ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 13

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)


ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ตอนที่ 13

 

 

ข้อคลางแคลงสงสัย ประการที่ 3

ข้อคลางแคลงสงสัยเกี่ยวกับความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ประเด็นเมื่อพระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาแล้ว ทำไมต้องมีสิ่งที่เป็นปัญหากับมนุษย์ตามมาด้วย ทั้งที่สิ่งดีงามมีอย่างมากมาย ทว่าทำไมต้องให้มีสิ่งเลวร้ายควบคู่มาด้วย แทนที่จะให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย กลับกันบางคนต้องประสบความเดือดร้อน ความทุกข์ระทม บ้างประสบโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ บ้างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว และอื่นๆ หรือในเรื่องของอาหาร ก็ยังมีเงื่อนไข เช่น ถ้ากินสิ่งนี้มาก อาจทำให้เป็นโรคมะเร็ง หรือการกินอะไรบางอย่างที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อาจทำให้โรคร้ายต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างมากมาย ส่งผลทำให้สภาพร่างกายผิดปกติมีความเจ็บปวด มีความทุกข์ทรมาน ฯลฯ

 

ตัวอย่างที่ 1

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกว่า “มนุษย์ยุคหิน” มนุษย์ยุคนี้อาศัยอยู่ในถ้ำ การดำรงชีวิตต้องพึ่งพาธรรมชาติ ด้วยการเก็บหาผลไม้และล่าสัตว์นำมาเป็นอาหาร ซึ่งยากลำบากเป็นอย่างมาก เพราะทุกครั้งเมื่อออกล่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ทว่าโอกาสที่เขาอาจถูกเสือล่ากินเป็นอาหารด้วยเช่นกัน

คำถาม ทำไมไม่ให้มนุษย์ออกไปหากินอย่างสบายๆ นำไปสู่ข้อสงสัยในการงานของพระองค์ว่า พระองค์สร้างงู หรือสัตว์อันตรายอื่นๆ ด้วยเหตุผลใด?

จะเห็นได้ว่า ประเด็นหลักของข้อสงสัยนี้ คือ พระผู้เป็นเจ้าสร้างสิ่งที่ดีมาแล้ว ทำไมต้องสร้างสิ่งที่ไม่ดีควบคู่มาด้วย

 

ตัวอย่างที่ 2

ปอมเปอี เมืองมรณะ ดินแดนที่สาบสูญ

 

เราขอยกกรณี “ธรณีพิบัติภัย” (ธรณีพิบัติภัย หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยา เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ หลุมยุบ ดินถล่ม หิมะถล่ม ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น)

 

ในที่นี้ หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เกิดที่ “ปอมเปอี” อดีตเมืองอาณาจักรโรมัน แคว้นกัมปาเนีย ประเทศอิตาลี ในอดีตปอมเปอีแห่งนี้ เป็นเมืองๆหนึ่งที่ถูกภูเขาไฟมรณะ (ภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 79) ประชากรเป็นจำนวนมากเป็นผู้ที่ต้องรับชะตากรรมจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในครั้งนี้ ทำให้เมืองปอมเปอี ถูกทำลายออกไปจากพื้นดินในเวลาเพียงแค่ 2 วัน หลังจากภูเขาไฟวิสุเวียสปะทุลาวาออกมา ส่งผลทำให้ประชากรจมอยู่ใต้ลาวาทั้งเมือง หรืออีกเมืองหนึ่งที่น้ำทะเลถล่มท่วม หายนะที่เกิดทำให้เมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้มหาสมุทร

 

คำถาม พระองค์สร้าง”ธรณีพิบัติภัย”เหล่านี้ขึ้นมาทำไม?

 

ประเด็นนี้ ท่านอัลลามะฮ์ ชะฮีด มุเฏาะฮารี ได้อรรถธิบายเพื่อทำความเข้าใจและนำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบของข้อสงสัย ดังนี้


 ความชั่วและสิ่งที่ไม่ดีในโลกนี้มีอยู่หรือไม่?


 พระองค์สร้างสิ่งที่ไม่ดีในโลกนี้หรือไม่?

 

สาระศึกษา

ท่านอัลลามะฮ์ ชะฮีด มุเฏาะฮารี ได้แบ่งหมวดหมู่ ว่า “แท้จริงโลกนี้ไม่มีสิ่งที่เป็นความชั่วด้วยตัวของมันเองโดยไม่มีความดีใดๆแฝงอยู่เลย” (ชัรรุลมุฏลัก) คือ สิ่งที่เป็นความเลวร้ายอย่างสมบูรณ์โดยตัวของมันเองไม่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีในการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เพราะความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นไปด้วยเหตุผลอื่นๆ หรือด้วยปัจจัยที่สาม เมื่อมันสัมพันธ์ไปยังบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ตัวของมัน จึงกลายเป็นความเลวร้าย ซึ่งเรียกว่า “ชัรรุนนิสบี” มันไม่ดีเพราะผลจากการไปปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น

 

ตัวอย่าง

มนุษย์ส่วนใหญ่เกลียดงู เพราะงูมีพิษและเป็นอันตรายต่อชีวิตของมนุษย์ นั้น หมายความว่า ผลจากปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับงู แต่ข้อเท็จจริงถ้าหากพิษงูเป็นสิ่งที่เลวร้ายโดยตัวของมันเอง สิ่งที่จะได้รับอันตรายอันดับแรก แน่นอนว่า ต้องเป็นตัวตนของงู มันคงต้องตายก่อน เพราะพิษอยู่ในปากของมัน แต่ในความเป็นจริงพิษกลับไม่เป็นอันตรายต่องู ไม่ได้ทำปฏิกิริยาต่อมัน ฉะนั้นพิษโดยตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งเลวร้าย

 

ทีนี้คำถามต่อมา พระองค์สร้างงูขึ้นมาทำไม ?

คำตอบ มีเหตุผลมากมายที่จะสนับสนุนให้เห็นถึงประโยชน์ของงู หากโลกนี้ไม่มีงู จะส่งผลให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ เพราะสารพิษต่างๆจะดาษดื่น การมีอยู่ของงูจะช่วยดูดเก็บสารพิษต่างๆที่ตกค้าง ทั้งในชั้นบรรยากาศ ตามต้นไม้ และหย่อมหญ้า ทว่าคนที่เจอส่วนใหญ่มักจะตีไว้ก่อน ทั้งที่จริงๆ แล้วงูหลายชนิดในระบบนิเวศจะกินหนูซึ่งมีแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก และจะกลายเป็นปัญหา หากงูหายไปจากทุ่งนา หนูก็จะเต็มนา และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดมาก เราขอยกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยเหตุที่ชาวนาถูกงูกัด ผู้ว่าราชการจังหวัดอยุธยา จึงมีคำสั่งรณรงค์ให้กำจัดงูทั้งจังหวัด ภายหลังจากนั้นประมาณ 5-6 เดือน กลับกลายเป็นปัญหา ปรากฏว่า หนูเต็มท้องทุ่งนา กัดกินข้าวชาวนาเสียหายหนักกว่าเดิม นาล่มเกิดความเสียหายนับแสนๆไร่ จนในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัด จึงมีคำสั่งให้ไปซื้องูจากจังหวัดปทุมธานี ปล่อยลงในนาเพื่อความสมดุลทางนิเวศเช่นเดิม

 

ข้อสังเกต ชี้ให้เห็นประโยชน์ของงู และสิ่งอื่นๆก็เช่นเดียวกันมันมีส่วนดีในตัวของมันอยู่ด้วย ขึ้นอยู่กับข้อมูลและรายละเอียดที่มนุษย์รับรู้

 

จะเห็นได้ว่า การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตจะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจเป็นความสัมพันธ์ทางบวกหรือทางลบ จะเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพังโดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม

 

ดังนั้น ถ้าสิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย เช่น การดำรงชีวิตของพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอื่นๆ จะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต เช่น แร่ธาตุ แสงแดด มีการใช้พลังงานและแลกเปลี่ยนสารอาหารซึ่งกันและกันเป็นวัฏจักรที่ดำเนินไปเป็นระบบภายใต้ความสมดุลของธรรมชาติ

 

ฉะนั้น หากระบบมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องไปทั้งระบบ และทำให้เกิดปัญหากับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ระบบดังกล่าวเรียกว่า “ระบบนิเวศ” ซึ่งหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตทั้งหมดกับสิ่งแวดล้อมที่ดำรงอยู่ ดั่งโองการในซูเราะฮ์ อัลฟะลัก โองการที่ 2 ความว่า

 

“مِن شَرِّ مَا خَلَقَ”

“ให้พ้นจากความชั่วร้ายที่พระองค์ได้ทรงบันดาลขึ้น”

 

คำอธิบาย : เราจะอธิบายโองการนี้อย่างไร?


“จากความชั่วที่พระองค์ทรงบันดาลขึ้นมา” เมื่อเราจะตอบโองการใดโองการหนึ่งที่อธิบายได้ยาก เราต้องกลับไปยังรากฐาน ต้องเข้าใจก่อนว่าการใช้ภาษาของอัลกุรอาน สามารถใช้ได้อย่างมากมาย และมีประโยชน์หลายแง่มุม ดังนี้

 

บางโองการให้ความหมายเฉพาะ “คอส”


บางโองการ สำหรับคนทั่วไปโดยภาคร่วม “อาม”


บางโองการ ไม่มีเงื่อนไข”มุฏลัก”


บางโองการ มีเงื่อนไข”มุกอยยัต”

 

ดังนั้น จะเข้าใจความหมายที่ถูกต้องได้ ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจในเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น

 

ตัวอย่าง

ตัวอย่าง โองการในซูเราะฮ์ อัลฟะลัก เป็นโองการหนึ่งที่เริ่มต้นด้วย “ขอความคุ้มครองจากพระเจ้าแห่งรุ่งอรุณให้พ้นจากความชั่วที่ถูกสร้างขึ้นมา”

บ่งชี้ ว่า ความชั่วในโองการนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นความชั่วอย่างสมบูรณ์โดยตัวของมันเองโดยกำเนิด (มุฏลัก) เพราะมีอีกหลายโองการกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่สร้างสิ่งที่ไร้สาระ หรือไม่ทรงสร้างความชั่ว

 

ดังนั้น บางโองการ อาจจะทำให้เราเข้าใจผิด คิดว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างความชั่ว สร้างสิ่งไม่ดี ซึ่งความจริงแล้ว มันไม่ดี มันชั่วด้วยกับเหตุผลอื่นๆมาประกอบ ไม่ใช่มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาแต่เดิม เป็น “ชัรรุนนิสบี” หมายความว่า ที่มันไม่ดี เป็นเพราะมันมีสัมพันธ์กับสิ่งอื่นนั่นเอง


ดังนั้นแล้ว เพื่อพิสูจน์ให้เข้าใจอย่างสมบูรณ์ จะขอยกตัวอย่างที่เกี่ยวกับไชฏอน

 

ไชฏอนศึกษา

 

คำถาม พระผู้เป็นเจ้าสร้างชัยฏอนขึ้นมาทำไม?
แน่นอนว่า “ ไชฏอน” คือ สัญลักษณ์ของความชั่วร้าย และมันทำให้มนุษย์ชั่วด้วย มันเกิดมาเพื่อลงนรก มนุษย์ยอมรับว่าไชฏอนเป็นความชั่วอย่างสมบูรณ์โดยกำเนิด ก็เท่ากับยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่ยุติธรรม แต่ในความเป็นจริง ก่อนที่จะวิพากษ์ความยุติธรรมของพระผู้เป้นเจ้า อันดับแรกเราต้องทำความเข้าที่มาของไชฏอน คือใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหนและอย่างไร?

 

คำตอบ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามจะเรียกว่าเป็นความชั่วโดยสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง (ชัรรุลมุฏลัก) ได้ก็ต่อเมื่อมันไม่มีความดีใดๆอยู่ในตัวของมันเลย ซึ่งจะนำไปสู่คำถามที่แตกประเด็นขึ้นมาว่า สิ่งถูกสร้างในโลกนี้ที่ไม่มีความดีใดๆเลยในตัวของมันมีหรือไม่?

 

แน่นอนว่าไม่มี แม้แต้ไชฏอนที่ถูกถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย ก็ไม่ถือว่าโดยตัวของมันเองเป็นความชั่วอย่างสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่า ความชั่วของไชฏอน เริ่มต้นในช่วงที่มันปฏิเสธคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า เนื่องด้วยพระองค์ทรงบัญชาให้สูญูดต่อท่านศาสดาอาดัม (อ) แต่ความผิด มันไม่หยุดเพียงเท่านั้น เพราะมันสาบานว่าจะหลอกลวงลูกหลานของอาดัม(อ)ทั้งหมดให้หลงทาง เมื่อมันหลอกลวงมนุษย์ มันจึงกลายเป็นไชฏอน หรือชื่อเดิมของมัน คือ “อาซาซีล”

 

อะไรที่ทำให้ผู้ที่เป็นชาวฟ้ากลายมาเป็น “อิบลีส”

ความจริงแล้ว “ไชฏอน” โดยตัวของมันเองแต่เดิมนั้น ไม่ได้เป็นความชั่วอย่างสมบูรณ์ (ชัรรุลมุฏลัก) เพราะตลอดระยะเวลา 6 พันปี ก่อนที่มันจะเป็น “อิบลีส” ไชฏอน ปฏิบัตินมาซอย่างเคร่งครัด

 

จากการทำความดี อิบาดัตของมันได้มรรคผลถึงขั้นถูกเทิดไปอยู่ในชั้นฟ้าอันสูงส่งอยู่ในระดับเดียวกับบรรดามาลาอิกะฮ์ ขนาดว่าบนแผ่นดินนี้ไม่ว่าเราจะตั้งมือของเราไปส่วนไหนก็ตาม ตรงนั้นเป็นต้องมีร่องรอยการสูญูดของอิบลีสอยู่ มันมีความดีเพียงพอถึงขั้นได้อยู่รวมกับบรรดามาลาอิกะฮ์ มันนมาซทุกวัน ปัจจุบันมันก็ยังนมาซอยู่ แต่มันเริ่มชั่วในช่วงที่มันตะกับโบร ด้วยการปฏิเสธคำสั่งของอัลลอฮ์ (ซ.บ)

 

ดังนั้น เรื่องของไชฏอนนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จงทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากที่สุด ซึ่งบางครั้งอาจมีคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วพระองค์สร้างไชฎอนขึ้นมาทำไม ในเมื่อสุดท้ายมันก็ปฏิเสธคำสั่งของพระองค์ อีกทั้งยังทำให้มนุษย์หลงทางด้วย

 

ประเด็นคำถามนี้ เราจะชี้ให้เห็นเพื่อให้เข้าใจง่ายโดยใช้ตรรกะ มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรสร้างขึ้นมา เพราะมนุษย์มีทั้งดีทั้งชั่ว ดังนั้น เมื่อไชฏอนทำให้มนุษย์หลงทางได้ มนุษย์ก็สามารถทำให้มนุษย์ด้วยกัน หลงทางได้เช่นกัน

 

ฉะนั้น ในเมื่อมีทั้งความดีและความชั่วคละเคล้ากันดังกล่าวนั้น จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “ชัรรุลมุฏลัก”หรือ ชั่วอย่างสมบูรณ์ได้ เพราะทุกสรรพสิ่ง ถูกสร้างขึ้นมา ด้วยพื้นฐานของความดีทั้งสิ้น ทว่าที่มนุษย์มองว่าไม่ดี ไม่ใช่เป็นเพราะการกำเนิดที่ไม่ดี ทว่าที่ไม่ดีนั้นด้วยกับเหตุผลอื่นๆและปัจจัยอื่นๆที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั่นเอง

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี