ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 2

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

 

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 2

 

ทัศนะสายกลาง

 

ทัศนะนี้ เป็นความเชื่อแนวทางชีอะฮ์ เป็นทัศนะที่เป็นทางสายกลาง ซึ่งจาก ฮะดีษของอิมามศอดิก(อ) ความว่า

 

لاجبر ولاتفویض ولکن امر بین الامرین

 

“ไม่ใช่ทั้ง”ญับร์” (กลุ่มที่ปฏิเสธสิทธิเสรีในการเลือกของมนุษย์) และไม่ใช่ทั้ง”ตัฟวีฎ” (กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีในการเลือก โดยที่พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับการงานของเขาอีก) แต่ทว่ามันคือเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างมันทั้งสอง”

 

ทัศนะ “ชีอะฮ์" เชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิในการเลือก (อิคติยาร) และกระทำสิ่งต่างๆพร้อมรับกับการเชื่อว่า พระองค์เป็นผู้กำหนดผลของการเลือกของเขา พระองค์เป็นผู้ประทานความสำเร็จ ในสิ่งที่มนุษย์เลือกกระทำ

 

กลุ่มแนวนี้ปฏิเสธทัศนะที่สุดโต่งของสองกลุ่มข้างต้น โดยอธิบายว่า มนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือก (อิคติยาร) ในการกระทำใดๆที่อยู่ภายในกรอบของศาสนา แต่ผลของการเลือกนั้นจะเกิดขึ้นหรือเป็นเช่นใด ขึ้นอยู่กับการควบคุมการอภิบาลและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

 

ตัวอย่าง : บุคคลหนึ่งมีความขยันมั่นเพียรในการทำงาน แต่เขาก็จะไม่กล่าวอย่างมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จหรือไม่นั้น พระองค์คือผู้ประทานให้ ดังนั้นแล้ว มนุษย์จึงทำได้เพียงเลือกกระทำหรือไม่กระทำเท่านั้น แต่ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว พระองค์จะให้เกิดขึ้นตามตรรกะและเหตุผล โดยวิถีทางธรรมชาติของโลกสรรพสิ่ง

 

ข้อสังเกต ชีอะห์เชื่อว่า ก่อนที่ "กอฎอ กอดัร” จะเกิดขึ้นได้นั้น มันต้องมีปฐมเหตุ (มุก็อดดิมะฮ์) มันต้องมีที่มาที่ไปของมัน ดังนั้นแล้ว หากไม่มีที่มาที่ไป เป็นไปไม่ได้ที่อะไรต่างๆนานาจะเกิดขึ้นได้ และแต่ละปฐมเหตุ (มุก็อดดิมะฮ์) ก็จะนำไปสู่ "กอฎอและกอดัร” ที่แตกต่างกันไป เมื่อปฐมเหตุ (มุก็อดดิมะฮ์) เปลี่ยน “กอฎอ กอดัร” ของมันก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย

 

ตัวอย่าง : ปฐมเหตุของการเกิดขึ้นของมนุษย์

 

มนุษย์ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น ผ่านการแต่งงาน ผ่านการปฏิสนธิ กว่าจะโตต้องได้รับสารอาหาร ต้องได้รับปัจจัยต่างๆอย่างมากมายและสุดท้ายกว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ได้นั้นอยู่ที่การทำคลอด หากรอดชีวิตมาได้ก็ออกมาเป็นมนุษย์แต่ถ้าไม่รอดชีวิตก็จบลง เฉกเช่นเดียวกัน "การกอฎอและกอดัร” ของพระองค์นั้นมีขั้นตอน มีสถานที่ มีเวลา แต่ผลของการกระทำต่างๆเป็นสิทธิของพระองค์ในการกำหนดจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด

 

ตัวอย่าง : มนุษย์ต้องการเป็นเศรษฐี

 

ขั้นตอนแรก เขามีสิทธิที่จะเลือกปฐมเหตุ ที่นำไปสู่ความร่ำรวยจนเป็นเศรษฐี คือ การทำงาน เบื้องต้นเขาต้องขยัน ส่วนจะรวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ "การกอฎอ กอดัร"ของพระองค์ ไม่ใช่หวังอยากรวยขึ้นมา แต่กลับไม่ได้ทำอะไรและไม่ต้องทำอะไร ในเมื่อพระองค์กำหนดให้รวยแล้ว พระองค์ก็จะบันดาลให้ร่ำรวยขึ้นมา ความเชื่อแบบนี้นั้นไม่ถูกต้อง และเช่นกันเมื่อมนุษย์ขยันขันแข็งในการทำงาน เพื่อหวังความมั่งคั่ง แต่อาจยังคงจนอยู่เหมือนเดิม ไม่ร่ำรวยเหมือนบางคน ในประเด็นที่มีความตั้งใจทำงาน ขยันขันแข็งแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องร่ำรวยร้อยเปอร์เซนต์กันทุกคน ต้องตระหนักด้วยว่า พระองค์เป็นผู้ประทานและไม่ประทานความสำเร็จ ในสิ่งที่มนุษย์เลือกกระทำด้วย

 

ดังนั้น มนุษย์มีสิทธิแค่เลือกในการทำปฐมเหตุต่างๆ พระองค์จะกำหนดไปตามปฐมเหตุที่มนุษย์เลือก พระองค์จะให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ให้ประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับพระประสงค์พระองค์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ให้เกิดขึ้นนั้นมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่

 

บ่งบอกว่า มนุษย์จะร่ำรวยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกำหนดของพระองค์ และในเรื่องอื่นๆก็เช่นเดียวกัน มนุษย์มีสิทธิแค่เลือกทำปฐมเหตุ ในการนำไปสู่ความต้องการในด้านต่างๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผลของมันจะเกิดไปตามปฐมเหตุนั้นๆ เว้นแต่บางครั้งพระองค์ไม่ให้เกิด มันมีวิทยปัญญา(ฮิกมะฮ์)ซ่อนอยู่ และบางครั้งอาจหมายถึง ถ้าพระองค์ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเขา จะส่งผลความไม่ปลอดภัยต่อความศรัทธาของเขา หรืออื่นๆ เพราะพระองค์รู้ว่า การไม่ให้ในสิ่งที่เขาต้องการนั้น สำหรับเขามีผลที่ดีมากกว่า

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี