เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 30

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)


เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 30


อิรอดะฮ์ “ارادة” พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

 

“อิรอดะฮ์” (ความประสงค์) นักปรัชญาอิสลามมีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างมาก ในเรื่องนี้ถกเถียงกันว่า “อิรอดะฮ์”(พระประสงค์)ของพระองค์ เป็น”ซาตียะฮ์”(คู่กับพระองค์มาแต่เดิม) หรือว่าเป็น”ฟิอฺลียะฮ์” “คือ(ถูกรู้จักภายหลังจากที่พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง) และยังถกกันในเรื่องของความเป็น”กอดีม”คือ(มีมาแต่เดิม) หรือว่าเป็น”ฮาดีษ” (เกิดขึ้นมาใหม่) และถกในเรื่องของความเป็น”วาฮิด” (มีความเป็นหนึ่งเดียว) หรือ “มุตะอัดดิด” (มีมากมายหลากหลาย)


- ทัศนะที่แพร่หลายเกี่ยวกับความหมายของ “อิรอดะฮ์” (ความประสงค์) ของอัลลอฮ์(ซบ)นักปรัชญาอิสลามได้ให้คำนิยามไว้ ๒ ความหมายหลัก คือ


1.หมายถึง ความรัก ความชอบ ความต้องการ
2.หมายถึง การทำให้เกิด การตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น


นิยามที่ 2 นั้น มีความหมายของนิยามที่ 1รวมอยู่ด้วย เพราะการที่จะตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วนั้นต้องมีความรัก ความชอบ ความต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นด้วย
1.นิยาม “อิรอดะฮ์” ที่ให้ความหมายว่า ความรัก ความชอบ ความต้องการ ซึ่งในบางครั้งความต้องการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ความรักความชอบของพระองค์ที่จะให้อิมามมะฮ์ดี(อ)ปรากฏกาย แต่ปัจจุบันในความเป็นจริงอิมามมะฮ์ดี(อ)ยังไม่ปรากฏ


ตัวอย่าง จากอัลกุรอานในซูเราะฮ์อัลกอศอศ โองการที่ 5


وَ نُرِيدُ أَن نَّمُنَّ عَلىَ الَّذِينَ اسْتُضْعِفُواْ فىِ الْأَرْضِ وَ نجَْعَلَهُمْ أَئمَّةً وَ نجَْعَلَهُمُ الْوَارِثِين‏
 

“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปราณแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่บนหน้าแผ่นดิน และทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด”
โองการนี้คำว่า 'นูรีดุ' มาจากรากศัพท์ของ อิรอดะฮ์ (ความประสงค์) หมายถึง ความรักความชอบที่จะให้ผู้ที่ถูกกดขี่นั้นเป็นผู้นำ ซึ่งผู้ถูกกดขี่ นี้ หมายถึงบรรดาอิมามอะฮฺลุลเบต (อ) และเป้าหมายของโองการดังกล่าวคือ ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)ผู้ถูกรอคอย


คำว่า “มุสตัฏอะฟีน” ไม่ได้หมายถึง บุคคลที่อ่อนแอ แต่หมายถึงบุคคลที่มีพละพลังกำลัง มีความสามารถแต่ถูกบรรดาผู้กดขี่กดดัน กดขี่ข่มเหง ซึ่งในความเป็นจริง เขาไม่ได้ยอมศิโรราบต่อการกดขี่นั้นเขาพยายามต่อสู้อยู่ตลอดเวลาที่จะเอาชนะการกดขี่นั้นและทำให้บรรดาผู้กดขี่นั้นเพลี่ยงพล้ำ


เป้าหมายนั้นเพื่อให้ศาสนาแห่งสัจธรรมและความยุติธรรมเกิดขึ้นบนโลกนั่นเอง


โองการดังกล่าวเป็นการแจ้งข่าวดีถึงการปกครองหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของโองการดังกล่าว คือ การเกิดขึ้นของระบบการปกครองที่ยุติธรรมที่สุดบนหน้าแผ่นดิน การปกครองของสัจธรรมและความยุติธรรมจะปกคลุมทั่วแผ่นดินด้วยการปรากฏของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)


ฮะดิษจากท่านอิมามอาลี(อ)มาอธิบายโองการดังกล่าว จากหนังสือตัฟซีรนุรุซซะกอลัยน์ เล่มที่ 4 หน้า 110


هم آل محمد (ص) يبعث اللَّه مهديهم بعد جهدهم، فيعزهم و يذل عدوهم:
 

“พวกเขาคือวงศ์วานของศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) หลังจากที่ความยากลำบาก ความกดดัน ความกดขี่เกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น อัลลอฮ์(ซบ)จะให้การปรากฏของอิมามมะฮ์ดี(อ)จากพวกเขาเกิดขึ้น และจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีเกียรติและศัตรูของพวกเขาจะถูกทำให้อัปยศ”


และอีกโองการหนึ่งในซูเราะฮ์อัลอันฟาล โองการที่ 67


تُرِيدُونَ عَرَضَ الدُّنْيَا وَ اللَّهُ يُرِيدُ الاَْخِرَةَ وَ اللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيم‏
 

“พวกเจ้านั้นต้องการสิ่งเล็กน้อยแห่งโลกนี้ แต่อัลลอฮ์(ซบ)นั้นปรารถนาปรโลก(
ชีวิตหลังความตายให้กับพวกเจ้า)และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงปรีชาญาณ”


สาเหตุของการประทานโองการนี้ เนื่องจากในยุคเริ่มแรกของอิสลามนั้น เชลยศึก คือ สินสงคราม บรรดาทหารของอิสลามจึงไม่อยากฆ่าศัตรูมากเพราะต้องการจับเชลยศึกมาครอบครอง บางคนออกไปทำสงครามเพื่อต้องการทาสมาครอบครอง


การได้สินสงครามในวันนั้น หมายถึง รางวัลในโลกนี้ โองการนี้จึงถูกประทานลงมาว่า พวกเขาชอบสิ่งเล็กน้อยในโลกนี้ แต่พระองค์มีความชอบต่ออาคิเราะฮ์ (ชอบโลกหน้า)
ความประสงค์ของพระองค์ไม่ได้หมายความว่า พระองค์มีความต้องการ ไม่ได้หมายถึงพระองค์มีความจำเป็น แต่หมายถึงความรัก ความชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในอาตมันของพระองค์อยู่แล้ว คู่กับอาตมันของพระองค์มีอยู่หนึ่งเดียวและมีมาแต่เดิม


2. นิยาม "อิรอดะฮ์" ที่หมายถึงการทำให้เกิด การตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด


ในโองการในซูเราะฮ์ยาซีน โองการที่ 82


إِنَّمَا أَمْرُهُ إِذَا أَرَادَ شَيًْا أَن يَقُولَ لَهُ كُن فَيَكُون‏
 

“แท้จริงกิจการ “อัมรฺ” “أَمْر” ของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะประกาศิตว่าจงเป็น แล้วมันก็จะเป็นขึ้นโดยพลัน”


คำว่า "อะรอดะ” ในโองนี้ มาจากรากศัพท์ของ "อิรอดะฮ์” ความประสงค์ของพระองค์ในโองการนี้คือเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์จะบันดาลให้สิ่งนั้นๆเกิดขึ้นมา เนื่องจากสรรพสิ่งที่ถูกทำให้เกิดมานั้นมีอย่างมากมายหลายสิ่งหลายอย่างและไม่ได้เกิดขึ้นมาในเวลาเดียวกัน เป็นความประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ซึ่งได้ถูกรู้จักภายหลังจากที่พระองค์ทรงสร้าง “อิรอดะฮ์”ในโองการนี้อยู่ในรูปแบบของ “كُن فَيَكُون”


ดังนั้น เมื่อพระองค์ประสงค์ พระองค์ก็จะประกาศิตว่า “จงเป็น" มันก็จะเกิดขึ้นมาทันที บันดาลให้เกิดขึ้นมา เนรมิตให้เกิดขึ้นมา คือตัดสินใจให้เกิดขึ้นมา ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในรูปแบบที่เมื่อพระองค์ประสงค์พระองค์ก็จะบันดาลให้เกิดขึ้นมา

ตัวอย่าง:


การทำให้น้ำท่วมโลกในยุคศาสดานุฮ์(อ)
การผ่าทะเลแดงในยุคศาสดามูซา(อ)


การทำให้ไฟเย็นในยุคของศาสดาอิบรอฮีม(อ)


การผ่าดวงจันทร์ในยุคศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล) ฯลฯ

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี