ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 11


บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)


ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 11

 

พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบที่อยู่ภายใต้การสร้างสรรค์ หรือธรรมชาติ หรือทุกภารกิจการงานให้อยู่ใต้ระบบที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงสำหรับตัวมัน ดังที่พระองค์ตรัสในซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮฺ โองการที่ 22

 

الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الأَرْضَ فِرَاشاً وَالسَّمَاء بِنَاء وَأَنزَلَ مِنَ السَّمَاء مَاء فَأَخْرَجَ بِهِ مِنَ الثَّمَرَاتِ رِزْقاً لَّكُمْ فَلاَ تَجْعَلُواْ لِلّهِ أَندَاداً وَأَنتُمْ تَعْلَمُونَ

 

คือผู้ทรงให้แผ่นดินเป็นที่นอน และฟ้าเป็นอาคาร แก่พวกเจ้า และทรงให้น้ำหลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วได้ทรงให้บรรดาผลไม้ออกมา เนื่องด้วยน้ำนั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าให้มีผู้เท่าเทียมใด ๆ ขึ้น สำหรับอัลลอฮฺ โดยที่พวกเจ้าก็รู้กันอยู่

 

ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮฺโองการที่ 164 ความว่า


إِنَّ فِي خَلْقِ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ وَاخْتِلاَفِ اللَّيْلِ وَالنَّهَارِ وَالْفُلْكِ الَّتِي تَجْرِي فِي الْبَحْرِ بِمَا يَنفَعُ النَّاسَ وَمَا أَنزَلَ اللّهُ مِنَ السَّمَاء مِن مَّاء فَأَحْيَا بِهِ الأرْضَ بَعْدَ مَوْتِهَا وَبَثَّ فِيهَا مِن كُلِّ دَآبَّةٍ وَتَصْرِيفِ الرِّيَاحِ وَالسَّحَابِ الْمُسَخِّرِ بَيْنَ السَّمَاء وَالأَرْضِ لآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَعْقِلُونَ

 

แท้จริงในการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสับเปลี่ยนกลางคืนและกลางวัน และเรือที่วิ่งอยู่ในทะเล พร้อมด้วยสิ่งที่อำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ และน้ำ ที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้หลั่งลงมาจากฟากฟ้า แล้วทรงให้แผ่นดินมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยน้ำนั้นหลังจากที่มันตายไปแล้ว และได้ทรงให้สัตว์แต่ละชนิด แพร่สะพัดไปในแผ่นดิน และในการให้ลมเปลี่ยนทิศทาง และให้เมฆซึ่งถูกกำหนดให้บริการ(แก่โลก) ผันแปรไประหว่างฟากฟ้าและแผ่นดินนั้น แน่นอนล้วนเป็นสัญญาณนานาประการแก่กลุ่มชนที่ใช้ปัญญา

 

คำอธิบาย : พระองค์ตรัสว่า เราได้จัดวางท้องฟ้าและแผ่นดินไว้ในที่ ๆ มีความเหมาะสมกับทั้งสอง ตลอดจนการจัดวางกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งบรรดากฎเกณฑ์ของพระองค์ล้วนวางอยู่บนความยุติธรรม และมีความเหมาะสมกับเป้าหมายในการสร้างสรรค์ของพระองค์ ไม่มีการแบ่งแยกหรือมีความแตกต่างใด ๆ ในกฎเกณฑ์เหล่านั้นซึ่งหากเราพิจารณามีทั้งความยุติธรรมตามนิยามที่สาม คือ “การให้สิทธิตามที่สิ่งนั้นควรจะได้รับ” และทั้งตามนิยามที่สี่คือ “การวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะของมัน”

 

นิยามที่สาม คือการให้สิทธิ สรรพสิ่งต่างๆมีสิทธิที่จะเกิดขึ้น และพระองค์ก็ให้สรรพสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น

 

นิยามที่สี่ คือ ทุกสรรพสิ่งถูกสร้างมาโดยมีปรัชญาของเป้าหมาย”ฮิกมะฮ์” อย่างมีเหตุมีผล ในการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งทั้งหลาย


ดังที่ท่านอิมามอะลี กล่าวว่า ความยุติธรรมคือ การจัดวางทุกภารกิจการงานในที่ ๆ มีความเหมาะสม

 

สิทธิของมนุษย์ในที่นี้ หมายถึง เมื่อมีสิทธิที่จะเกิดขึ้นมา แน่นอนว่าพระองค์ได้มอบสิทธิอันนั้นติดตัวมนุษย์มาด้วย ซึ่งในการให้เกิดขึ้นมานั้น มีเหตุผลตามนิยามที่สี่ คือ มีเหตุมีผล มีปรัชญาของเป้าหมาย “ฮิกมะฮ์” และที่สำคัญมนุษย์เกิดมาแล้วต้องมีศาสนาเพราะศาสนาจะนำมนุษย์ไปสู่เป้าหมายที่สมบูรณ์

 

 

ประโยชน์ของศาสนา

 

หากพิจารณาในรายละเอียด ประโยชน์ของศาสนามีอยู่มากมาย ซึ่งประเด็นหลักเป็นที่ชัดเจนไม่มีความคลางแคลงในแต่อย่างใด จะเห็นว่า การประทานศาสนามายังมนุษย์มาจากความยุติธรรมตามนิยามที่สามและนิยามที่สี่ ทว่าการประทานศาสนาให้แก่มนุษย์นั้น ถือเป็นสิทธิสำหรับมนุษย์ที่จะเลือกปฏิบัติตามหรือเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตาม( รับทางนำ หรือปฏิเสธทางนำ) จะเห็นว่า ศาสนาได้ทำให้มนุษย์สนใจต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยกับข้อสงสัยต่างๆนานา ดังนี้

 

ตัวอย่าง “ข้อคลางแคลงสงสัย”

 

(ชุบฮะห์)ที่ 1 ข้อคลางแคลงสงสัยในความแตกต่างในสรรพสิ่ง ซึ่งมวลมนุษย์มีทั้งผิวขาว ผิวดำ และสีผิวอื่นๆ ประเด็นความแตกต่างเหล่านี้ดูเหมือนไม่ยุติธรรม เพราะบางคนมีฐานะร่ำรวย บางคนยากจน บางคนเกิดมาสวย-หล่อ บางคนเกิดมาขี้เหร่ บางคนสีผิวไม่เหมือนกัน เพราะในบางครั้งคนผิวดำอาจถูกเหยียดหยาม ถูกดูถูก และความแตกต่างในด้านอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งความแตกต่างบางอย่างสามารถอธิบายได้ง่าย แต่บางอย่างต้องใช้ความลึกซึ้งในการอธิบาย ซึ่งบางครั้งเป็นความแตกต่างทางด้านสรีระ เช่น ความพิการ บางคนร่างกายสมบูรณ์ บางคนสมหวัง บางคนผิดหวัง แม้กระทั่งในสัตว์ พระผู้เป็นเจ้ามีเหตุผลใด ทำไมสัตว์บางชนิดเกิดมาเพื่อถูกล่าและทำไมสัตว์บางชนิดเกิดมาเพื่อเป็นนักล่า

ในที่นี้ ความแตกต่างเหล่านี้จะอธิบายอย่างไรที่ไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า

 

คำถาม : ทำไมพระองค์ไม่สร้างมนุษย์ให้ขาวทั้งหมด จะได้ไม่ต้องมีใครถูกเหยียดหยาม

 

คำตอบ : คำถามนี้เกิดมาจากความเข้าใจผิด มนุษย์บางกลุ่มคิดไปว่า ผิวขาวดีกว่าผิวดำ เกิดจากความผิดพลาดของการให้คุณค่าที่ผิดๆ เมื่อให้คุณค่าผิด คิดว่าผิวขาวดีกว่าผิวดำ จึงทำให้คนที่เกิดมาผิวดำ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจบอกว่า มันไม่ยุติธรรม

 

ดังนั้น หากให้คุณค่าว่า ผิวดำดีกว่าผิวขาว คนขาวก็จะเรียกร้องความยุติธรรมขึ้นมาอีก ปัญหาอยู่ที่ความผิดพลาดของการให้คุณค่า

 

ฉะนั้นคุณค่าของมนุษย์ในทัศนะของอิสลาม ในทัศนะของพระผู้เป็นจ้านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีผิว หรือเพศ แต่ทว่าอยู่ที่ความยำเกรง(ตักวา)ของมนุษย์ต่างหาก ซึ่งอัลกุรอานได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้ในซูเราะฮ์ ฮุจญรอต โองการที่ 13

 

يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُمْ مِنْ ذَكَرٍ وَأُنْثَىٰ وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوبًا وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا ۚ إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَتْقَاكُمْ ۚ إِنَّ اللَّهَ عَلِيمٌ خَبِيرٌ

 

“โอ้มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงเราได้สร้างพวกเจ้าเป็นเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อที่พวกเจ้าจะได้รู้จักกัน แท้จริงผู้ที่มีเกียรติยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์นั้น คือ ผู้ที่มีความยำเกรงในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน”

 

คำอธิบาย ชัดแจ้งว่า ความแตกต่างเหล่านี้ไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เพราะในความเป็นจริงผิวขาวไม่ได้ดีไปกว่าคนผิวดำ อีกทั้งผิวดำก็ไม่ได้ดีไปกว่าผิวขาว และในความหลากหลายนั้นไม่ได้ขัดกับความยุติธรรม

 

แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์เริ่มต้น เนื่องจากคนผิวขาวเอาคนผิวดำมาเป็นทาส จึงเป็นสาเหตุทำให้คนผิวดำรู้สึกต่ำต้อย ทว่ากลับกันถ้าสมมุติโลกเริ่มต้นด้วยการเอาคนขาวมาเป็นทาส คนขาวก็จะรู้สึกต่ำต้อย และคนดำก็จะไม่รู้สึกต่ำต้อย ซึ่งความผิดพลาดอันนี้เป็นความผิดของมนุษย์ จะมากล่าวหาว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ยุติธรรมไม่ได้

 

สมมุติฐาน หากการสร้าง พระองค์สร้างแต่ผู้หญิง คำถามที่จะตามมา คือ ทำไมไม่มีผู้ชาย และคำถามอื่นๆ เช่น ทำไมไม่ให้เหมือนกันหมด ทำไมไม่สร้างมาให้เป็นผู้ชายทั้งหมด หรือทำไมไม่ให้เป็นผู้หญิงทั้งหมด?

 

คำตอบ คือ ถ้าเป็นผู้ชายทั้งหมด เท่ากับการไม่ได้สร้าง เพราะอีกไม่นานจะไม่เหลือมนุษย์คนใดดำรงอยู่ เพราะไม่มีการสืบเผ่าพันธ์ุ

 

แน่นอนว่า การขยายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ จำเป็นต้องมีทั้งผู้ชายและผู้หญิง อาจจะมีคำถามขึ้นมาอีกว่าแล้วทำไม่ต้องให้ผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย? คำถามนี้ก็เช่นกันเกิดมาจากการให้คุณค่าที่ผิด โดยมีทัศนะว่าผู้ชายดีกว่าผู้หญิง เพราะการให้คุณค่าที่ผิด ผู้หญิงจึงกล่าวว่ามันไม่ยุติธรรม

 

หากพิจารณา คุณค่าของความเป็นมนุษย์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เพราะความแตกต่างทางเพศไม่ได้ขัดกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจากโองการข้างต้นก็เป็นคำตอบหนึ่งที่ชัดเจน(ฮุจญรอต 13) ที่กล่าวถึงความลึกซึ้งของเพศที่ต่างกันคือ สิทธิในการเกิดนั้นแตกต่างกัน บางคนมีสิทธิเป็นผู้ชาย บางคนมีสิทธิเป็นผู้หญิง

 

ดังนั้น การที่พระองค์ให้มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง บ่งชี้ถึง ความยุติธรรมตามนิยามที่สี่ คือ มีฮิกมะฮ์ มีปรัชญาของเป้าหมายที่ลึกซึ้ง เพื่อให้เกิดความสงบซึ่งกันและกัน ซึ่งในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัรรูม โองการที่ 21 ความว่า



وَمِنْ آيَاتِهِ أَنْ خَلَقَ لَكُم مِّنْ أَنفُسِكُمْ أَزْوَاجًا لِّتَسْكُنُوا إِلَيْهَا وَجَعَلَ بَيْنَكُم مَّوَدَّةً وَرَحْمَةً ۚ إِنَّ فِي ذَٰلِكَ لَآيَاتٍ لِّقَوْمٍ يَتَفَكَّرُونَ

 

“และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือ ทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้พบกับความสงบอยู่กับนาง และพระองค์ได้ทรงสร้างความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า แท้จริงในการนี้ แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญ”

 

คำอธิบาย : จะเห็นได้ว่า ผู้ชายเรียกร้องผู้หญิง ส่วนผู้หญิงก็เรียกร้องผู้ชาย ถือเป็นกฎธรรมชาติในการสร้างมนุษย์ ความสงบจะไม่เกิดขึ้นหากสองเพศไม่ได้มาพบกัน และที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น คือ มนุษย์จะดำรงอยู่ในโลกนี้ได้ มนุษย์จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้

 

จะเห็นได้ว่า การช่วยเหลือบางกรณีต้องใช้เพศตรงกันข้าม เช่น งานบางประเภทเหมาะสำหรับผู้ชาย บางประเภทเหมาะสำหรับผู้หญิง เช่น การหาปัจจัยชีพมาเลี้ยงครอบครัว เป็นงานหลักของผู้ชาย ถือความสามารถอันนี้เป็นหน้าที่ของผู้ชาย เพราะสรีระทางร่างกายของผู้ชายนั้นมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนงานและหน้าที่หลักของผู้หญิงคือ งานบ้าน ต้องอยู่บ้าน เพื่ออบรมสั่งสอน-เลี้ยงดูบุตร เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่สามารถมอบความรักความเมตตาให้แก่บุตรได้ดีที่สุดและมีความอดทนในการดูแลบุตรในวัยทารกได้ดีกว่าเพศชาย

 

ดังนั้นแล้วหากมนุษย์เชื่อมั่นต่อความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าและใช้ประโยชน์อย่างดีที่สุดจากศาสนาของพระองค์อย่างแท้จริง แน่นอนว่า บั้นปลายสุดท้ายชีวิตของเขาจะมีแต่ความสุข ดังที่พระองค์ทรงตรัสในซูเราะฮ์อัน นะฮฺลิ โองการที่ 97 ความว่า

 

مَنْ عَمِلَ صَالِحًا مِّن ذَكَرٍ أَوْ أُنثَى وَهُوَ مُؤْمِنٌ فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاةً طَيِّبَةً وَلَنَجْزِيَنَّهُمْ أَجْرَهُم بِأَحْسَنِ مَا كَانُواْ يَعْمَلُونَ

 

“ผู้ใดปฏิบัติความดีไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรีโดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้น เราจะให้เขามีการดำรงชีวิตอย่างดี และแน่นอนเราจะตอบแทนพวกเขาอันเป็นรางวัลของพวกเขา เนื่องจากความดีงามที่พวกเขาได้กระทำไว้”

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี