามศอดิก(อ) ว่า การที่อัลลอฮฺ(ซบ)ให้เราเรียกหาพระองค์ด้วยพระนามต่างๆเหล่านั้นคือพระนามอะไร ?  บางริวายัต บรรดาอะอิมมะฮฺ จะตอบว่า พระนามต่างๆ เหล่านั้น คือ เราอะฮฺลุลบัยตฺ(อ)


อะฮฺลุลบัยตฺ คือ พระนามอันสวยงามของอัลลอฮฺ(ซ.บ) และใน บางวาระ เมื่อสาวกที่ใกล้ชิดถาม บรรดาอะอิมมะฮฺ ก็จะอธิบายความหมายที่สูงสุดของโองการนี้ว่า คือ ‘ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ)’

 

ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอาน โองการจำนวนมากที่เกี่ยวกับเรื่องราวท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) ซึ่งไม่ได้ถูกรู้จักเพียงแค่โองการ     إِنَّا أَعْطَيْنَاكَ الْكَوْثَرَ    หรือ 

إِنَّا أَنزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ  เท่านั้น  ในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอานอีกมากมายที่บรรดาอะอิมมะฮฺ(อ) ได้เปิดเผยความลับว่าโองการที่ยิ่งใหญ่ทั้งหมด หมายถึง ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

ในส่วนของฮะดิษก็มีปรากฏอย่างมากมาย ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล)อธิบายถึงสถานภาพอันสูงส่งของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ)

 

หนึ่งในฮะดิษที่มีชื่อเสียงและเป็นฮะดิษที่ศอเฮียะ จากท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล) กล่าวว่า

 

يا فاطمةُ إنّ اللهَ یَغضِبُ لِغَضَبِکِ ویَرضى لِرضاکِ

“แท้จริงอัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงกริ้ว กับการกริ้วของฟาฏิมะฮฺ ทรงพึงพอใจกับความพึงพอใจของฟาฏิมะฮ”  

บางฮะดิษกล่าวว่า…  إنّ اللهَ یَرضى لِرضاکِ

“(โอ้ฟาฏิมะฮฺ) แท้จริงอัลลอฮฺ (ซบ) พึงพอใจกับการพึงพอใจของนาง”

 

ฮะดิษในลักษณะนี้นั้นไม่ได้พูดกล่าวเพียงครั้งเดียว แต่มีการกล่าวต่างกรรมต่างวาระ รวมความแล้ว เป็นสตรีผู้หนึ่งที่อยู่ในสถานภาพที่ยิ่งใหญ่ ที่อัลลอฮฺ(ซบ)ประกาศความพึงพอใจ

 

ในฮะดีษและอัลกรุอานมีมากมายหลายตัวบท หนึ่งประโยค หนึ่งคำกล่าวนั้น มีมากมายหลายความหมาย บางครั้งมีความหมายทั้งด้านอัคลาก ภาษา ฟิกฮ์ อิรฟาน และ บางครั้งด้านมะอฺรีฟัต ไม่ว่าเราจะใช้ไปในทางไหน ในแต่ละความหมายก็จะมีความลึกซึ้งที่แตกต่างกันไป อย่างเช่น ฮะดิษ ที่ว่า สตรีผู้ได้รับการเชิดชูโดยพระผู้เป็นเจ้า

 


ขอขอบคุณเว็บไซต์ Syedsulaiman

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม