เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 12

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)

 

ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 12

 

มนุษย์ค้นพบสัจธรรมอันสูงสุด

 

เมื่อเราพิจารณาถึงโครงสร้างความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า จะเห็นได้ว่า การเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุด แท้จริงแล้ว พระผู้สร้างและกำหนดวางสรรพสิ่งทั้งมวล จะมีมากกว่าหนึ่งไม่ได้ แน่นอนว่า จะต้องมีหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่ชี้นำให้มนุษย์เข้าถึงเป้าหมายได้ ฉะนั้น การวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะสมของมัน จึงมีฮิกมะฮ์” มีเหตุมีผล มีปรัชญาของเป้าหมายของมันและนำไปสู่การทำความเข้าใจในข้อคลางแคลงสงสัยต่างๆ (ชุบฮะห์) ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อถามหาความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า และท้ายที่สุดทำให้มนุษย์เข้าใจในรายละเอียดและได้รับคำตอบที่กระจ่างแจ้ง

 

ดังนั้น เมื่อความทุกข์ยากคืบใกล้เข้ามา เมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และยิ่งมนุษย์ค้นคว้าหาคำตอบในข้อคลางแคลงสงสัยเหล่านั้นมากเท่าใด แน่นอนว่า มนุษย์ก็จะยิ่งรู้รายละเอียดในข้อสงสัยมากขึ้นเท่านั้น

 

จะเห็นได้ว่า หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า จึงนำไปสู่การคลี่คลายข้อคลางแคลงสงสัยว่า อะไรคือต้นเหตุที่แท้จริงของความอยุติธรรม ซึ่งรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

 

    ข้อคลางแคลงสงสัยประการที่ 1

 

ในโลกนี้ประเด็นมนุษย์ มีข้อแตกต่างมากมาย มีทั้งหญิงและชาย มีทั้งผิวขาวและผิวดำ มีทั้งสวยและขี้เหร่ ข้อแตกต่างๆเหล่านี้ พระองค์มีเพื่อให้มนุษย์มีความยำเกรงและมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

 

หากมนุษย์กล่าวว่า ความแตกต่างเป็นการขัดกับความยุติธรรม เท่ากับ ได้เปรียบเทียบว่า ความเหมือนกัน คือ ความยุติธรรม

 

ในที่นี้เราลองจินตนาการว่า ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด กล่าวคือ มนุษย์ ถ้าหน้าตาเหมือนกันหมด จะขาวจะดำก็เหมือนกันหมด แน่นอนว่า โลกนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะดูแปลกๆ อีกทั้งขัดสภาวะธรรมชาติ ผลที่ตามมา คือ มีแต่ปัญหากับปัญหา

 

ดังนั้น เพื่อให้ซุโกรเนียะมัตต่างๆของพระองค์ โลกจำเป็นจะต้องมีความแตกต่าง สังคมจึงจะสามารถดำรงอยู่ได้ หากทุกคนรวยเหมือนกันหมด คงจะไม่มีใครมาทำนาหรือทำงานที่ใช้แรงงาน ไม่มีใครสร้างที่อยู่อาศัยให้เรา ไม่มีชาวสวน ไม่มีชาวประมง ดั่งสำนวน “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ดังกล่าวนี้ สังคมไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะวิถีการดำเนินชีวิตไม่เป็นไปตามวัฐจักรของกฏธรรมชาติ

 

    ข้อคลางแคลงสงสัยประการที่ 2

 

เมื่อพระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมา ทำไมพระองค์ทำให้มนุษย์ต้องตายด้วย สาเหตุที่เกิดคำถามเช่นนี้ เพราะมนุษย์มีทัศนะว่า ความตายนั้นเป็นสิ่งไม่ยุติธรรม เพราะต้องสูญเสียคนที่ตนเองรัก เช่น บางคนอาจสูญเสียพ่อแม่ บางคนสูญเสียภรรยาหรือสามี หรือลูก ฯลฯ

 

ตัวอย่าง

 

สมมุติ สตรีคนหนึ่งสูญเสียสามีไปอย่างกระทันหัน เพราะสามีเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อสามีตายไป จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่มีใครจัดหาปัจจัยยังชีพอีกต่อไปได้ ส่งผลทำให้ภรรยาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก จึงเกิดข้อคลางแคลงสงสัยในพระองค์ ในเมื่อพระองค์ให้ชีวิตมาแล้ว ทำไมไม่ให้อยู่อย่างสุขสบาย เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ มนุษย์จึงมองความตาย คือ สาเหตุที่นำมาซึ่งความโศกเศร้า

 

ดังนั้น เมื่อมนุษย์ถามหาความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าว่าด้วยเรื่องความตาย เราจึงมีรายละเอียดที่จะอธิบายในข้อสงสัย ดังนี้

 

    คำตอบที่ 1 ตามหลักตรรกะในความคิด

 

พระผู้เป็นเจ้า ทรงให้มีความตายเพื่อให้ชีวิตมีความหมาย เพราะถ้าอยู่เป็นอมตะไปจะไม่มีการขวนขวายทำสิ่งใด เพราะทำไม่ทำก็เท่าเดิมอยู่ดีกลับกันถ้าไม่มีมนุษย์คนใดตายเลย ลองจินตนาการดูว่าโลกที่มนุษย์อยู่โดยไม่มีใครตาย เมื่อเข้าสู่วัยชรา มนุษย์จะดำเนินชีวิตอย่างไร หากเนื้อหนังมังสาเริ่มหี่ยวย่น บางคนเดินไม่ไหวต้องคลาน ในขณะเดียวกันมนุษย์มีการเกิดใหม่อยู่ทุกวัน หากเป็นเช่นนี้แล้ว แน่นอนว่า โลกของมนุษย์จะคล้ายกับโลกของหนอนที่ไต่กันยั้วเยี้ยเต็มโลก

 

คำถาม โลกแบบนี้มีมนุษย์คนใดต้องการหรือไม่?

 

คำตอบ แน่นอนว่าไม่มีใครต้องการโลกแบบนี้ เมื่อไม่มีใครต้องการ พระผู้เป็นเจ้าจึงทรงให้ มีการเกิดแก่เจ็บตาย ให้มีการสับเปลี่ยนจำนวนประชากรอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่มีการผลัดใบ

 

สมมุติอีกหนึ่งคำถาม ถ้าต้นไม้ไม่ผลัดใบ ไม่มีสักใบร่วงลงจากต้นเลยและในขณะเดียวกันก็มีใบใหม่งอกเงยมาอย่างสม่ำเสมอ อะไรจะเกิดขึ้นกับต้นไม้ต้นนั้น

 

คำตอบ จะกลายเป็นต้นไม้ที่ไม่มีความสวยงามใดๆและอาจไม่ให้ผล และไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใดๆได้อีกด้วย

 

    คำตอบที่ 2 ตามหลักวิทยาศาสตร์

 

มนุษย์ต้องยอมรับว่า มนุษย์กำลังอาศัยอยู่ในโลกแห่งวัตถุ อยู่ในกฎเกณฑ์ของวัตถุสสาร ซึ่งตัวของมนุษย์เองก็เป็นวัตถุ เพราะร่างกายจำเป็นต้องอาศัยเซลล์ ซึ่งวันหนึ่ง“เซลล์ต่างๆจะเสื่อมเป็นไปสภาพตามอายุ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการทำงานและการซ่อมแซมของมนุษย์ ยิ่งนานวันความสามารถก็ลดน้อยลง สุดท้ายแต่ละเซลล์ก็เริ่มตาย เมื่อตายหลายๆเซลล์ อวัยวะก็เริ่มทำงานผิดปกติ เมื่ออวัยวะทำงานผิดปกติ ร่างกายก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ สุดท้ายทุกระบบก็จะหยุดการทำงาน ดังกล่าวนี้เป็นกฎเกณฑ์หนึ่งของวัตถุ คือ การสูญสลาย

 

ดังนั้น หากมองมุมตรรกะแห่งสติปัญญา ในเมื่อมนุษย์อยู่ในโลกแห่งวัตถุ จำเป็นต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของวัตถุ ซึ่งไม่มีวันหนีพ้นได้

 

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงไม่สามารถอยู่อย่างนิรันดร์ในโลกแห่งวัตถุนี้ได้ เพราะวันหนึ่งมนุษย์ก็ต้องตาย และสูญสลายไปจากโลกนี้ไป

 

    คำตอบที่ 3 ตามหลักปรัชญา

 

เมื่อมนุษย์ทักท้วงเรื่องความตาย แสดงว่า ความปราถนาในด้านลึกนั้น มนุษย์ไม่ต้องการตาย คือ ต้องการอยู่ตลอดไป ไม่อยากตาย ซึ่งความปราถนานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ให้กับมนุษย์มาแต่เดิมแล้ว และสถานที่เพื่อตอบสนองความปรารถนานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้เตรียมการเพื่อรองรับความเป็นนิรันดร์ของมนุษย์ ทว่าไม่ใช่โลกแห่งวัตถุใบนี้

 

ฉะนั้น มนุษย์จำต้องผ่านโลกนี้ไปก่อนเพราะโลกแห่งวัตถุต้องสูญสลาย กล่าวคือ มนุษย์ต้องละทิ้งสิ่งที่เป็นวัตถุ รวมทั้งตัวตนของมนุษย์ และแปรเปลี่ยนไปเป็นอีกสภาวะหนึ่งที่ไม่ใช่วัตถุไปสู่โลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเป็นโลกของชีวิตที่แท้จริง ชีวิตที่ไม่มีความตาย

 

หากพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นได้ว่า คำตอบที่ 3 เป็นคำตอบที่ลึกซึ้งและมีวิทยปัญญาที่สูงส่ง เพราะการตายในที่นี้ ไม่ใช่เป็นการสูญสิ้น ไม่ได้เป็นการสิ้นสุดของชีวิต ทว่าเป็นความตายในทัศนะของอิสลาม

 

ความตายในทัศนะของอิสลาม

 

อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โฮงการที่ 185 ความว่า

 

 

 

كُلُّ نَفْسٍ ذَائِقَةُ الْمَوْتِ ۗ وَإِنَّمَا تُوَفَّوْنَ أُجُورَكُمْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ۖ فَمَن زُحْزِحَ عَنِ النَّارِ وَأُدْخِلَ الْجَنَّةَ فَقَدْ فَازَ ۗ وَمَا الْحَيَاةُ الدُّنْيَا إِلَّا مَتَاعُ الْغُرُورِ

 

“แต่ละชีวิตนั้น จะได้ลิ้มรสแห่งความตาย และแท้จริงที่พวกเจ้าจะได้รับรางวัลของพวกเจ้าโดยครบถ้วนนั้น คือวันปรโลก แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากไฟนรก และถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอน เขาก็ชนะแล้ว และชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้นั้น มิใช่อะไรอื่นนอกจากสิ่งอำนวยประโยชน์แห่งการหลอกลวง เท่านั้น”

 

คำอธิบาย : คำว่า “โลกนี้” ในทัศนะอิสลาม คือ ที่อยู่ ที่ต่ำสุดของมนุษย์ เป็นสถานที่พำนักชั่วคราว เป็นสิ่งไม่นิรันดร์ เป็นสถานที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด

 

หากเราศึกษาโลกหลังความตายในทัศนะอิสลาม ชี้ว่า เป็นช่วงของการรอคอยชั่วคราว เพื่อให้มนุษย์เปลี่ยนที่อยู่ จากโลกนี้ไปยังอีกสถานที่หนึ่งซึ่งดีกว่าโลกนี้ ที่เรียกว่า “โลกนิรันดร์”

 

ดังนั้น คนที่เข้าใจ คนที่พัฒนาตัวตน คนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะมองโลกนี้เหมือนกรงขัง ซึ่งความจริงเขาสามารถโบยบินได้แต่เขายังไปไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลา เขาจะต้องอยู่ในโลกนี้ก่อน เพื่อให้มนุษย์ใช้สติปัญญาครุ่นคิดอย่างมีปรัชญาของเป้าหมาย(ในมุมมองของศาสนา) เฉพาะคนที่โง่เขล่าเบาปัญญาเท่านั้นที่กลัวความตาย ส่วนคนที่ประสพความสำเร็จแล้วนั้น เขาถวิลความตาย เขาอยากตาย หมายถึง เขาถวิลการเดินทางออกจากโลกนี้ไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งดีกว่า และเป็นโลกที่เป็นที่นิรันดร์

 

ดังนั้น ประเด็นที่เป็นสาเหตุ ที่เรียก “ข้อสงสัย” ลักษณะนี้ว่า “ชุบฮะห์” เพราะนักปราชญ์อิสลาม เรียก “ข้อสงสัยที่ไม่มีเหตุผลที่ถูกต้องว่า “ชุบฮะห์” ซึ่งหากตั้งข้อสังเกต จะเห็นได้ว่า แม้มนุษย์จะเกลียดกลัวความตาย แต่มนุษย์จะนำความตายมาคัดค้านความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้ เพราะมีผู้ที่เคร่งครัดและเข้าใจในปรัชญาเป็นจำนวนมากที่ถวิลความตาย

 

ประโยค “ถวิลในความตาย” ในที่นี้ หมายความว่า ที่เขาอยากตาย ที่เขาต้องการหลุดพ้นจากปัญหา เป็นเพราะเขารู้ว่าความตายนั้นเป็นการการเริ่มต้นของชีวิตในโลกหน้า หรือเป็นสะพานไปสู่ชีวิตหลังความตายที่เป็นโลกอันนิรันดร์ แต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา เพราะพระผู้เป็นเจ้ายังไม่อนุญาต เขาก็จำเป็นต้องอยู่บนโลกนี้ชั่วคราวก่อน เพื่อรอเวลาพระองค์อนุญาตนั่นเอง

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม